Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
CondoNewb
•
ติดตาม
4 พ.ย. 2021 เวลา 06:23 • อสังหาริมทรัพย์
เปิดหมดเปลือก ที่ดินจุฬา อัปเดตล่าสุด
เมื่อไม่นานมานี้หลายคนน่าจะได้ยินข่าว ที่ CPN ชนะการประมูล ที่ดินจุฬา บริเวณสยามสแควร์ไป โดยที่ดินที่ทาง CPN ได้ไป เขาว่ากันว่า เป็นที่ดินที่สวยที่สุดในสยามเลย ซึ่งอยู่บริเวณโรงหนังสกาลา ความน่าสนใจคือ CPN พยายามที่จะเจาะเข้ามาปักหมุดในที่ดินจุฬา โดยเฉพาะทำเลสยามสแควร์นานมากแล้วล่ะ แต่ก็เพิ่งจะมาสำเร็จ คือรอบ ๆ ทำเลนี้ ทางCPN ก็ไปปักหมุดไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลเวิร์ล ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค หรือว่าแถว ๆ ถนนวิทยุ ที่มีการร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์
แล้วก็ยังมีข่าวออกมาอีกว่า ที่ดินสยามสแควร์บล๊อก A ที่ CPN ได้ไป จะนำมาพัฒนาเป็นโครงการ MIxed - Use ผสมผสานหลากหลายไลฟ์สไตล์เข้าด้วยกัน เป็นเหมือนกับ คอมมูนิตี้มอลล์ ขนาดกลาง ตรงหัวมุมถนน อะไรประมาณนั้น ซึ่งกำหนดการส่งมอบที่ดิน จะอยู่ราว ๆ ปี 2565 โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งจากข่าวคราวที่เราได้รับทราบกันเมื่อสักครู่ ผมมานั่งคิดว่า เราจะเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ชาวนิวบ์ได้ฟังกัน จะเป็นเรื่องที่ดินแปลง A นี้ ที่ CPN ได้ไป ก็มีบล๊อกเกอร์หลายท่านได้วิเคราะห์กันไปอย่างลงลึกแล้ว จึงเป็นต้นเหตุให้เกิด NewbTalk ในวันนี้ขึ้น คือ เราจะมาพูดถึงเรื่องของ “ที่ดินจุฬา” กันว่า ทำไม? มหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศ ถึงได้เป็นนักบริหารอสังหาริมทรัพย์มือฉมัง แล้วที่ดินจุฬา คือตรงไหนบ้าง อะไรที่อยู่บนที่ดินของจุฬาบ้างและ ความเป็นมาของที่ดินจุฬา ก่อนจะมาเป็นแบบในปัจจุบัน มันมีความเป็นมาอย่างไร ทั้งหมดอยู่ใน NewbTalk บทความและคลิปนี้แล้วครับ
ความเป็นมาคร่าว ๆ ของที่ดินจุฬา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
แรกเริ่มเดิมทีของที่ดินจุฬา เราจะต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลยครับ ในช่วงนั้นมีการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งพอการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีเงินเหลืออยู่จำนวน 982,672.47 บาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานเงินจำนวนนั้น ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับที่ดินในตำบลปทุมวัน จำนวน 1,309 ไร่
ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเงินทุนก้อนแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มาพร้อมที่ดิน ซึ่งที่ดินยังไม่ได้เป็นสิทธิ์ขาดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ ยังคงเป็นการเช่ากับพระคลังข้างที่ ต้องรอมาจนถึงปี พ.ศ. 2482 นายกรัฐมณตรี ณ ขณะนั้นคือ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม(จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้ออกกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้มหาวิทยาลัย ตามรายละเอียดปรากฏใน
“พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ตำบลปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๘๒”
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานผืนนี้มาโดยสมบูรณ์ แต่พอหักลบส่วนที่ต้องสร้างเป็นถนนไป ทำให้ที่ดินที่ทางจุฬาฯ ได้รับมา เหลือทั้งสิ้น 1,153 ไร่ ครับ
และในปัจจุบัน ต้องบอกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็น Landlord ใหญ่ใจกลางเมืองเลย เนื่องจากครอบครองที่ดิน ในเขตปทุมวัน กว่า 1,153 ไร่ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
●
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 595 ไร่
●
ส่วนเช่า สำหรับหน่วยงานราชการ 184 ไร่
●
ส่วนเพื่อการพาณิชย์ 374 ไร่
ซึ่งการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินจุฬา เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ การที่มหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินพันธกิจหลักได้นั้น จำเป็นต้องมีทรัพยากร เกื้อหนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดิน
อาณาเขตและสถานที่ต่าง ๆ ของที่ดินจุฬา
ทีนี้เรามาดูกันครับว่า ที่ดินจุฬา ในปัจจุบัน เป็นอย่างไรกันบ้างแล้ว ในส่วนแรกแน่นอนว่าเราต้องพูดถึงสัดส่วนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน และได้รับจัดสรรพื้นที่ไปกว่า 50% กันก่อน
★
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากแผนที่ตรงนี้นะครับ ผมวงมาให้ทุกคนได้เห็นว่า ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือส่วนไหนกันบ้าง ซึ่งหลัก ๆ ก็จะเกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณกลาง ๆ ของที่ดินครับ
★
พื้นที่ที่ถูกพัฒนาโดย PMCU
ที่นี้ส่วนต่อไป เรามาดูที่ดินที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่างสยามสแควร์และจามจุรีสแควร์กันบ้าง ที่ดินส่วนนี้ จะเป็นที่ดินที่ถูกพัฒนาโดย PMCU หรือ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นแหละ
แน่นอนว่าด้านล่างสุดจะเป็น จามจุรีสแควร์ ด้านบนสุด ก็จะเป็นสยามสแควร์ ที่ดินตรงนี้ก็จะหมายรวมถึง ที่ดินที่ทาง CPN ได้ไป ซึ่งเราเล่าให้ฟังกันไปในช่วงต้น และในที่ดินผืนเดียวกันนี้ก็ยังมี
●
สยามสเคป (Siam Scape)
โครงการ Mixed-Use ความสูง 25 ชั้น ที่ตัวตึกด้านล่างทำออกมาได้สวยและก็ดึงดูดความสนใจของโลกโซเชียลมาก ๆ ด้านในจะเป็น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ต่าง ๆ เห็นบอกว่าทาง PMCU จะย้ายบรรดาโรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ ทั้งในสยามสแควร์และอาคารสยามกิตติ์มาไว้ที่นี่ด้วย
ส่วนฝั่งซ้ายในแผนที่ที่ดินจุฬานะครับ กรอบด้านล่าง จะเป็น ตลาดสามย่าน ส่วนด้านบนจะมีสองกรอบที่ติดกัน อันด้านล่างจะเป็นคอนโดมิเนียม โครงการ CU Terrace Home Condo ก็เป็นคอนโดของสำนักงานบริหารทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกันครับ
และกรอบสุดท้ายที่ติดกัน คือ สวนหลวงสแควร์นะครับ ตรงนี้จะเป็นเหมือนกับ จัตุรัส ที่มีร้านค้าร้านอาหารอยู่รวมกันมากมายเลย นิสิตจุฬาหรือคนในย่านนี้ก็ ใช้เป็นแหล่งซื้อของหรือสถานที่พักผ่อนกันครับ
★
พื้นที่ที่ถูกพัฒนาโดยภาคเอกชน
ส่วนนี้นะครับเดี๋ยวเราค่อย ๆ ไล่จาก มุมบนซ้ายก่อน บริเวณนี้นะครับคือ
Stadium One ตรงนี้บางคนไม่รู้จักนะ ซึ่งรู้ไหมว่า Stadium One คือ อาณาจักรเกี่ยวกับกีฬา ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ ทั้งปลีกทั้งส่ง ฟิตเนส มวยไทย และก็ยังมี Co-Working Space ที่ชื่อว่า Naplab ด้วย ซึ่งที่ดินจุฬาตรงนี้ กลุ่มศิษย์เก่า วิศวฯ จุฬาฯ ได้ทำการประมูล และก็ทำเป็น Stadium One ขึ้นมาครับ
ส่วนที่ติดกัน เขยิบมาทางด้านขวามือจากในแผนที่ที่ดินจุฬาก็คือ MBK เซ็นเตอร์ อันนี้หลายคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้วนะครับ สุดท้ายด้านล่าง ในแผนที่อาจจะมองว่าเป็นที่เดียวกัน ในแง่ของที่ดินใช่ครับ เชื่อมต่อกัน แต่ถ้าแบ่งเป็นสถานที่จะถือว่าเป็นสองสถานที่ คือ
บริเวณที่เป็นแนวยาว ๆ ตรงนี้คือ หอพัก ยูเซ็นเตอร์ อันแสนโด่งดัง ที่เป็นหอพักด้านบน และด้านล่างเป็นเหมือนคอมมูนิตี้มอลล์ มีร้านอาหาร มีคาเฟ่ต่าง ๆ
ส่วนจุดที่อยู่ติดกันกับถนน ตรงนี้คือ สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งก็โด่งดังไม่แพ้กันครับ สามย่านมิตรทาวน์เป็น Mixed-Use โครงการใหญ่ ตรงข้ามกับจามจุรีย์สแควร์เลยครับ ด้านในจะเป็นโรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า ออฟฟิศ และก็ Co-Working Space ออกแบบในแนวคิดที่ใหม่มาก ๆ ข้างในก็จะค่อนข้างล้ำเลย
★
สนามกีฬาแห่งชาติ กรมพลศึกษา
มาต่อกันที่หนึ่งตำแหน่ง ที่ดินด้านบนของที่ดินจุฬาครับ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางราชการทำการเช่า ตรงนี้ก็จะมี กรมพลศึกษา สนามกีฬาแห่งชาติหรือสนามศุภชลาศัย และตรงนี้จะมี BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของรถไฟฟ้าสายสีลม(สายสีเขียวอ่อน)ด้วยครับ
★
สวนหลวง + สามย่าน
บริเวณต่อไปนะครับ ด้านซ้ายของที่ดิน กรอบด้านบน บริเวณนี้จะเป็นอาคารพาณิชย์ ที่เรียกกันว่าย่านสวนหลวง ซึ่งถ้าใครเคยขับรถเข้ามาทางแยกบรรทัดทอง จะเห็นเลยว่า เต็มไปด้วยร้านขายอุปกรณ์กีฬาเยอะมาก ๆ เลย มีทั้งอุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า อุปกรณ์ออกกำลังกาย เยอะเเยะมากมายเลย
ส่วนกรอบด้านล่าง คือสามย่านครับ เป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องของร้านอาหารชื่อดังมากมาย สเต็กสามย่าน โจ๊กสามย่าน ส้มตำใด ๆ อยู่ในย่านนี้หมด
★
สภากาชาดไทย
มาถึงมุมด้านล่างขวากันบ้าง ตรงนี้จะเป็นส่วนที่ยื่นออกไปจากที่ดินจุฬาทั้งหมด มีที่ดินสองผืนด้วยกันนะครับ เดี๋ยวเริ่มจากผืนเล็กด้านในก่อน ตรงนี้จะเป็น สภากาชาดไทยนะครับ ซึ่งเป็นส่วนที่สภากาชาดไทย ใช้ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนกรอบใหญ่ จะเป็นหน่วยงานของสภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาฯ และหน่วยงานของจุฬาฯ คือ คณะแพทยศาสตร์ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินของสภากาชาดไทยครับ
★
พื้นที่สีเขียว
รู้ไหมครับว่า ที่ดินจุฬา ไม่ได้มีแต่ตึกเท่านั้นนะครับ เพราะจริง ๆ แล้วที่ดินจุฬายังมีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวด้วย คือ
●
PARK@SIAM ครับ ติดกับศูนย์หนังสือจุฬา เป็นพื้นที่สีเขียวกลางสยามเลย เดินร้อน ๆ แวะเข้าไปหลบให้เย็นกายกันได้ ด้านในมีร้านกาแฟด้วยนะครับ
●
อุทยาน 100ปี จุฬาฯ เป็นสวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อน บนเนื้อที่กว่า 29 ไร่เลย งานออกแบบที่นี่ก็เรียกได้ว่า โดดเด่นมาก ๆ เป็นสวนที่เล่นระดับ และรอบ ๆ เป็นพื้นที๋โล่ง บรรยากาศค่อนข้างดีเลยครับ
★
พื้นที่รอการพัฒนา
แน่นอนว่าพอเป็นที่ดินที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็จะต้องมีที่ดินที่กำลังจะพัฒนาเช่นกัน แต่การเปลี่ยนแปลงที่จุฬาพัฒนาที่ดินอยู่ตลอดเวลา ก็มีบางจุดที่มีปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ดินที่ผมวงมาให้ในส่วนนี้ คือที่ดินที่รอการพัฒนานะครับ ส่วนหนึ่งในนี้ คือที่ดินของ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่เคยเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้วว่า #SAVEเจ้าแม่ทับทิม
ใจความตามที่ผมไปหาข่าวมาคือ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตประธานสภานิสิตจุฬา ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านแฟนเพจ Netiwit Ntw ระบุข้อความว่า วันนี้นิสิตจุฬาฯ ยืนล้อมหน้าสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เพื่อต่อต้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม หยุดเอาเปรียบชุมชน นิสิตคนรุ่นใหม่ต้องการปกป้องไม่ให้ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตถูกทำลาย และเป็นแค่ความทรงจำที่มาโหยหาทีหลัง #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
โดยจากแถลงการณ์ของศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่ผมไปค้นมา ก็มีการพูดถึงประเด็น ที่จุฬาได้ฟ้องร้องเป็นเงิน 4,600 ล้านบาท พร้อมเข้ายึดพื้นที่ หากทางศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ทำการรื้อถอน โดยอ้างว่ามีการบอกกล่าวกับทางศาลเจ้ามาตั้งแต่ปี 2558 ว่าไม่ขอต่อสัญญา และให้รื้อถอน
ทางคณะผู้ดูแลและคณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม ก็บอกมาว่า ทางศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่เคยได้รับเอกสารหรือบันทึกสัญญาเช่าพื้นที่ที่มีมาตั้งแต่อดีตอะไรเลย และก็ไม่ทราบเหตุผลที่ทางจุฬาไม่ต่อสัญญาเช่าซื้อด้วย มีเพียงจดหมายให้รื้อถอนศาลเจ้าอย่างกะทันหันในวันที่ 21 ก.พ. 2563 เท่านั้น จึงขอ ไม่ยอมรับสภาพการบังคับใช้หรือข้อโต้แย้งใด ๆ ของสำนักงานบริหารทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก็เรียกได้ว่ามีมากมายหลากหลายเรื่องราวทีเดียวนะครับสำหรับเรื่องของที่ดินจุฬา ที่มีทั้งการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีสถานที่ใหม่ ๆ มีข่าวคราวให้เราได้มาอัปเดตกันทุกปี ฉะนั้นถ้าหากมีสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับที่ดินจุฬา CondoNewb จะนำมาฝากทุกคนทันทีแน่นอนครับ
1 บันทึก
1
3
1
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย