3 พ.ย. 2021 เวลา 14:12 • ปรัชญา
"ควรจะทนสู้ให้ผ่านทุกขเวทนาหรือไม่ ?"
"​...​ อาตมาเองเป็นต้น
แต่ก่อนเคยปฏิบัติสบาย
แล้วก็เข้าถึงสภาวธรรมที่สงบ
พอเริ่มบวช ได้ศึกษาใหม่ ๆ
ช่วงนั้นสมาธิคลายตัวไปแล้ว
ก็อ่านปฏิปทาครูบาอาจารย์
แล้วก็ท่านมีความแกล้วกล้าในธรรมมาก
ต้องนั่งให้ผ่านเวทนา
2 3 4 ชั่วโมงขึ้นไป ก็เลยอยากทำบ้าง
พออยากทำบ้าง
ปรากฏว่าตอนนั้นกำลังจิตยังน้อยอยู่
สู้ไม่ไหว
สู้ไม่ไหว จิตไม่ตั้งมั่น แล้วเริ่มบ่นในใจ
ผลที่ตามมาคือ
มันไม่พัฒนาสภาวะให้ใจเราตั้งมั่นได้เลย
ก็เลยนึกถึง มันไม่จำเป็นนี่
นึกถึงตอนที่เราเคยปฏิบัติ
เราไม่เคยต้องมาทำกายให้ลำบากแบบนี้
แต่ทำไมใจเราเข้าถึงความสงบสมาธิระดับละเอียดได้
ก็เลยกลับไปทำ
แบบที่ตัวเองเคยทำ ก็คือ ปฏิบัติแบบสบาย ๆ ..."
1
ความสำคัญ ก็คือ การที่เราสามารถปฏิบัติ
มีสติ รู้เนื้อรู้ตัว จนจิตใจเริ่มมีความสงบตั้งมั่น
และสามารถรักษาใจ
ให้มีความตั้งมั่นอยู่ได้นั่นเอง
นี่คือเคล็ดลับสำคัญของการฝึกปฏิบัติ
ซึ่งกำลังที่จิตตั้งมั่นใหม่ ๆ
ยังมีความมั่นคงไม่มากอยู่
พอเราฝึกไปถึงจุดหนึ่ง
ทุกขเวทนาทางกาย เริ่มบีบคั้นมาก ๆ
ตรงนี้จุดที่ว่า เราควรไปต่อ หรือเราควรคลาย
ให้สังเกตว่า
เมื่อทุกขเวทนา หรือความบีบคั้นทางกาย
ความปวดเมื่อย เริ่มมากขึ้น มากขึ้น
ใจเราล่ะ ยังนิ่งตั้งมั่นอยู่ไหม ?
ถ้าใจเรายังนิ่งตั้งมั่นอยู่
ก็สามารถดำเนินไปได้
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ใจเริ่มไม่นิ่งแล้ว
เริ่มส่าย คลายแล้ว
แล้วจะเริ่มไปอะไรกับการปวดเมื่อย
จนเริ่มสอดส่าย
ถ้าเราฝืนต่อไป จิตก็ไม่สงบตั้งมั่นแล้ว
อันนี้ เริ่มเกิดผลเสียแล้ว
จะเริ่มฝังในใจเราแล้วว่า เจ็บไง
คนเราเวลาที่เจ็บ ก็จำ
พอจำ ก็จะเริ่มไม่อยากปฏิบัติแล้วนั่นเอง
ก็ให้ปรับร่างกายให้คลาย
แล้วให้เราประคองจิตใจของเรา
เพราะงั้น เคล็ดลัดคือการรักษาใจเป็นหลัก
1
กายสามารถปรับเปลี่ยนอิริยาบถได้
ซึ่งช่วงนั้นสมาธิก็ได้ระดับหนึ่ง
ก็ค่อย ๆ เพียรฝึกไป
ผลจากการที่เราสามารถรักษาใจ
ให้สบาย ให้มีความตั้งมั่นได้เนือง ๆ
จะเกิด ฉันทะ คือความเพียร
คือความพอใจที่จะฝึกปฏิบัติอยู่เนือง ๆ
เกิดความรักในการปฏิบัติ
ผลจากการที่เราเกิดฉันทะในการปฏิบัติ
จะทำให้การปฏิบัติของเรา
เกิดความเพียรที่จะฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอ
จนกลายเป็นวิถีชีวิตของเรา
ตรงนี้คือเคล็ดลับที่สำคัญต่างหาก
คือการที่ทำให้ได้ฝึกได้เป็นปกติ
จนกลายเป็นวิถีชีวิตของเรา
...
