30 ต.ค. 2021 เวลา 19:41 • ความคิดเห็น
หนังสือหลายเล่มที่อธิบายถึงการทำงานของสมองและความคิด ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดเรื่องกฎแห่งแรงดึงดูด ทฤษฎีการทำนายผลด้วยตนเอง หรือกฎแห่งการชี้นำ
สะท้อนให้เราเห็นตรงกันอย่างหนึ่งว่า สมองของคนเรา ไม่สามารถคิดอย่าง นิเสธ/ปฏิเสธได้
เช่น เมื่อถูกสั่งให้ห้ามคิดถึงช้าง สมองจะรับรู้ถึงคำว่าช้างขึ้นมาก่อนในหัว ทำให้ภาพของช้างปรากฎขึ้นแทนจะที่จะไม่คิดถึงช้าง
ดังนั้นถ้าเราพยายามไม่คิดถึง โดยบอกตัวเองว่าจะไม่คิดถึงเรื่องนี้ สุดท้ายภาพที่ปรากฏขึ้นในสมองก็เป็นเรื่องนี้อยู่ดี เพราะกระบวนการของสมองที่คิดแบบนิเสธหรือปฏิเสธไม่ได้
เมื่อเราต้องการที่จะไม่คิดถึงเรื่องใด เราจึงไม่ควรบอกตัวเองด้วยประโยคที่ขึ้นต้นว่า “ไม่”
เช่น ฉันต้องไม่ขี้เกียจ ฉันต้องไม่ตื่นสาย ฉันต้องไม่ดื่มเหล้า ฉันต้องไม่ขี้หงุดหงิด
ให้เปลี่ยนเป็นประโยคตรงข้ามที่ปราศจากคำว่า “ไม่”
เช่น ฉันเป็นคนขยัน ฉันเป็นคนตื่นเช้า ฉันเป็นคนรักสุขภาพ ฉันเป็นคนอารมณ์ดี
หรือถ้าเป็นเรื่องบางเรื่องที่คิดวกวนอยู่ในหัว แล้วพยายามที่จะไม่คิดถึง ก็พยายามเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้คิด เช่น ถ้าอยากเลิกคิดถึงแฟนเก่า อย่างแรกก็ให้เอาของที่กระตุ้นทำให้คิดถึงไปไว้ให้ไกล เลี่ยงฟังเพลงที่ชวนให้คิดถึง ฯลฯ
และพยายามหาอย่างอื่นทำให้สมองหมกมุ่นแทนการคิดถึง เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรี่ย์ ออกกำลังกาย ออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือทำกิจกรรมใหม่ที่อยากทำแต่ไม่เคยทำมาก่อน
และถ้าเผลอคิดถึงแฟนเก่าก็อย่าโทษตัวเอง ให้รู้ว่ากำลังคิดถึงอยู่และให้หาอย่างอื่นทำเพื่อดึงความคิดออกจากที่เป็นอยู่โดยเร็ว
เพราะทางออกที่ดีที่สุดเมื่อบอกไม่ให้คิดถึงช้าง คือ การนึกภาพอื่นให้ชัดที่สุด
เช่น นึกถึงปลาที่มีครีบสวยงาม แหวกว่ายในอ่างน้ำใสราวกระจก หางของปลายาวสลวยสะบัดไปมาคล้ายธงที่ปลิวยามต้องลม แถมยังมีสีสันหลากหลายดั่งสีรุ้ง และดวงตาของมันกลมโต ดำขลับ และแวววาวราวไข่มุก
จะเห็นได้ว่าตอนที่เรานึกถึงภาพปลาอยู่นี้ เรา “ไม่ได้คิดถึงช้าง”
เรื่องอื่นก็เช่นกัน
และแน่นอนว่าวิธีการนี้เป็นเพียงการเลี่ยงไม่ให้คิดถึงซึ่งอาจให้ผลแค่ระยะสั้น แต่ก็ยังมีวิธีอื่นเช่นการปรับวิธีคิดให้กับเรื่องที่เผชิญอยู่ หรือแก้ไขปมในจิตใจ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในระยะยาว
หวังว่าคำตอบนี้จะเป็นประโยชน์ ขอให้โชคดีกับการพยายามไม่คิดถึง
โฆษณา