6 พ.ย. 2021 เวลา 17:30 • ข่าว
เจาะประเด็นสงครามกลางเมืองเอธิโอเปีย ตอนที่1
อะบีย์ อาห์เหม็ด จากนักสันติภาพรางวัลโนเบลสู่อาชญากรสงคราม
1
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยผ่านตาข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตทิเกรย์ ประเทศเอธิโอเปียมาบ้างแล้ว ที่เกิดขึ้นจากการจับอาวุธสู้รบกันอย่างจริงจังระหว่างกองทัพรัฐบาลกลางเอธิโอเปีย และกองทัพปลดแอกแห่งทิเกรย์ ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลเอธิโอเปียต้องการจะแตกหักกับกองทัพกบฏแห่งทิเกรย์อย่างเด็ดขาด
แต่หลังจากสู้รบผ่านมา 1 ปีเต็ม วันนี้เหตุการณ์กลับตาลปัตรซะแล้ว เมื่อกองทัพปลดแอกทิเกรย์ได้บุกยึดเมืองสำคัญในเอธิโอเปีย และเตรียมมุ่งหน้าบุกยึดเมืองหลวง แอดดิส อาบาบา เพื่อชนกับกองทัพรัฐบาลกลาง ท่ามกลางกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนทั้งเปิดหน้า และลับๆจำนวนมาก
2
จนกลายเป็นว่าตอนนี้รัฐบาลกลางเอธิโอเปีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อาบีย์ อาเหม็ด ผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี 2019 กำลังตกที่นั่งลำบากเสียแล้ว ล่าสุด นายกฯ อาบีย์อาเหม็ด ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ พร้อมกล่าวปลุกระดม เพื่อสู้ยิบตาที่ศูนย์บัญชาการกองทัพแห่งชาติอย่างดุเดือดว่า
1
"เราได้เตรียมหลุมลึกไว้ฝังศพพวกกบฏแล้ว แล้วเราจะฝังพวกมันทั้งหมดด้วยเลือดเนื้อ และกระดูกของเรา เพื่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเอธิโอเปียอีกครั้ง"
การปลุกใจด้วยคำพูดของผู้นำในยามศึกสงครามไม่ใช่เรื่องแปลก ก็ในเมื่อศัตรูยกทัพมาประชิดเมืองหลวง ก็ต้องสู้ ถ้าไม่สู้ สถานการณ์ในเอธิโอเปียก็คงไม่ต่างจากอาฟกานิสถานในวันนี้ แต่สิ่งที่แปลกก็คือ คำพูดนี้ออกจากปากของผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาก่อนนั่นเอง
และตลอดระยะเวลาที่เกิดข้อพิพาทในเขตทิเกรย์ ก็ทำให้มีชาวเอธิโอเปียต้องเสียชีวิตเฉียดหมื่น พร้อมกับข่าวปล้น ฆ่า ข่มขืน ไม่เว้นแต่ละวัน ประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะอดอยาก และประชาชนต้องหนีตายข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้านไม่ต่ำกว่าหลักแสนคน
จนวันนี้องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง เพื่อหันหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจา และเรียกร้องให้ผู้นำอย่างอะบีย์ อาห์เหม็ด เร่งหยุดยั้งสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในเอธิโอเปีย อย่างที่เขาเคยทำได้มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ทำให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพมาแล้ว มิเช่นนั้นแล้ว จากภาพลักษณ์นักสันติภาพ อาจกลายเป็นอาชญากรสงครามในชั่วข้ามคืน!
1
เกิดอะไรขึ้นที่เอธิโอเปีย?
และเกิดอะไรขึ้นกับ อะบีย์ อาห์เหม็ด?
