1 พ.ย. 2021 เวลา 17:02 • สิ่งแวดล้อม
เรื่องขยะ เรื่องง่ายๆ !
การจัดการขยะ ทำได้ง่าย ถ้าใส่ความคิดสร้างสรรค์และทำให้มันสนุก
ถ้ามีใครสักคนมาบอกคุณว่า การจัดการขยะเป็นเรื่องง่าย คุณจะเชื่อรึเปล่า ?
ถ้าเราลองถึงประสบการณ์ที่เคยทำเรื่องของการจัดการขยะ หลายคนคงบอกว่า ทำยาก ทั้งนี้เพราะขยะนั้นมีหลายประเภท ทั้งขยะเปียก หรือที่บางคนเรียกขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่สามารถย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ ซึ่งเป็นสิ่งเหลือใช้ทั้งสิ้น และการจัดการก็แตกต่างไปตามแต่ละประเภทของขยะ
อย่างไรก็ตาม เรามักพบเห็นขยะถูกกองทิ้งไว้ และปะปนกัน ทั้งเศษอาหาร ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และยิ่งในยุคโควิด เราก็จะเห็นพวกหน้ากากอนามัยอยู่ทั่วทุกแห่ง ปัญหาของขยะที่ไม่ได้มีการจัดการที่ถูกต้อง ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาของกลิ่นขยะ มีสัตว์มาคุ้ยเขี่ยอาหาร
ขยะที่มาจากครัวเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นขยะประเภทเศษอาหาร ที่ย่อยสลายได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังรวมกันมาทิ้งปะปนกับขยะประเภทอื่น ทั้งนี้อาจเพราะสาเหตุของข้อจำกัดของสถานที่ เช่น คนในเมืองไม่มีพื้นที่ที่จะนำขยะเปียกไปทำเป็นปุ๋ย หรือใช้ในการเลี้ยงสัตว์
อย่างไรก็ดี วันนี้ idea-aday101 ก็อยากจะนำบทเรียนการจัดการขยะของชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลของอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ที่ครัวเรือนอยู่ติดกับชายฝั่งทะเล ใต้ถุนบ้านจะมีน้ำทะเล ขึ้นลงทุก ๆ วัน ครัวเรือนไม่มีพื้นที่ที่นำขยะไปจัดการโดยใช้วิธีฝังกลบ
1
สมัยก่อน ชุมชนมดตะนอย ซึ่งมีจำนวนประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ประกอบอาชีพประมง จะมีปัญหาของขยะลอยใต้ถุนบ้านเป็นจำนวนมาก เพราะขยะไม่ได้มีการจัดการที่ถูกวิธี เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้น ขยะก็จะลอยซัดเข้ามา ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยจากปัญหาขยะที่สะสมส่งกลิ่นรบกวน และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย
จนกระทั่งหมู่บ้าน ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยมีผอ. รพ.สต. นายสมโชค สกุลส่องบุญสิริ ที่ได้เชิญชวนให้คนในหมู่บ้านจัดการขยะชุมชน โดยเริ่มจากการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งมาจากแกนนำชุมชน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน อสม. โดยชี้ให้แกนนำได้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาของขยะที่จะส่งผลต่อสุขภาพของคนในหมู่บ้าน
การทำงานในช่วงแรกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อสม. และแกนนำ แม้จะได้รับความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ แต่การจะชวนให้คนในหมู่บ้านลุกขึ้นมาจัดการขยะครัวเรือนนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก ครัวเรือนยังไม่ได้ให้ความสำคัญ อสม. ต้องเดินไปเก็บขยะให้ครัวเรือนแต่ละหลัง นานวันเข้า อสม. และแกนนำ ก็เริ่มอ่อนล้า
แต่ด้วยการที่คุณหมอได้ให้กำลังใจแก่คณะทำงานอยู่บ่อยครั้ง และมีการพูดคุยอยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงาน ค่อย ๆ ชักชวน เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็ทำให้คนในชุมชนเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น จนเกิดเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของการจัดการขยะครัวเรือน จนทำให้คนนอกชุมชนอยากมาดูงาน
การดูงานของคนนอก ยิ่งเป็นแรงเสริมให้แก่ครัวเรือนอยากจะลุกขึ้นจัดบ้านตัวเองให้น่าอยู่ ดูน่ามอง เกิดการแข่งขัน การตกแต่งหน้าบ้าน ด้วยวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น เช่น เปลือกมะพร้าว ซึ่งมีอยู่เยอะในชุมชน ในอดีตจะนำมากองทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ ไม่ก็ถูกทิ้งรวมในถังขยะ แต่ปัจจุบัน คนในชุมชนได้รู้จักการนำสิ่งของเหลือใช้ หรือขยะในชุมชนมาแปลงเป็นนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เช่น กระถางจากเปลือกมะพร้าว หรือจากทุ่นที่ไม่ใช้แล้ว มีการใช้สีทำให้ดูโดดเด่น สามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
คุณหมอได้บอกว่า การที่เราจะทำเรื่องขยะ เราต้องเปลี่ยนความคิดของเราก่อน ว่าขยะเป็นเรื่องง่าย มันเป็นไปได้ ถ้าเราตั้งใจจะทำจริง ๆ เราต้องคิดบวก โดยต้องรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ และต้องทำให้มันสนุก เราจะไม่รู้สึกว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องยากอีกต่อไป มองให้เป็นเรื่องของความท้าทาย แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การเสริมสร้างกำลังใจ คนชุมชนมดตะนอย ได้ผ่านกระบวนการมากมาย ผ่านการเรียนรู้ ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ และทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จนปัจจุบันชุมชนมดตะนอย สามารถเป็นชุมชนที่ปลอดโฟม 100% และหากใครที่อยากจะเดินทางไปเยี่ยมชนการจัดการขยะ ก็สามารถติดต่อไปได้ที่ รพ.สต. มดตะนอย แต่ก็ต้องบอกล่วงหน้าสักหน่อยนะคะ
ลองนำวิธีการจัดการขยะของชุมชนมดตะนอยไปปรับใช้กับขยะครัวเรือนของพวกเราดูนะคะ ทำให้ง่าย ทำให้สนุก เราทำได้แน่นอนค่ะ 😊
โฆษณา