10 พ.ย. 2021 เวลา 07:18 • ปรัชญา
ตัวตนของเราคืออะไร?
หนึ่งในปัญหาใหญ่แห่งโลกปรัชญา
2
“ผมไม่ใช่คุณ และคุณไม่ใช่ผม”
นี่เป็นความจริงพื้นฐานที่ใครๆก็รู้โดยไม่จำเป็นต้องมีการบอกกล่าวสั่งสอน ในเมื่อมนุษย์เราทุกคนต่างมีชื่อเสียงเรียงนามไว้เรียกขานระบุตัวตน เรามีรูปร่างหน้าตา นิสัย และความสามารถที่แตกต่างกัน อย่างเห็นได้ชัด
1
แต่เรื่องที่ดูธรรมดาๆแบบนี้แหละนักปรัชญาชอบนัก พวกเขาตั้งคำถามเรื่องพื้นๆแบบนี้เพื่อสำรวจลึกลงไปว่าตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งคืออะไร และอยู่ตรงไหนกันแน่ และได้พบว่าการตอบคำถามนี้แบบจับให้มั่นคั้นให้ตายไม่ใช่เรื่องง่าย
นักคิดนักปรัชญายุคกรีกโบราณ ตั้งคำถามต่อตัวตนของคนๆหนึ่งด้วยแนวคิดที่เรียกว่า เรือของธีเซียส (Ship of Theseus) ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆดังนี้
สมมติว่ามีเรือเดินสมุทรลำหนึ่งชื่อ โกอิ้งแมรี่ เป็นเรือที่ใช้งานได้ดีมาก แต่นานวันเข้ามันก็เริ่มชำรุดเสียหาย จึงมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้นๆด้วยอะไหล่เรือจนเรือโกอิ้งกลับมาใช้งานได้ แต่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า เรือโกอิ้งแมรี่ส่วนอื่นๆก็ได้รับความเสียหายจนต้องเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆจนในที่สุด ก็ไม่หลงเหลือชิ้นส่วนเก่าอยู่เลย
คำถามคือ เรือลำนั้นยังเป็นเรือโกอิ้งแมรี่อยู่หรือไม่ ?
หลายคนอาจจะตอบว่า ใช่ เพราะเราใช้เรือลำนี้มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่มันก็แปลกๆ ที่เรือในตอนนี้ไม่เหลือชิ้นส่วนดั้งเดิมเลย
หลายคนอาจจะตอบว่าไม่ใช่ เพราะเรือในตอนนี้เปลี่ยนเป็นเรือลำอื่นไปแล้ว แต่เราสามารถตั้งคำถามให้ลึกได้อีกว่า ถ้าเรือลำนี้ไม่ใช่เรือโกอิ้งแมรี่แล้ว มันเริ่มจะไม่ใช่เรือโกอิ้งแมรี่ตั้งแต่เมื่อไหร่? และถ้าเปลี่ยนจากเรือลำนั้นเป็นมนุษย์ล่ะ ในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวหน้าจนมนุษย์เราเปลี่ยนชิ้นส่วนร่างกายที่แก่ชราหรือเกิดปัญหาจากโรคภัยได้ทุกส่วนแล้ว ความเป็นตัวตนของเราจะยังหลงเหลืออยู่ไหม?
มาถึงตรงนี้ เราอาจคิดว่าตัวตนของคนๆหนึ่งน่าจะอยู่ที่สมองของคนๆนั้นเพราะนักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าสมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย รวมทั้งบรรจุเอาความทรงจำ สติปัญญาและนิสัยของคนๆหนึ่งไว้ แต่ก็มีนักปรัชญาบางกลุ่มมองว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะร่างกายทั้งหมดของมนุษย์(รวมทั้งสมอง)อาจเปรียบได้กับฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ แต่ตัวตนของคนๆหนึ่งอาจเป็นเหมือนซอฟต์แวร์ที่อยู่ในนั้น พูดง่ายๆว่า ตัวตนของคนๆหนึ่งถูกมองในรูปแบบของคอนเซปต์บางอย่างในร่างกายเชิงกายภาพ
มังงะเรื่อง เพชฌฆาตไซบอร์ก ภาค Last Order (Battle Angel Alita: Last Order) แสดงให้เห็นถึงปัญญาเรื่องตัวตนของสมอง เมื่อตัวเอกของเรื่องค้นพบว่าภายในกะโหลกของตนเองไม่ได้มีสมองอยู่ แต่มีชิปที่บรรจุความทรงจำของตนเองไว้และทำงานแทนสมองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนสมองจริงๆของตนถูกนักวิทยาศาสตร์โรคจิต จัดการผ่าเอาไปใส่ไว้ในไซบอร์กที่รูปร่างหน้าตาเหมือนตนเองอย่างมาก
เมื่อทั้งสองมาเจอกันก็เกิดคำถามว่า ใครกันแน่คือผู้ที่ครอบครองตัวตน (แน่นอน ถามไถ่กันได้ไม่นานก็เปิดฉากต่อสู้กันเต็มสูบตามแนวทางของการ์ตูนบู๊แอคชั่น)
จะเห็นได้ว่าแนวคิดของกรีกโบราณนั้นได้ตั้งคำถามต่อตัวตนอย่างจริงจังและทำให้นักปรัชญาต้องขบคิดกันมาจนถึงวันนี้ แต่หากย้อนเวลาไปก่อนยุคกรีกโบราณในโลกฝั่งตะวันออก นักปรัชญาท่านหนึ่งมีแนวคิดที่ค่อนข้างแปลกประหลาดเกี่ยวกับตัวตน นั่นคือ การมองว่าตัวตนของเรานั้นอาจเป็นเพียงมายาที่เราหลงคิดไปเองว่ามันมีอยู่
2
เราอาจรู้จักนักปรัชญาผู้นั้น ในนามของ พระพุทธเจ้า
1
ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า นักบวชชื่อ สัจจกนิครนถ์ (อ่านว่า สัด-จะ-กะ-นิ-ครน) เป็นผู้เป็นเลิศด้านวาทศิลป์ มาโต้คารมกับพระพุทธเจ้า โดยสัจจกนิครนถ์กล่าวว่า ร่างกายและความรู้สึก(เวทนา)ย่อมเป็นตัวตนของคนๆหนึ่งอย่างแน่นอน
1
แต่พระพุทธเจ้าถามกลับในทำนองว่า หากเราเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริง ย่อมบังคับให้ร่างกายไม่แก่ชราหรือเสื่อมสภาพได้ ย่อมบังคับให้ความรู้สึกในชีวิตเต็มไปดว้ยความสุขได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่ แต่ไม่มีใครทำเช่นนั้นได้แล้วจะกล่าวว่ามันเป็นตัวตนและของเราอย่างแท้จริงได้อย่างไร
2
สัจจกนิครนถ์จำนนจนพูดไม่ออกจนได้แต่สรรเสริญพระพุทธเจ้าแล้วลากลับไป บทสวดพาหุงบทหนึ่งอ้างอิงถึงเรื่องสัจจกนิครนถ์ไว้ด้วย
ประเด็นในทางปรัชญาเรื่องนี้นับว่าน่าสนใจเพราะปรัชญาทางตะวันออกหลายสำนักนั้น มีแนวคิดว่าตัวตนของคนๆหนึ่งเป็นเพียงมายาเท่านั้น เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่าเราไม่สามารถก้าวลงแม่น้ำสายเดิมซ้ำได้ เพราะ เมื่อเราก้าวลงไปอีกครั้ง ตัวตนของเราย่อมเปลี่ยนไป และแม่น้ำเองก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย
ความต่อเนื่องของสายน้ำและตัวตนจึงเป็นเพียงมายาและการคิดไปเองของเราเท่านั้น จะว่าไปก็น่าคิด เพราะ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และคนแก่ ของคนๆเดียวกันอาจจะมีแนวคิดที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวจนเป็นเหมือนคนละคนได้
หากเรามองเรื่องๆนี้ในลักษณะระบบ complexity ทางวิทยาศาสตร์ มด(หรือปลวก)ตัวหนึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตหนึ่งตัว แต่มดทั้งรังต่างหากที่เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งตัว! กล่าวคือ มดหนึ่งตัวเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยคล้ายกับอวัยวะเล็กจิ๋วของสิ่งมีชีวิตหนึ่งเท่านั้น การตายของมดงานสักตัวแทบจะไม่ส่งผลใดๆต่อองค์รวมของมดรังนั้นเลย
1
หากมองมนุษย์ในมุมนั้น ตัวตนของเราก็อาจจะไม่ได้แตกต่างอะไรกับมด เราเป็นแค่มดที่รวมกลุ่มสร้างรังที่เรียกว่าสังคมได้ซับซ้อนกว่าเท่านั้นเอง
2
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปรัชญญาเกี่ยวกับตัวตนที่นักคิดได้พยายามตั้งคำถามไว้ให้คนปวดหัวเล่น อ่านจบแล้วลองคิดดูสิครับว่า ตัวคุณคืออะไรกันแน่
โฆษณา