5 พ.ย. 2021 เวลา 04:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
​Metaverse โลกมายาเสมือนจริง
5
นาทีนี้หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง “เมทาเวิร์ส (Metaverse)” กันมากขึ้นในวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะจากการประกาศวิสัยทัศน์ของเฟสบุ๊คที่เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทโซเชียลมีเดียไปเป็นบริษัทเมทาเวิร์ส และถึงขนาดเปลี่ยนชื่อบริษัทเลยทีเดียว ในฐานะที่ผู้เขียนเองเป็นแฟนภาพยนตร์ซีรีย์แนว Sci-fi และซุปเปอร์ฮีโร่ ต้องยอมรับว่า เมื่อได้ยินคำนี้ทีแรก ก็พลอยนึกไปถึงคำว่า “มัลติเวิร์ส (Multiverse)” อันแปลว่า พหุจักรวาล หรือ จักรวาลหลายมิติที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ
4
ซึ่งมีรากฐานแนวคิดจากทฤษฎีฟิสิกส์สมัยใหม่ กล่าวคือ แต่ละจักรวาลมีตัวตนของนาย ก อยู่ โดยจักรวาลอื่น ๆ ก็มีนาย ก เช่นกัน แต่อาจไม่เหมือนนาย ก ในมิตินี้ อันที่จริง เมทาเวิร์ส ก็ไม่ได้มีความหมายหนีพ้นไปจากมัลติเวิร์สเท่าใดนัก เพราะแปลตรงตัวได้ว่า จักรวาลที่ล้ำหรือเหนือออกไป (meta คือ ล้ำ/เหนือ ส่วน verse คือ จักรวาล) แต่มีความแตกต่างสำคัญคือ จะเป็นจักรวาลที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง วันนี้จึงมาชวนท่านผู้อ่านทำความรู้จักกันครับ
3
Metaverse
ในปัจจุบัน เมทาเวิร์สเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น แต่มุ่งพัฒนาเป็นโลกเสมือนจริง 3 มิติที่ผสานเทคโนโลยี Virtual Reality (VR)1 และ Augmented Reality (AR)2 เข้าด้วยกัน โดยผู้ที่อยู่ในเมทาเวิร์สจะไม่ได้แค่เข้าไป “ดู” อย่างเดียว แต่จะ “มีส่วนร่วม” ด้วย หากนึกภาพไม่ออก ขอให้ท่านผู้อ่านจินตนาการถึงภาพยนตร์ไตรภาค the Matrix อันโด่งดังในอดีต (กำลังจะมีภาคที่ 4 ในอนาคตอันใกล้นี้)
2
ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นและเราเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ขณะที่ตัวจริงของเรานอนสลบไสลไม่ได้สติอยู่ในโลกจริง หรือเรื่องยอดนิยมเมื่อไม่นานมานี้อย่าง Ready Player One ที่พระเอกสวมแว่นและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเข้าไปเล่นเกม มีตัวอวตาร (avatar) ที่ออกแบบอย่างไรก็ได้ เมทาเวิร์สก็ไม่ต่างจากลักษณะของโลกเสมือนใน Ready Player One แต่เพิ่มเติมออกไปจากการเป็นเพียงแค่เกม คือ จะมีโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจสังคมที่อยู่ในโลกเสมือนนั้นด้วย
1
(1) เป็นเทคโนโลยีที่คอมพิวเตอร์จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการมองเห็น แสดงทั้งบนจอคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์แสดงผลสามมิติ มีความสมจริงเพราะสามารถจะหันเปลี่ยนมุมมองได้รอบทิศ 360 องศา ถือเป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงในยุคบุกเบิก (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์)
(2) เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนที่พัฒนาขึ้นในยุคถัดมา โดยผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (real) เข้ากับโลกเสมือน (virtual) ผ่านทางอุปกรณ์ webcam กล้องมือถือ คอมพิวเตอร์ รวมกับการใช้ software ต่าง ๆ ทำให้สามารถมองเห็นภาพที่มีลักษณะเป็น object เช่น คน สัตว์ สิ่งของ สัตว์ประหลาด ยานอวกาศ แสดงผลในจอภาพกลายเป็นวัตถุ 3 มิติลอยอยู่เหนือโลกแห่งความเป็นจริงได้ ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Pokemon Go (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์)
NFT (Non-Fungible Token) คือ ตัวอย่างของสินทรัพย์ที่จะมีการซื้อขายในระบบเศรษฐกิจของเมทาเวิร์ส และอาจจะมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยใช้คริปโทเคอร์เรนซีมาเป็นสื่อกลาง ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับ NFT กันมาบ้างแล้ว มันคือสินทรัพย์ที่มีความจำเพาะหรือลักษณะเฉพาะตัว ไม่มีอะไรมาปลอมแปลงมันได้ เช่น ภาพเขียนศิลปะบนโลกดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวหรือมีจำนวนจำกัด หรือแม้แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินในโลกออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบัน มีอุปสงค์ในการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก แม้เราจะไม่สามารถจับต้องมันได้เลยก็ตาม!
