1 พ.ย. 2021 เวลา 09:38 • สุขภาพ
1 พ.ย. 2564 เปิดประเทศวันแรก อะไรที่น่ากังวลมากที่สุด
วันนี้ 1 พ.ย. 2564 เป็นวันแรก ที่รัฐบาลไทยเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องกักตัว
หลายคนคงมีความรู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อย
ว่าการเปิดรับผู้คนเข้ามามากมายเช่นนี้
จะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลับมารุนแรงมากขึ้นอีกหรือไม่
ในเมื่อวัคซีน ซึ่งเป็นอาวุธเดียวที่มีอยู่ในตอนนี้ ก็ยังไม่ใช่เกราะวิเศษ ที่สามารถปกป้องมนุษย์จากเชื้อไวรัสนี้ได้ 100%
จะดีกว่าหรือไม่ หากเรารอให้เชื้อไวรัสนี้ ถูกทำลายให้หมดจากโลกใบนี้ไปก่อน แล้วค่อยเปิดประเทศ
การจะตอบคำถามในเรื่องนี้ได้ คงต้องย้อนกลับไปถามตัวเราเองว่า
ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นบ้าง
ที่ผ่านมา แม้เราจะล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง กักตัว และฉีดวัคซีน แต่จนขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถเอาชนะเชื้อโรคนี้แบบเด็ดขาดได้
ความพยายามตั้ง 2 ปีแล้ว ทำไมถึงยังทำไม่สำเร็จ
หากเราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อจุลินทรีย์และมนุษย์ เราจะเข้าใจโควิด-19 มากขึ้น
เชื้อจุลินทรีย์ อย่างเชื้อไวรัส รวมถึงแบคทีเรียต่างๆนั้น อาศัยอยู่ในโลกนี้ หลายพันล้านปีก่อนที่มนุษย์จะเกิดมา
มนุษย์พึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในโลกเมื่อ 200,000 ปีที่เเล้วเท่านั้น และเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ก็แอบจู่โจมมนุษย์เงียบๆเรื่อยมา มนุษย์ต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก แต่ในอดีต ไม่สามารถรู้ได้ว่า ศัตรูนั้นคือใคร เพราะเชื้อจุลินทรีย์เล็กๆเหล่านี้ ไม่ส่งเสียง ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
จนกระทั่งเมื่อ 100 ปีที่ผ่าน ที่เราค้นพบว่า เชื้อไวรัสและแบคทีเรียนั้น คือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในร่างกาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
มนุษย์รู้ว่ามี “ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย” ที่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ และสามารถคิดค้น“วัคซีน” ที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ เมื่อประมาณ 136 ปีที่เเล้ว (แม้ตอนนั้นจะไม่รู้แน่ชัดว่า เชื้อจุลินทรีย์คือสาเหตุของโรค)
และสามารถคิดค้นพบ “ยาปฏิชีวนะ” ที่สามารถทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้เมื่อ 70 ปีที่เแล้ว
แม้ระยะเวลา 100 ปี จะดูเหมือนยาวนานมากสำหรับมนุษย์ แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลา 3,800 ล้านปี ที่เชื้อจุลินทรีย์ได้เรียนรู้และอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ถือว่าระยะเวลาในการเรียนรู้เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ของเรานั้นสั้นมาก และเราไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งผู้พิชิตตลอดเวลาได้
แม้เราจะสามารถคิดค้นวัคซีนมาต่อสู้กับเชื้อก่อโรคได้หลายชนิด ต่อมามนุษย์ก็พบว่า เชื้อไวรัส สามารถกลายพันธุ์ได้
ทำให้วัคซีนที่เคยใช้ได้ผลดี ไม่สามารถช่วยให้ร่างกายทำลายเชื้อโรคนั้นได้อีก
ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็จะจดจำได้เฉพาะเชื้อก่อโรคที่อยู่ในรูปแบบเดิม หากเป็นเชื้อโรคใหม่ หรือเชื้อกลายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง
ส่วนยาปฏิชีวนะนั้น ก็ทำลายได้เฉพาะโรคที่เกิดจากแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้
และเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเอง ก็สามารถดื้อยาปฏิชีวนะ และสามารถกลับมาจู่โจมมนุษย์ได้อีกเช่นกัน
จะเห็นว่า ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคเรีย ต่างก็มีความสามารถในการต่อสู้และอยู่รอดได้จนถึงบัดนี้ แม้มนุษย์จะพยายามกำจัดมากว่า 100 ปีแล้วก็ตาม
พูดอีกนัยหนึ่งคือ แม้จะมีความพยายามในการกำจัดมากเท่าไหร่ เชื้อเหล่านี้ก็ยังสามารถพัฒนาตัวเอง และกลับมาจู่โจมมนุษย์ได้อีก
แพทย์และนักวิทยาศาสตร์รู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งเเล้ว ทัศนคติต่อการกำจัดเชื้อโรคได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยมีความพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับเชื้อจุลินทรีย์ให้ได้มากขึ้น
แต่คำถามคือ เราจะสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่อันตรายถึงชีวิตได้หรือ?
