6 พ.ย. 2021 เวลา 11:37 • ประวัติศาสตร์
"อาถรรพณ์คำสาป กรุมหาสมบัติวัดราชบูรณะ ภาค 2/2" เรื่องราวจากคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read
พระปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะ อยุธยา
อย่างที่ได้คุยกันไปในตอนที่แล้วว่า พระปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะ อยุธยา ถูกผู้ร้ายลักลอบขุดจนไปเจอกรุมหาสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2500 ได้เครื่องทองของมีค่าไปมหาศาล นับรวมกันแล้วมีทองคำมากถึง 100 กก.
เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยืมมาจัดแสดงชั่วคราว ในนิทรรศการ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ
ทรัพย์สมบัติและของมีค่าเหล่านั้น เป็นสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เจ้านายเชื้อพระวงศ์ ข้าราชบริพาร และพ่อค้าคหบดีชาวต่างชาติในอยุธยา ได้ร่วมแรงร่วมศรัทธากันนำของมีค่าต่างๆ มาฝังไว้ในกรุตั้งแต่แรกสร้างใน พ.ศ.1959 (ไทยสากล) แล้วใช้ศิลาปิดปากกรุไว้อย่างดี จากนั้นก็ไม่มีใครรู้อีกเลยว่าในนั้นมีอะไรบ้าง จนกระทั่งมาความแตกเอาในอีก 541 ปีต่อมา...
คำให้การของผู้ร้าย
หลังจากมีการพบกรุสมบัติในพระปรางค์วัดมหาธาตุ (ซึ่งอยู่ติดกับวัดราชบูรณะ) เมื่อปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรก็ทยอยขุดค้นเพื่อบูรณะวัดต่างๆ ในอยุธยา โดยวัดต่อมาก็คือวัดราชบูรณะ
แผนผังโครงสร้างของพระปรางค์วัดราชบูรณะ
ภาพเขียนบนผนังกรุชั้นที่ 1
เจ้าหน้าที่ของกรมศิลป์ทำการขุดสำรวจที่พระปรางค์ประธาน แต่ขุดไปได้พักหนึ่งก็ไปติดศิลาก้อนใหญ่ เมื่อเห็นว่าไปต่อไม่ได้ จึงกลบไว้ตามเดิม
ต่อมาในคืนวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2500 นายลิ เกษมสังข์ (คนร้ายคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ / ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2557) กับพวกรวม 20 คน ก็ไปลักลอบขุดต่อจากที่ทางกรมศิลปากรกลบไว้อีกที
นายลิบอกว่า ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะเจอมหาสมบัติอะไรเลย แต่คิดแค่เพียงจะไปขุดหาพระอย่างที่เคยทำเท่านั้น และที่ทำไปเพราะความไม่รู้
“ถ้ารู้ ไม่ทำ” นายลิพูดไว้
สาเหตุที่พูดเช่นนั้นก็เพราะว่า ชีวิตของนายลิและพวกต้องเจอกับหายนะต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่วันที่ไปลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะ เหมือนกับการต้องคำสาปไปชั่วชีวิต
จากการให้ปากคำของนายลิ จับใจความได้ว่า
ในคืนนั้น เหล่าคนร้ายได้บุกขึ้นบนห้องโถงบนองค์พระปรางค์ แล้วเริ่มขุดต่อจากหลุมที่ทางกรมศิลปากรกลบไว้ ได้ลองแงะดูว่าจะมีทางลงไปได้อีกหรือไม่ ใช้ค้อน  ปอนด์ทุบพื้นห้องโถงจนในที่สุดก็สามารถแงะศิลาแลงที่ผนึกปากกรุออกมาได้สำเร็จ
ทางลงกรุชั้นที่ 1
คนร้ายลงไปถึงกรุชั้นที่ 1 ได้ของมีค่าจำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูปทองคำ เนื้อชิน เนื้อโลหะ ฯลฯ พระพิมพ์เป็นแสนๆ องค์ กองตั้งแต่พื้นจนท่วมไปถึงเพดาน
โพรงบนพื้นกรุชั้นที่ 1 ที่ถูกคนร้ายขุดลงไปยังกรุชั้นที่ 2
และด้วยเหตุบังเอิญ ระหว่างที่เดินสำรวจอีกครั้งก่อนจะแยกย้ายกลับบ้าน หนึ่งในกลุ่มคนร้ายได้ลองเอาชะแลงไล่กระทุ้งตามพื้นห้องกรุชั้นที่ 1 ดูอีกรอบ แล้วได้ยินเสียงก้องมาจากโพรงข้างล่าง
นั่นแสดงว่า ยังมีห้องกรุอยู่ข้างใต้อีกชั้นหนึ่ง จึงได้ขุดเพิ่มจนเจอกรุชั้นที่ 2 ซึ่งในชั้นนี้เต็มไปด้วยเครื่องทองจำนวนมหาศาล สะท้อนแสงเทียนแวววาวจนแสบตาไปหมด และในกรุชั้นที่ 2 นี้ก็มีเครื่องทองกองตั้งแต่พื้นจนถึงเพดานเช่นกัน
การขนเครื่องทองออกจากกรุชั้นที่ 2 นี้ ต้องใช้ความพยายามมากกว่าในกรุชั้นที่ 1 คือต้องขุดที่มุมของพื้นกรุชั้นที่ 1 จนได้ปากหลุมกว้างขนาดพอดีตัว แล้วให้คนในแก๊งที่ตัวเล็กๆ ผูกเชือกโรยตัวลงไป ใช้มือขยุ้มเครื่องทองของมีค่าใส่ถุงแป้ง แล้วชักรอกส่งขึ้นมาให้พวกอีก 18-19 คนที่อยู่ข้างบนคอยรับ ก่อนจะทยอยลำเลียงไปเก็บที่บ้าน
...ต่อไปนี้คือ บันทึกการให้ปากคำของคนร้ายที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ไว้ในหนังสือ “เครื่องทองสมัยอยุธยา” (หน้า 81-85)...
“พอเห็นของพวกนี้แล้ว เราพูดกันว่า พวกเรารวยกันแล้ว ตั้งแต่เริ่มทำงานมาได้ใช้เทียนไขจุดส่องดูในกรุนั้น เพราะเทียนไขแสงสว่างดีกว่าอย่างอื่น ได้ลำเลียงส่งของอยู่เป็นเวลา 4 ชั่วโมงเศษ ได้เริ่มขุดเป็นเวลา 2 คืนครึ่ง ขนของขึ้นยังไม่ทันหมดดี เพราะพวกข้างนอกเอาของลำเลียงไปไว้ที่บ้านหมด เหลือคนอยู่ในกรุ 2 คน ผมเห็นว่าไม่ค่อยดี จึงให้คนทั้งสองขึ้นกันหมด เพราะขณะนั้นฝนตกมาก หนทางที่ขึ้นนั้น รอบต้นไม้ยังเห็นเป็นรอยเท้ามากมาย หัวทับทิม เศษทอง และรูปช้างม้าทองคำยังอยู่อีกมากมาย หัวทับทิมก็ยังอยู่อีกมากมาย คนทั้งสองเห็นว่าจะเสียท่าพวกข้างขน จึงรีบขึ้นมาจากกรุ ตรงไปที่บ้านคนที่อยู่ทางข้างเจดีย์เจ้าอ้าย-เจ้ายี่
ของทั้งหมดนี้ได้แบ่งกันคนละ 2 กิโลครึ่ง พวกที่ไปขุดด้วย มีด้วยกัน 20 คน เช่น มีพี่น้อง ก็ไปบอกให้มาเอาส่วนแบ่ง กลายเป็นคนได้รับส่วนแบ่งรวม 30 กว่าคน ถึงกับจะฆ่าจะแกงกัน
พอของมาถึงบ้านแล้ว ได้จดรายชื่อไว้ แล้วเอากิโลมาชั่งแบ่งของกัน จำพวกมหามงกุฎ หรือของใหญ่ๆ ไม่ได้แบ่งกัน ของที่เหลือ เช่น พระแสง ราชรถ เรือหงส์ ของอย่างอื่นอีกหลายอย่างที่กองเอาไว้ เพราะของที่แบ่งกันนั้น ได้ไปหมดทุกคนแล้ว
มีคนอีกคนหนึ่งได้ยืนขึ้นบอกว่า เอาอย่างไรก็เอากันเถอะ พวกทั้ง 30 กว่าคน ได้ชักมีดชักปืน ต่อจากนั้นมาก็เลยแย่งกัน จนล้มไปทับเอาเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในบ้านนั้นร้องขึ้น
พอได้รับส่วนแบ่งแล้ว เอาห่อผ้าขาวม้าคนละสองห่อ พอมาตามทาง ก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมไว้ได้บ้าง และหนีหลุดรอดไปได้บ้าง
พอรุ่งเช้าวันที่ 28 ตำรวจก็ได้จับกุมหัวหน้าคุมขุดกรุวัดราชบูรณะ ซึ่งพอได้มหามงกุฎมาถึงบ้านแล้ว ก็เอามาสวมใส่ แล้วถือพระแสงดาบออกมารำเล่นพร้อมกับลูกชาย แถวๆ ตลาดหัวรอ ตำรวจไล่จับ ข้าวของตกเรี่ยราดตามถนน พวกชาวบ้านเก็บได้กันก็มากมาย บางคนถึงแก่ไปขาย แล้วปลูกบ้านได้อย่างใหญ่โตก็มี บางคนแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไป เพราะความเสียดายของที่ได้มาแล้วไปฝากพี่น้องไว้ เขายักยอกเอาไปจนเกือบหมด ที่มาเป็นของกลางนั้นนิดหน่อย”
นั่นคือบันทึกการให้ปากคำของคนร้าย ที่ระบุไว้ในหนังสือ “เครื่องทองสมัยอยุธยา” ของกรมศิลปากร (หน้า 81-85)
เครื่องทองที่คนร้ายได้ไปนั้น ได้ถูกนำไปหลอมขายบ้าง (พระมหามงกุฎทองคำ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทองคำ ราชรถทองคำ ฯลฯ) เร่ขายบ้าง แล้วกรมศิลปากรก็มาติดตามเอาของที่เหลือคืนมาได้ทีหลัง ซึ่งเครื่องทองที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ในปัจจุบันนั้น ถือเป็นแค่เพียงประมาณ 20% ของสมบัติทั้งหมดที่ถูกฝังไว้ในกรุวัดราชบูรณะ ส่วนอีก 80% ที่เหลือ นั้นได้โดนหลอม และโดนขายไปหมดแล้ว... เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง
หายนะและคำสาป
ต่อมา ได้มีรายการโทรทัศน์เข้าสัมภาษณ์ นายลิ เกษมสังข์ ซึ่งในคำให้สัมภาษณ์บอกว่า ตอนที่ขุดนั้นได้เจอสมบัติจำนวนมหาศาลจริงๆ ทั้งพระพุทธรูปทองคำ พระพิมพ์ทองคำ เครื่องราชูปโภค จุลมงกุฎ เสื้อทองคำ แหวนทองคำมากกว่า 2,000 วง และของสำคัญของพระมหากษัตริย์ คือ พระแสงขรรค์ทองคำ
นายลิเล่าว่า แวบแรกที่เห็น รู้สึกว่ามีแสงวาบออกมาจากพระแสงขรรค์ ลักษณะเหมือนแสงหิ่งห้อย
จุลมงกุฎ จากกรุวัดราชบูรณะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยืมมาจัดแสดงชั่วคราว ในนิทรรศการ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ
ย้อนไปในคืนที่ลักลอบขุด ของที่เอาขึ้นมาได้เป็นชิ้นแรกคือ มงกุฎ ซึ่งเพียงแค่ได้เห็นแว้บแรกนายลิก็ใจเสียแล้ว เพราะมงกุฎนี้ต้องเป็นของพระมหากษัตริย์แน่ๆ
นายลิบอกว่า ตอนที่ได้พระแสงขรรค์ทองคำขึ้นมาจากกรุ ตอนนั้นไม่มีใครกล้าเอาไปแม้แต่คนเดียว เพราะต่างก็รู้ดีว่ามันหมายถึงอะไร และในเมื่อไม่มีใครกล้า พระแสงขรรค์ทองคำก็เลยถูกโยนทิ้งไว้ ตรงโคนต้นพุทราข้างพระปรางค์นั่นเอง
และเรื่องราวมันก็มาปะติดปะต่อกับคำให้การของคนร้ายได้พอดี เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่เอาพระแสงขรรค์เล่มนี้ไปก็คือหัวหน้าแก๊งนั่นเอง เพราะในบันทึกคำให้การบอกว่า หัวหน้าแก๊งกับลูกชาย ได้ถือพระแสงขรรค์ทองคำไปวิ่งร่ายรำที่ตลาดหัวรอ จนโดนตำรวจจับได้ตามที่เป็นข่าว
…นับเป็นเรื่องแปลกมาก ที่จู่ๆ คนเราจะนำพระแสงขรรค์ และมงกุฎที่เพิ่งขโมยมาได้ เอามาสวมใส่แล้วไปวิ่งร่ายรำหน้าตลาดหัวรอ ซึ่งมีคนพลุกพล่านขนาดนั้น...
ยังไม่หมดนะครับ เพราะในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2500 (วันเดียวกันนี่แหละ) ก็ได้มีคนร้ายคนหนึ่งในแก๊ง ในสภาพเมาแอ๋ ได้เข้าพบนายตำรวจที่โรงพัก พร้อมรับสารภาพว่า ตนเองและพวกได้ลักลอบขุดกรุในพระปรางค์วัดราชบูรณะ (โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บางคนในจังหวัด) ส่วนเหตุผลที่มาสารภาพก็เพราะ ตนไม่พอใจที่ตัวเองได้ส่วนแบ่งน้อยเกินไป
เรื่องราวอาถรรพณ์คำสาปที่เหล่าคนร้ายเจอกันถ้วนหน้า ถูกบอกเล่าต่อกันแบบปากต่อปาก เป็นต้นว่า บางคนก็เกิดสติฟั่นเฟือน
บางคนขายทองไป ก็ต้องเอาเงินนั้นมาใช้เพื่อหนีการตามล่าของตำรวจ
ตัวนายลิเองก็ต้องเข้าๆ ออกๆ คุกอยู่ถึง 7 ครั้ง
โดยเหล่าคนร้าย และคนที่ได้ส่วนแบ่งจำนวน 30 คนนี้ บางคนถึงขนาดโดนฆ่า โดนยิงตายหลังจากนั้นก็มี ส่วนร้านทองที่รับซื้อทองไปก็โดนไฟไหม้จนหมดสิ้น
...เพราะโบราณเขาถือว่า ของเหล่านี้เป็นของสูง ถ้าเราบารมีไม่ถึง แล้วไปเอามาครอบครอง ก็ย่อมมีอันเป็นไป...
หลังจากที่จับคนร้ายได้แล้ว กรมศิลปากรก็ได้ทำการขุดสำรวจกรุวัดราชบูรณะเพิ่มเติมทันที เพราะคาดว่าจะยังมีของสำคัญหลงเหลืออยู่อีก
และก็เป็นอย่างที่คาดไว้จริงๆ เพราะกรมศิลปากรได้เครื่องทองของมีค่าอื่นๆ ที่คนร้ายขนไปไม่หมดอีก 2,121 ชิ้น ทั้งทอง นาก เงิน เพชรนิลจินดา น้ำหนักรวมเกือบๆ 11 กก. นับเป็นกรุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ภาพเขียนบนผนังกรุชั้นที่ 3
และที่สำคัญที่สุด เมื่อกรมศิลปากรได้ลองขุดให้ลึกลงไปอีก (จากเดิมที่คนร้ายเจาะเข้าไปได้ถึงกรุชั้นที่ 2) ก็พบว่ามีกรุชั้นที่ 3 ซ่อนอยู่ข้างใต้ และในชั้นนี้ได้พบพระปรางค์จำลองทำด้วยทองคำ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งนับเป็นมงคลสูงสุดของแผ่นดิน
ที่มาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
จากการยึดของกลางคืนมาจากคนร้ายที่ลักลอบขุดสมบัติในกรุวัดราชบูรณะ ภายหลังก็ได้กลายเป็นที่มาของการก่อตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พระแสงขรรค์ทองคำจากกรุวัดราชบูรณะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยืมมาจัดแสดงชั่วคราว ในนิทรรศการ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทอดพระเนตรเครื่องทองที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระราชทานพระราชดำริว่า ควรใช้น้ำยากัดสนิม เพื่อถอดพระแสงขรรค์ออกจากฝักทองคำ จะช่วยให้ตัวพระขรรค์ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด และยังมีพระราชดำริด้วยว่า สมควรสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาของมีค่าเหล่านี้ไว้ใน จ. พระนครศรีอยุธยา จึงได้เริ่มมีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2501จนมาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2504
พัดโบก จามร บังสูรย์ แส้ และธารพระกรจำลอง จากกรุวัดราชบูรณะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยืมมาจัดแสดงชั่วคราว ในนิทรรศการ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ
พระพิมพ์จากกรุวัดราชบูรณะที่มีเป็นแสนๆ องค์นี้ ทางกรมศิลปากรในตอนนั้นกำลังหาทุนสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และด้วยความที่พระพิมพ์เหล่านี้มันมีลักษณะที่ซ้ำๆ กับที่นำมาจัดแสดง และนำมาเก็บรักษาไว้จำนวนมากแล้ว จึงได้นำพระพิมพ์ส่วนที่เกินจากความต้องการในทางการศึกษาและโบราณคดี ออกมาเป็นของสมนาคุณให้กับประชาชนที่ร่วมบริจาคเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ทางกรมศิลปากรก็ได้เงินมาจำนวนมาก สามารถจัดสร้างอาคารของพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาได้ถึง 2 หลัง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และเนื่องจากกรุพระปรางค์ซึ่งเป็นที่มาของมหาสมบัติเหล่านี้ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)" เป็นผู้สร้าง ทางการจึงได้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” เป็นการถวายพระเกียรติ
หากท่านมีโอกาสไปเที่ยวอยุธยา ห้ามพลาดชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นะครับ เพราะนอกจากจะตั้งแสดงเครื่องทองในกรุงวัดราชบูรณะ ที่ยึดคืนมาจากคนร้ายได้แล้ว ที่นี่ยังมีพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากวัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2499 ให้พวกเราได้กราบไหว้ เพื่อเป็นมงคลสูงสุดสำหรับชีวิตอีกด้วย
เรื่องและภาพ  : หอย อภิศักดิ์
::: อ้างอิง :::
-เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ ศิลปะของแผ่นดิน / พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2560.
-เครื่องทองสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2548-การปรับแก้เทียบศักราช และการอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ / ตรงใจ หุตางกูร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2561.-รูปแบบกรุ และภาพจิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบรูณะ จังหวัดอยุธยา
-กรมศิลป์ อยากเล่า ตอน เครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
-สารคดี จ. อยุธยา : พระแสงขรรค์ชัยศรีเฉลิมพระเกียรติและตำนานกรุสมบัติแห่งชาติ
-รายการ “เปิดตำนานกับเผ่าทอง” ตอน กรุมหาสมบัติ...พระนครศรีอยุธยา
โฆษณา