4
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วเมทาเวิร์สมีความสำคัญอย่างไร? โลกแห่งความเป็นจริงก็ดีอยู่แล้ว เหตุใดต้องมีเมทาเวิร์สด้วย? ผู้เขียนขอแสดงทัศนะโดยตอบคำถามนี้ แยกออกเป็น 2 มุมมอง
มุมมองแรก ในฐานะของนักเศรษฐศาสตร์ การมีเมทาเวิร์สจะช่วยสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ของโลกใหม่ ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่จะมีมูลค่าเพิ่มจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนนี้ โดยจะมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ คู่ขนานไปกับผู้ผลิตและนักพัฒนาที่จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากมาย และจะเข้ามาสร้างนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ การต่อยอดระบบการเงินในโลก DeFi การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบดิจิทัล ตลอดจนการสร้างที่พักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้คนแบบเสมือนจริง เช่น การชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ที่อยู่อีกฟากโลกหนึ่งแบบสามมิติก็เป็นได้
4
อีกมุมมองหนึ่ง ในฐานะของผู้ศึกษาจิตวิทยาและธรรมะ แม้ในแง่บวก เมทาเวิร์สจะสามารถเป็นที่พักผ่อนสำหรับผู้คน แต่ในทางกลับกัน อาจกลับทำให้มนุษย์ “ฝังตัวเอง” อยู่ในโลกเสมือน และเกิดภาวะ “ซึมเศร้า” อย่างถลำลึกกว่าแต่ก่อน กล่าวคือ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีผลต่อสุขภาพจิตที่แย่ลง อาทิ ทำให้เกิดอาการ FOMO (Fear of missing out) หรือ อาการกลัวตกกระแส ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา การเกิดความทุกข์ตรมทางจิตใจจากสภาวะความริษยาผ่าน Facebook (Facebook envy) เพราะเรามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์โดยอัตโนมัติ
7
โดยเฉพาะการที่ได้เห็นการใช้ชีวิตหรูหราของคนอื่น ท่านผู้อ่านลองจินตนาการโลกที่คนติดเมทาเวิร์ส ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำลึกยิ่งกว่าโซเชียลมีเดียดูสิครับว่าจะเพิ่มความรุนแรงของการเปรียบเทียบขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น การอวดให้เห็นฐานะอันมั่งมีของตนจากการถือครอง NFT ผู้ใช้ที่ขาดสติจะยิ่งเกิดความโลภ โกรธ หลง อันอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว
2
ดังนั้น สิ่งที่อยากจะฝากท่านผู้อ่านไว้ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเหรียญสองด้าน เทคโนโลยีก็เช่นกัน เราต้องเป็นผู้พัฒนา ควบคุมและใช้เทคโนโลยี แต่อย่าให้เทคโนโลยีมาควบคุมชีวิตเรา การมี “สติ” และ “ฉลาดใช้” ในเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก รู้จักใช้อย่างไม่ทำลายตนเองก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดีครับ!
3
ผู้เขียน : สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
4
โฆษณา