และเมื่อเราสามารถนำการฝึก
เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา
จนเรารักในการปฏิบัติ
เราฝึกปฏิบัติได้อยู่เป็นประจำ
เป็นกิจวัตรของเราแล้ว
ผลที่ตามมาก็คือ กำลังสติ สัมปชัญญะก็จะมากขึ้น
ใจก็มั่นขึ้น มีกำลังสมาธิมั่นขึ้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง จิตตั้งมั่น
มีกำลังสมาธิมากพอ
จะคลายจากอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ
เราจะเริ่มพบว่า ถึงจุดนั้นปุ๊บ
จนกายเบา จิตเบา
อาการปวดเมื่อย ไม่มีผลอะไรกับเราแล้ว
เราจะเริ่มนั่งปฏิบัติไปได้มากขึ้น ๆ ๆ
จน 2 3 4 ชั่วโมง เริ่มทำได้
เป็นเรื่องสบาย โดยที่ใจเราตั้งมั่น
แล้วกายเราก็ไม่ลำบากเช่นกัน
เมื่อถึงจุดนั้นแหละ
ถึงจะปฏิบัติแบบ ก็ตามใจของเรา
เรียกว่า ทรงอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ฝากให้เคล็ดวิชาไว้
ค่อย ๆ ทำแบบนั้น
อย่าไปตั้งธงแต่แรกว่า
โอ๊ย​ เราต้องทนสู้เวทนา ให้ข้ามการปวด
ถึงจะเข้าถึงสมาธิระดับฌาน
อย่าไปตั้งมายด์เซ็ท (Mindset)
ความเข้าใจแบบนั้น
เพราะน้อยคน ที่จะผ่านวิธีแบบนั้นได้
คนที่จิตใจแบบแกร่งจริง ๆ เท่านั้น
ที่เหลือ 99 % ส่วนใหญ่ก็ไม่ผ่าน
อาตมาเองเป็นต้น แต่ก่อนเคย
ปฏิบัติสบาย แล้วก็เข้าถึงสภาวธรรมที่สงบ
พอเริ่มบวช ได้ศึกษาใหม่ ๆ
ช่วงนั้นสมาธิคลายตัวไปแล้ว
ก็อ่านปฏิปทาครูบาอาจารย์
แล้วก็ท่านมีความแกล้วกล้าในธรรมมาก
ต้องนั่งให้ผ่านเวทนา
2 3 4 ชั่วโมงขึ้นไป ก็เลยอยากทำบ้าง
พออยากทำบ้าง
ปรากฏว่าตอนนั้นกำลังจิตยังน้อยอยู่
สู้ไม่ไหว
สู้ไม่ไหว จิตไม่ตั้งมั่น แล้วเริ่มบ่นในใจ
เริ่มมีเสียงด่าในใจ
ปวด เมื่อย ทรมานอยู่อย่างนั้น
ผลที่ตามมา คือ ไม่เห็นพัฒนาสภาวะ
ให้ใจเราตั้งมั่นได้เลย
ก็เลยเริ่มเกิดความฉุกคิดว่า
"เราอาจจะผ่านเวทนา แล้วเข้าถึงสมาธิได้นะ
แต่ว่า จะมีสักกี่คนที่ผ่านตรงนี้ได้ ?
แล้วคนที่เหลือ เขาต้องใช้วิธีแบบนี้เหรอ ?"
ก็เลยนึกถึง ไม่จำเป็นนี่
นึกถึงตอนที่เราเคยปฏิบัติ
เราไม่เคยต้องมาทำกายให้ลำบากแบบนี้
แต่ทำไมใจเราเข้าถึง
ความสงบสมาธิระดับละเอียดได้
ก็เลยกลับไปทำ แบบที่ตัวเองเคยทำ
ก็คือปฏิบัติแบบสบาย ๆ
ผลที่ตามมา มันก็เข้าสู่สภาวะ
ตามร่องของเดิมได้นั่นเองนะ
เพราะฉะนั้น แล้วแต่อัธยาศัยแต่ละคน
บางคนต้องข่ม ต้องฝึกฝนตัวเองมาก
ต้องนั่งให้ก้าวข้ามทุกขเวทนา
จึงเข้าถึงสมาธิได้ ก็เป็นวิถีของผู้นั้น
แต่ไม่ใช่ทุกคน เป็นส่วนน้อยเท่านั้น
ที่ท่านจะมีความแกล้วกล้าขนาดนั้น
ส่วนใหญ่ก็ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ผ่านหรอก
แล้วจะทำให้รู้สึกว่า
การปฏิบัติเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลำบากนั่นเอง
จึงเป็นสิ่งที่แนะนำแบบกลาง ๆ
ก็คือทำแบบสบาย ๆ
ค่อย ๆ ฝึกปฏิบัติไปนั่นแหละ
ผลจากการที่เรามีความเพียรต่อเนื่อง
ความเพียรถึงจุดหนึ่ง ที่สำคัญจริง ๆ
คือ ความเพียรที่ใจของเรา
การเพียรระลึกรู้สึกตัว
ทำความรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน
จะเคลื่อนไหว จะทำอะไรอยู่
ก็หมั่นระลึกรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เสมอ
ส่วนการปฏิบัติในรูปแบบ
ก็ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ไต่ระดับไป
ให้สังเกตใจเราเป็นหลัก ค่อย ๆ ปฏิบัติไป
3
ใหม่ ๆ 5 นาที 10 นาที
เดี๋ยวก็ค่อย ๆ เพิ่มเป็น 15 นาที 20 นาที
ครึ่งชั่วโมง เดี๋ยวจะค่อย ๆ ทำไปเอง
แต่ให้สังเกตเรื่องของใจเรา
ความเป็นผู้มีสติ ความเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นหลักนั่นเอง
คือให้แนวทางแบบกลาง ๆ ไว้
แต่ไม่ได้ห้าม
แล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละท่าน
บางท่านผ่านแบบนั้นมา
ท่านก็จะแนะนำสิ่งที่ตัวเองผ่านมา
แต่ว่า ไม่ใช่ทุกคน
ต้องผ่านด้วยวิธีแบบนั้นเสมอไป
แต่ที่ทุกคนต้องผ่าน
ก็คือ ทางสายกลาง
ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8
ถึงจะผ่านจากกองทุกข์ทั้งปวงได้
อันนี้ต่างหาก ที่เราต้องให้ความสำคัญ
ก็คือ การเดินด้วยมรรควิธีที่ถูกต้องนั่นเองนะ
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา