3 พ.ย. 2021 เวลา 03:35 • การเมือง
ซูดานกำลังยุ่ง (2)
โดย
2
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
เมื่อวาน ผมรับใช้ถึงสังคมซูดานที่มีความแตกแยกกันในเรื่องการส่งตัวอดีตประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ ไปให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ตามหมายจับเมื่อ พ.ศ. 2552 ข้อหาอาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม
1
อัล-บาชีร์ เป็น Head of State หรือประมุขของซูดานยาวนานมาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2532-2562 เป็นเวลานาน 30 ปี เพิ่งหมดอำนาจตอนที่โดนทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2562  การปฏิวัติครั้งนั้น มีการตั้งนายอับดัลลา ฮัมด็อก เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาล
25 ตุลาคม พ.ศ. 2564 มีรัฐประหารอีกแล้ว ยึดอำนาจเสร็จก็ปลดนายฮัมด็อกออกจากนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล คนที่เป็นผู้นำในการยึดอำนาจคือ พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ซึ่งเคยมีชื่ออยู่ในกลุ่มที่ปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2562 ด้วย พลเอกอัล-บูร์ฮานสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2566
1
หลายคนแปลกใจว่าทำไมประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไม่ออกมาประณามการรัฐประหารครั้งใหม่ในซูดาน
เรื่องนี้เป็นเพราะพลเอกอัล-บูร์ฮานมีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ในตะวันออกกลาง ทั้งในซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทุกราชวงศ์จึงเงียบ
ปกติอียิปต์จะวางตัวเป็นพี่ใหญ่ เจ้ากี้เจ้าการเรื่องที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทว่าคราวนี้ก็เงียบครับ มีเพียงเสียงก้องร้องตะโกนเบาๆ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเจรจากันโดยสันติวิธี
ไหนจะวิกฤติโควิด-19 ไหนจะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และสังคมที่แตกแยกเละเทะตุ้มเป๊ะ แล้วนี่ยังมามีรัฐประหารอีก โดนความยากจนข้นแค้นกดดันมากเข้า ชาวซูดานก็ออกมาชุมนุมแสดงจุดยืนคัดค้านการยึดอำนาจ ตอนนี้มีผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายกันแล้ว
1
https://www.theguardian.com/commentisfree/2021/nov/02/sudan-coup-military-power-force
ประเทศใหญ่และองค์กรนานาชาติทำอะไรไม่ได้มาก เพราะแค่แก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติโควิด-19 กับเศรษฐกิจที่ตกต่ำย่ำแย่ก็แทบเลือดตากระเด็นแล้ว ธนาคารโลกประกาศระงับความช่วยเหลือทางการเงินแก่ซูดาน เพื่อยกระดับการกดดันคณะรัฐประหาร
ซูดานมีน้ำมันมาก มีแร่หายากเยอะ มีทองคำ สหรัฐในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นผู้เริ่มประกาศว่า กรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน เป็นที่กบดานของสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ของบินลาเดน และกลุ่มนี้ให้การสนับสนุนการเงินแก่กลุ่มกบฏหลายกลุ่มในซูดาน ซูดานจึงโดนคว่ำบาตร ตามด้วยความวุ่นวาย
จีนเข้าไปในทวีปแอฟริกาอย่างจริงจังประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว จีนไม่เล่นการเมืองเหมือนพวกมหาอำนาจตะวันตก แต่เข้าไปค้าขาย เอาสินค้าของตัวเองไปขาย ได้เงินแล้วก็ซื้อทรัพยากรธรรมชาติกลับ
1
จีนไม่ได้เล่นการเมืองก็เลยไม่ค่อยสนใจว่าทรัพยากรนั้นมีความไม่ชอบธรรมอะไรปนอยู่หรือไม่ ทำให้พวกตะวันตกเอาเรื่องนี้ไปโจมตีจีนอยู่นาน
สมัยที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ พร้อมผม ที่ปรึกษาฯ เคยไปประชุมกับรัฐมนตรีเหมืองแร่และน้ำมัน
2
จากนั้นก็ตั้งทีมศึกษาถึงศักยภาพของสาธารณรัฐซูดาน พบว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก เพราะการแย่งชิงอำนาจ ทหารลุกขึ้นมาทำรัฐประหารบ่อยครั้ง ทำให้ประเทศเดินไปไม่ถึงไหน
ซูดานเป็นประเทศที่ลอยอยู่บนน้ำมันและแร่ ถ้าแก้ปัญหาทรัพยากรมนุษย์ได้ ประเทศนี้ก็สามารถจะพุ่งทะยานได้ ปัญหาการรบพุ่งกันของคนต่างศาสนาคริสต์กับอิสลามทำให้เกิดปัญหามายาวนาน ตอนที่แยกประเทศออกไป หลายคนคิดว่าซูดานน่าจะสงบ แต่ไม่สงบครับ
ทวีปแอฟริกาประกอบไปด้วย 54 ประเทศ ประเทศกว้างใหญ่ไพศาลที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติไม่ค่อยมีข่าวทะเลาะเบาะแว้งรบพุ่ง การรบพุ่งมีแต่ในประเทศที่มีทรัพยากรมาก
ความขัดแย้งวุ่นวายที่มีอยู่ทุกวันนี้ บางคนวิเคราะห์ว่าอาจจะมาจากมือที่มองไม่เห็น ที่ไม่อยากให้ประเทศเหล่านี้สงบ การทะเลาะเบาะแว้งรบพุ่งกัน ทำให้ต้องซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไปทำลายล้างกัน ได้เงินจากการขายน้ำมัน ขายแร่เท่าใด ก็เอาไปซื้ออาวุธมาฆ่ากัน
ข้อสงสัยในเรื่องมือที่มองไม่เห็นนี่ เป็นเรื่องที่น่าคิดครับ.
โฆษณา