3 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“การศึกษา” ปัจจัยพื้นฐานที่ผู้คนไม่เคยได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากปัจจัย 4 พื้นฐานอันประกอบไปด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคแล้ว “การศึกษา” แทบจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทั้งในแง่การยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ บทบาทการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ การก่อร่างกฎระเบียบของสังคมและวัฒนธรรม การทำความเข้าใจธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ทั้งที่เราเห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญมากจนน่าจะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชากรโลก แต่ในความจริง “การเข้าถึงการศึกษาที่ดี ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ ในโลกของเราอยู่ดี” และนั่นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโลกอยู่ด้วย
📌 ยกระดับการศึกษาก็ยกระดับเศรษฐกิจด้วย
ความสำคัญแรกของการศึกษาที่ถือว่าเป็นกุญแจไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคือ การศึกษาช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจได้ ถ้าอธิบายในทางทฤษฎี การศึกษาที่ดีจะช่วยพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ทำให้บุคคลหรือแม้แต่ประเทศมีความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นได้ จนนำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้น
ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ถูกยืนยันจาการหลายการศึกษาและหลายชุดข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาของ Robert J. Barro ที่บอกว่าการศึกษาในระดับมัธยมขึ้นไปมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือแผนภูมิที่ 1 ที่แสดงความสัมพันธ์ของการคาดการ์จำนวนปีที่เด็กจะได้เรียนเมื่อแรกเข้ากับรายได้ประชาชาติต่อคน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ยิ่งตัวเลขคาดการณ์ของจำนวนปีที่เด็กจะเรียนหนังสือมาก ก็มีแนวโน้มที่ประเทศเหล่านั้นจะมีระดับรายได้ต่อประชากรที่สูงขึ้นไปด้วย
แผนภูมิที่ 1 : ประเทศที่มีการคาดการณ์จำนวนปีการศึกษาที่สูงกว่ามีแนวโน้ม จะมีรายได้ต่อหัวมากกว่าด้วย
📌 ปัญหาจากการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ดีก็ยังไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ และถ้าพูดกว้างๆ แล้ว ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ยังมีระบบการศึกษาที่ไม่ดีก็คือ การเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็ก ซึ่งปัญหาใหญ่นี้เมื่อมองให้ลึกลงไปมันเกิดขึ้นมาจากสาเหตุย่อยหลายประการด้วยกัน
สาเหตุสำคัญแรกที่ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา คือ การขาดแคลนคุณครู โดยมีการประมาณจากองค์การสหประชาชาติว่า เราจำเป็นต้องมีครูเพิ่มขึ้นถึง 69 ล้านคน เพื่อที่จะให้เด็กทุกคนในโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับประถมและมัธยมได้อย่างทั่วถึงจริงๆ ภายในปี 2030
สาเหตุต่อมาที่สำคัญ คือ เรื่องของโรงเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ที่ยังขาดแคลน เข้าถึงได้ยากในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศแคมารูน ที่สัดส่วนของนักเรียนประถมต่อหนังสือสอนการอ่านสูงถึงนักเรียน 13 คนต่อหนังสือ 1 เล่ม หรืออย่างในประเทศมาลาวีที่มีจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เฉลี่ยถึง 130 คนต่อห้อง
เด็กนักเรียนในซูดานต้องออกมาเรียนกลางแจ้ง เนื่องจากความขาดแคลนของโรงเรียน
และสาเหตุสุดท้ายที่สำคัญ คือ การขาดการสนับสนุนการศึกษาสำหรับ “นักเรียนบางกลุ่ม” โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความทุพพลภาพทางร่างกาย ที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบปกติได้ หรือในกรณีของบางประเทศที่ “เด็กเพศหญิง” ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาที่ดี ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเธอ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ก็เกิดขึ้นมากในบางภูมิภาคของโลกโดยเฉพาะในเอเชียใต้และประเทศกลุ่มซับซาฮาร่า และก็ได้สะท้อนออกมาในข้อมูลสัดส่วนการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปี ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีคนอ่านออกเขียนได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
แผนภูมิที่ 2 : ประชากรในกลุ่มซับซาฮาร่าและเอเชียใต้มีสัดส่วนรู้หนังสือน้อยกว่า ภูมิภาคอื่นของโลก
📌 เข้าถึงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคุณภาพและเท่าเทียมด้วย.
ปัญหาที่เราชี้ให้เห็นข้างต้น ที่เป็นปัญหาในแง่ของการเข้าถึงการศึกษานั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ในเรื่องของการศึกษาแท้จริงแล้วแค่เข้าถึงยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเป็นการเข้าถึงอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันด้วย กรณีตัวอย่างที่มักถูกพูดถึงของเรื่องนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาอยู่
โดยในอเมริกา มีการศึกษามาอย่างยาวนานว่ามีความแตกต่างของคุณภาพการศึกษาของคนผิวดำและฮิสแปนิกกับคนผิวขาว โดยในอดีตมีการแบ่งแยกโรงเรียนสำหรับคนผิวขาวและคนผิวดำอย่างชัดเจน และก็มีการใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนโรงเรียนของคนผิวขาวมากกว่า ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาให้คนผิวขาวและคนผิวดำเรียนร่วมกันได้แล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาในอเมริกาก็ยังมีเหลืออยู่ ยกตัวอย่างเช่น อัตราการเข้าเรียนของคนผิวดำที่ยากจนในโรงเรียนพื้นที่ยากจนสูงมีมากกว่าคนผิวขาวที่ยากจน (81% คนผิวดำ กับ 54% คนผิวขาวในปี 2013)
📌 โมเดลการศึกษาแบบฟินแลนด์
“ฟินแลนด์” ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับจากกลุ่มประเทศ OECD ด้วยกันเอง หรือวัดจากผลการสอบ PISA ที่เป็นข้อสอบวัดผลระดับนานาชาติ ที่ฟินแลนด์ก็ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ตลอดทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์
ซึ่งโมเดลการศึกษาแบบฟินแลนด์นี่เอง ที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาทั้งในแง่การเข้าถึงและคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันกับทุกคน โดยการตั้งเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม นอกจากนี้ฟินแลนด์ยังมีการอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กเพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีได้ ทั้งการมีจำนวนคุณครูที่มีคุณภาพครอบคลุมจนสามารถให้คำปรึกษาหลายบุคคล การมีอาหารที่โรงเรียนฟรี หรือแม้แต่การให้คำปรึกษาจากนักจิตวิทยา
นอกจากนี้ การศึกษาที่ดียังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทางอื่นนอกจากด้านรายได้และเศรษฐกิจด้วย อาทิ เรื่องของสุขภาพ ความรู้ด้านการเงิน หรือแม้แต่เรื่องของสภาวะโลกร้อน ที่ก็มีงานวิจัยที่ออกมาบอกว่า การที่ระบบการศึกษาที่ดีนั้นช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน ทำให้การศึกษาเหมือนเป็นยารักษาสรรพโรค ที่ถ้าเลือกลงทุนพัฒนาประเทศได้ด้านเดียว ยารักษาสรรพโรคนี้ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย
#การศึกษา #ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา #EducationInequality #อุปสรรคพัฒนาชีวิตคน
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา