5 พ.ย. 2021 เวลา 13:08 • ประวัติศาสตร์
"โฉมใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร" เรื่องราวจากคอลัมน์ "ทัศนศึกษา Sight & See ไปกับครูพี่ต้นคูน" บนแอป 2read
พระราชยานคานหามในหมู่พระวิมาน
นักเดินทางหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวของเมืองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะหากเราต้องการทราบเรื่องราวของบ้านเมืองแห่งใด เราก็สามารถเข้าไปเยี่ยมชมและซึมซับข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ในเมืองนั้นได้ เพราะฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีย่อมเป็นสง่าของเมืองแห่งนั้นด้วยก็คงไม่ผิด
สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ในทวีปยุโรปก็คงจะรู้สึกว่าการจัดพิพิธภัณฑ์ของเขานั้นน่าสนใจ สวยงาม และน่าชม แต่เมื่อหวนกลับมามองพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในบ้านเราแล้วก็กลับรู้สึกวังเวงใจและสลดใจอย่างไรชอบกล เพราะภาพจำของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมักจะมีสภาพเหมือนเป็น “ห้องเก็บของ” ที่วางของกองกันจนฝุ่นจับ มีไฟทึมแสงสลัว เดินแล้วชวนให้หดหู่ใจมากกว่าภาคภูมิใจ และหลายคนก็คงนึกอยากจะให้บ้านเมืองของเรามีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจและทันสมัยเหมือนต่างประเทศบ้าง
ประตูพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ก้าวใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
พระพุทธรูป ศิลปะรัตนโกสินทร์
กลองวินิจฉัยเภรี รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ห้องจัดแสดงเครื่องไม้ในหมู่พระวิมาน
ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วงการพิพิธภัณฑ์ไทยมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าไปมาก พิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้รับการปรับปรุงให้มีการจัดแสดงที่น่าสนใจ และสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์หลักของกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ใกล้กับท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวังก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ข้างโรงละครแห่งชาติและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับของผู้ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองลงมาจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์
เพราะฉะนั้นอาคารจัดแสดงเกือบทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นเขตพระราชฐานมาก่อน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่ปรากฏในต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็น “มิวเซียม” อยู่ภายในพระบรมมหาราชวังตรงตำแหน่งศาลาสหทัยสมาคมทุกวันนี้ จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) จึงได้มีการสถาปนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นในพื้นที่เดิมของพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในปัจจุบัน
วิทยาการสมัยใหม่สมัยรัตนโกสินทร์
ห้องจัดแสดงพระพุทธรูป ศิลปะล้านนา
การจัดแสดงทั้งหมดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครได้รับการปรับปรุงใหม่มาตามลำดับ เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครั้งล่าสุดเมื่อเกินสิบปีขึ้นไปมาแล้วก็สามารถลืมภาพห้องเก็บของที่เก่าคร่ำคร่าไปได้เลย เพราะทีมงานภัณฑารักษ์ได้ช่วยกันปรับปรุงพระที่นั่งองค์สำคัญและอาคารจัดแสดงต่างๆ ให้ทันสมัยและน่าชมยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนตำแหน่งการวางโบราณวัตถุ (Layout) และแสงไฟสำหรับการจัดแสดงใหม่ทั้งหมด ยิ่งเป็นส่วนจัดแสดงงานศิลปะของไทยแขนงต่างๆ ที่อยู่ในหมู่พระวิมานหรือเขตพระราชฐานเดิม บรรยากาศทั้งหมดก็ยิ่งช่วยขับเน้นให้ศิลปวัตถุเหล่านั้นเปล่งประกายความงดงามและคุณค่าในตัวเองได้ดียิ่งขึ้น สมกับที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของพระนคร
แม้ว่าขนาดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้ใหญ่โตเหมือนกับพิพิธภัณฑ์บางแห่งในยุโรป เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในประเทศฝรั่งเศส แต่สำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์แล้ว การจะเดินชมสิ่งของมีค่าต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ของเราให้ครบทุกชิ้นภายในวันเดียวก็เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เพราะข้าวของต่างๆ มีมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นใครที่ชอบงานศิลปะ หรือชอบถ่ายรูปศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่สวยงาม ก็สามารถใช้เวลาอย่างเพลิดเพลินอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครได้ทั้งวัน
พระพุทธรูปขนาดเล็ก ศิลปะล้านนา
เครื่องอุทิศในพระพุทธศาสนา ศิลปะล้านนา
งานพิพิธภัณฑ์ : คุณค่าและมูลค่าของบ้านเมือง
ท่อประปาดินเผาและเครื่องสังคโลก ศิลปะสุโขทัย
การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ถือเป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายประเทศ พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานชิ้นเด่นเป็นเอกลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนเมืองนั้นๆ หรือใช้เวลาในเมืองนั้นๆ มากขึ้นได้จริง พิพิธภัณฑ์บางแห่งอาจจะมีศิลปวัตถุชิ้นที่โดดเด่นเพียงชิ้นเดียว แต่ก็เป็นแรงดึงดูดที่มากพอสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นได้ เช่น Accademia Gallery แห่งนครฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี ที่เป็นที่ตั้งของประติมากรรมเดวิด (David) หรือรูปปั้นเด็กหนุ่มรูปงาม ผลงานการแกะสลักของมิเคลันเจโล ศิลปินเอกของโลกในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)
ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์บางแห่งอาจไม่ได้มีศิลปวัตถุที่มีชื่อเสียงในระดับโลก (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครก็เข้าข่ายพิพิธภัณฑ์ประเภทนี้) แต่ก็เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวและมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองแห่งนั้น เป็น “ทางลัด”สำหรับผู้มาเยือนที่จะได้ทำความรู้จักคุณค่าของสังคมเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพิพิธภัณฑ์จึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง การลงทุนกับพิพิธภัณฑ์จึงเป็นการสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจให้กับเมืองท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปจะนิยมเดินชมพิพิธภัณฑ์กันมาก และชาวไทยเราขึ้นชื่อในเรื่องของงานศิลปะมาตั้งแต่สมัยโบราณ
เพราะฉะนั้นเราจึงมีของดีที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมที่สามารถอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกได้อย่างแน่นอน ขอแค่เพียงมีองค์ประกอบในการจัดแสดงที่ดีเท่านั้น พิพิธภัณฑสถานของเราก็จะกลายเป็นจุดสนใจของผู้มาเยือนได้ไม่ยาก และหากผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ ก็จะเกิดการบอกต่อกันในหมู่คนเดินทางผ่านช่องทางต่างๆ เพียงเท่านี้พิพิธภัณฑ์ก็จะได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มภาคภูมิ เป็นแหล่งรักษาคุณค่าอันงดงามของสังคม และเป็นแหล่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองไปพร้อมกัน
ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนไปเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครด้วยกัน และตัดสินด้วยตาของท่านเองว่าพิพิธภัณฑ์โฉมใหม่นี้สวยงามพอจะเป็นสง่าแห่งพระนครของเราได้หรือไม่
พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย
ภาพสลักนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ศิลปะชวา
ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในความดูแลของกรมศิลปากร กำลังได้รับการพัฒนาจนกระทั่งแล้วเสร็จในหลายจังหวัด จึงทำให้บ้านเมืองของเรามีพิพิธภัณฑ์รูปโฉมใหม่ตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครมีชุดนิทรรศการที่ปรับปรุงใหม่ล่าสุด คือนิทรรศการประวัติศาสตร์ โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 : สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยชวา - ศรีวิชัย รวมถึงศิลปะเอเชียที่อาคารมหาสุรสิงหนาท ถือเป็นชุดนิทรรศการใหม่ล่าสุดที่เปิดให้เข้าชมพร้อมกับการกลับมา “เปิดเมือง” อีกครั้งของกรุงเทพมหานคร
ใบเสมาเล่าเรื่องพุทธประวัติและพระพุทธรูป ศิลปะทวารวดี
เทวรูปพระศิวะและพระวิษณุ ศิลปะสุโขทัย
เศียรพระพุทธรูป ศิลปะสุโขทัย
พระพุทธรูปศิลปะพม่า จัดแสดงในห้องศิลปะเอเชีย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ - อาทิตย์ หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เว้นแต่จะมีประกาศเป็นอย่างอื่น) สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ผู้สนใจเยี่ยมชมสามารถจอดรถได้ที่วัดมหาธาตุฯ หรือแหล่งจอดรถอื่นใกล้เคียงพื้นที่พิพิธภัณฑ์
เรื่องโดย ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์
โฆษณา