31 ต.ค. 2021 เวลา 12:07 • สุขภาพ
🐟โรคเท้าแบน (FLAT FEET)
โรคเท้าแบน (FLAT FEET) คือภาวะที่มีอุ้งเท้าด้านในเตี้ยลงร่วมกับมีปลายเท้าเอียงออกไปทางด้านข้าง โรคนี้สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก​ โดยจะสังเกตเห็นว่า “รูปเท้า” ผิดปกติได้ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 6-8 ขวบ แต่ส่วนใหญ่จะยังไม่มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากในวัยเด็กยังน้ำหนักตัวน้อย จึงทำให้ยังสามารถใช้งานเท้า เดิน วิ่ง เล่นได้เหมือนปกติ แต่เมื่อโตขึ้น หรือมีการใช้งานเท้ามากขึ้น น้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น เอ็นบริเวณอุ้งเท้าจะเริ่มเสื่อม เกิดมีการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น ซึ่งอาการเจ็บปวดนี้จะเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยระดับความรุนแรงของการเจ็บปวดจะสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่นถ้าใช้เท้ามาก อาทิ ออกกำลังกายมาก ซ้อมกีฬามาก วิ่งมาก เดิน กระโดดมากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ใช้เท้าได้อย่างปกติ
.
🐠อาการ
รู้สึกเจ็บฝ่าเท้า แม้จะสวมรองเท้าที่ใส่สบาย และรองรับเท้าแล้ว
รู้สึกเจ็บที่อุ้งเท้า และส้นเท้า
ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น
ยืนไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก
เจ็บหลัง และขา
รองเท้าที่เคยสวมได้ ไม่สามารถสวมได้ และชำรุดเร็วเกินไป
ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็ง​
.​
🐙โรคเท้าแบน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคเท้าแบนแบบยืดหยุ่น หรือ “Flexible Flatfoot” และ โรคเท้าแบนแบบติดแข็ง หรือ “Rigid Flatfoot”
.
โรคเท้าแบนแบบติดแข็ง พบได้น้อยกว่า สาเหตุของปัญหาอยู่ที่กระดูกผิดปกติ เช่น มีกระดูกบางตำแหน่งเชื่อมกันอยู่อย่างผิดปกติทำให้ทรงเท้าแบนและผิดรูปไป ทำให้เวลาเดินแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้น​ รักษาได้โดยการผ่าตัดแก้ไขจัดรูปกระดูกใหม่
.
โรคเท้าแบนแบบยืดหยุ่น พบได้บ่อยที่สุด​ เกิดจากเอ็นอุ้งเท้าเสื่อมสภาพ ทำงานไม่เป็นปกติ อุ้งเท้าต่ำลงทำให้เท้าแบน เส้นเอ็นแบกรับน้ำหนักในการลงเท้ามาก จึงเกิดอักเสบและทำให้รู้สึกเจ็บปวด​ แพทย์จะแนะนำให้ใช้แผ่นรองรองเท้าเพื่อหนุนอุ้งเท้าที่แบนให้กลับมาอยู่ในทรงที่ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการหมั่นบริหารเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเท้าให้แข็งแรง และกินยาลดอักเสบ แต่หากรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น​ อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป​
.
.
POSTED 2021.10. 31
โฆษณา