คำตอบคือ ไม่ได้
หากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคเหล่านี้ มีจำนวนมากเกินไป
เชื้อจุลินทรีย์ขยายพันธุ์โดยการแบ่งตัว ขยายพื้นที่อยู่อาศัยให้กว้างขึ้น เพื่อหาอาหาร และขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ
สิ่งที่เราต้องแยกแยะคือ เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ ไม่ได้มีเฉพาะจำพวกที่ก่อโรค
ยังมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นอีกที่ดีกับมนุษย์ จุลินทรีย์ที่ทำลายจุลินทรีย์ด้วยกันเอง
จุลินทรีย์ที่ช่วยมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ให้สามารถต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่เป็นผู้รุกรานได้
พูดให้ลึกลงไปอีกคือ หากในลำไส้เรานั้น มีจุลินทรีย์ที่เป็นพันธมิตร มันก็จะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เข้ามาในร่างกายได้
ปัญหาคือ มนุษย์ในตอนนี้นั้น ได้ทำลาย“เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย” เป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนการทำลายพันธมิตรของตัวเองไป
ผ่านทางการใช้สารเคมี เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์แบบเหมารวม เช่น การใช้ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงงาน การใช้ยาฆ่าแมลง สารกำจัดเชื้อโรคทางการเกษตร เป็นต้น
ทำให้จุลินทรีย์ที่ดีถูกทำลายไปด้วย ไม่สามารถกลับมาเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว
แต่ในทางกลับกันเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งในพืช สัตว์และในมนุษย์ กลับไม่เคยหมดไปเลย แต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และดื้อยามากขึ้น ในทุกๆปี
การใช้ยาปฏิชีวนะครอบคลุมแบบกว้าง ก็ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในร่างกายแบบเหมารวม รวมทั้งจุลินทรีย์ดีในลำไส้ด้วย
นอกจากนี้ เรายังรับประทานสารเคมีเพื่อยับยั้งหรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ผสมอยู่ในอาหารแปรรูปอยู่บ่อยๆ สารเคมีเหล่านี้ ไม่มีพิษต่อร่างกายโดยตรง
แต่จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีที่มีอยู่ตามธรรมชาติในอาหาร เช่น จุลินทรีย์กลุ่มโปรไบโอติก ถูกทำลายไปด้วย แล้วยังส่งผลต่อชนิดและประชากรจุลินทรีย์ดีในลำไส้อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพแล้วใช่มั้ยคะ ยิ่งเราพยายามทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคมากเท่าไหร่ เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกายก็จะยิ่งถูกทำลายมากขึ้นไปด้วยเท่านั้น เปรียบเสมือนว่า เราได้ทำลายพันธมิตรของเรา ด้วยนำ้มือของเราเอง
และลักษณะอาหาร ที่ทำให้เราสะดวกสบายในการกิน ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคของเรา อ่อนแอลง
ฟังดูขัดแย้งกันใช่มั้ยคะ ยิ่งทำลาย เหมือนยิ่งช่วยให้เชื้อโรคพวกนี้เก่งมากขึ้น
ยิ่งใช้ชีวิตสุขสบาย ยิ่งอ่อนแอลง แบบนี้ มนุษย์จะทำอย่างไร ถึงจะไม่ตกเป็นเป้า รอวันถูกกำจัด
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากธรรมชาติของจุลินทรีย์คือ เชื้อตัวจิ๋วเหล่านี้ ห้ำหั่นกันเองมาเป็นเวลานานก่อนที่มนุษย์จะเกิดมา เพื่อแย่งชิงทรัพยากร อาหาร และขยายพื้นที่หากินให้กว้างขึ้น
หากเราสามารถเพิ่มจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในสภาพแวดล้อมและในร่างกายให้มากขึ้นได้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะดีมากขึ้น ทำให้เรารอดจากการจู่โจมของเชื้อไวรัสได้ แม้จะได้รับเชื้อเข้าไปก็ตาม
ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำ จึงไม่ใช่ การตั้งคำถามเรื่องการกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงของเชื้อโควิด-19
แต่เป็น การตั้งคำถามกับตัวเราเองว่า เมื่อเชื้อโรคสามารถเรียนรู้ อัพเกรดตัวเองได้รวดเร็วขนาดนี้
แล้วเราล่ะ
ได้พยายามพัฒนาตัวเอง ที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแกร่งได้รวดเร็วขนาดไหน
เพราะ ในวันที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ยังไม่รู้จักเชื้อโควิด-19 ก็เป็นภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายนี่เอง ที่ช่วยให้ผู้คนมากมายรอดชีวิต
ตอนนี้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
และอันที่จริงแล้ว การกินหรือฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ก็เปรียบเสมือนการ ส่งตัวอย่างไวรัสไปให้ระบบภูมิคุ้มกันดู เพื่อที่จะได้ศึกษาล่วงหน้า โดยคาดหวังว่า ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราจะสามารถเรียนรู้ และทำลายเชื้อไวรัสโควิด19ได้โดยง่ายในเวลาต่อมา
จะเห็นว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้เรารอดชีวิต คือ ระบบภูมิกันโรคของเรานั่นเอง
ขอปิดท้ายด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรคย้อนหลัง 2000 ปี
มองภาพกว้างให้ออก แล้วคุณจะเห็นว่า คู่ต่อสู้หลักของเรา คือเชื้อจุลินทรีย์ตัวจิ๋วเหล่านี้ มาโดยตลอด
บทความเขียนและโพสครั้งแรกที่ Blockdit
โดย WM Thailand
โฆษณา