ก่อนที่จะรู้สาเหตุของปัญหา เรามาทำความเข้าใจกับ "ชาวเอธิโอเปีย" กันสักหน่อย
เอธิโอเปีย นั้นมีลักษณะคล้ายกับประเทศพม่าอยู่หลายประการ อย่างแรกคือเป็นประเทศที่มีชนเผ่าชาติพันธุ์น้อยใหญ่มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็ตั้งรกรากอาศัยแยกเป็นเขตของใคร ของมัน โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ ดังนี้
1
ชาวโอโรโม 34.6%
ชาวแอมฮารา 27.1%
ชาวโซมาลี 6.2%
ชาวทิเกรย์ 6.1%
ชาวซิดามา 4%
ชาวกุราจ 2.5%
ชาววีเลย์ทา 2.3%
ชาวฮาดิยา 1.7%
ชาวอะฟารี 1.7%
และชนเผ่าอื่นๆ 13.8%
1
จะเห็นได้ว่า ชาวโอโรโม มีประชากรมากที่สุดก็จริง แต่ชาติพันธุ์ที่รบเก่ง มีกองกำลังที่เข้มแข็ง และมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากกลับเป็นชาวทิเกรย์
และเช่นเดียวกันกับพม่า เอธิโอเปียก็เคยถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารสายคอมมิวนิสต์มาก่อน หลังจากที่โค่นอำนาจของ สมเด็จพระจักรพรรดิฮัยเลอ ซิลลาเซที่ 1 ในปี 1975 โดยคณะเดร็กที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต
1
แต่ต่อมาคณะเดร็กก็อ่อนแอลงหลังจากที่โซเวียตเข้าสู่ภาวะถดถอยจนล่มสลาย ก็เป็นจังหวะที่ชาติพันธุ์น้อยใหญ่ จัดตั้งกองกำลังของตัวเองต่อสู้กับรัฐบาลทหารคอมมิวนิสต์ ซึ่งกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุด และเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับคณะเดร็ก ก็คือ กองกำลังปลดแอกชาวทิเกรย์ หรือ Tigray People's Liberation Front (TPLF)
1
และก็ทำสำเร็จในปี 1991 สามารถโค่นล้มรัฐบาลของนาย เมินกึสทู ฮัยเลอ มารียัม ผู้นำจากคณะเดร็กคนสุดท้ายที่ลี้ภัยหนีไปซิมบับเว หลังถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตจากเหตุสงครามกลางเมืองในประเทศ และการบริหารงานที่ผิดพลาดจนเอธิโอเปียเข้าสู่ภาวะอดอยาก อย่างน่าเวทนาที่สุด จนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตาชาวโลกยามเมื่อพูดถึง"เอธิโอเปีย"
และปี 1991 นี้เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของคณะรัฐบาลเอธิโอเปียยุคใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า Ethiopian People's Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มการเมือง 4 พรรคใหญ่ คือ
- พรรคของชาวโอโรโม
- พรรคของชาวแอมฮารา
- พรรคของชาวซิดามา
- พรรค TPLF ของชาวทิเกรย์
และเอธิโอเปียก็ถูกปกครองภายใต้รัฐบาลของ 4 พันธมิตร EPRDF อย่างยาวนานถึง 28 ปี ซึ่งกองกำลังของชาวทิเกรย์ ก็เป็นหนึ่งแถวหน้าคนสำคัญของการเมืองเอธิโอเปียมาโดยตลอด จนกระทั่งการมาถึงของ อะบีย์ อาห์เหม็ด นายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นนักการเมืองดาวรุ่ง ผู้นำแสงแห่งสันติภาพและความหวังมาสู่เอธิโอเปีย คนนี้
แต่อะบีย์ อาห์เหม็ด ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี พลิกผันจากนักสันติภาพระดับรางวัลโนเบล ไปสู่อาชญากรสงครามที่อาจพาเอธิโอเปียกลับสู่ฝันร้ายในสงครามกลางเมืองในยุค เดอะเดร็ก คณะรัฐบาลทหารคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2 ได้ที่นี่
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
และ Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
***************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา