7 พ.ย. 2021 เวลา 08:29 • กีฬา
ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง
กีฬาฟุตบอลเป็นชนิดกีฬาที่มีระยะเวลาในการเล่นยาวนานมากกว่า 90 นาที โดยแบ่งการเล่นออกเป็น 2 ครึ่งๆ เวลาละ 45 นาที และมีช่วงเวลาพักครึ่งการแข่งขันระหว่างครึ่งแรก และครึ่งหลังเป็นระยะเวลา 15 นาทีซึ่งจะทำการนับเวลาจากการสิ้นสุดเสียงนกหวีดหมดครึ่งเวลาแรกไปจนกระทั่งถึงเสียงนกหวีดเริ่มครึ่งหลังจากผู้ตัดสินอีกครั้ง
⚽️
อย่างไรก็ตามแม้ว่ากีฬาฟุตบอลจะมีระยะเวลาในการเล่นถึง 90 นาทีแต่ในความเป็นจริงแล้วกีฬาฟุตบอลจะมีช่วงเวลาที่ลูกฟุตบอลอยู่ในการเล่นที่น้อยกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นจริงอยู่มาก โดยระยะเวลาที่สูญเสียไประหว่างการเล่นนั้นอาจเกิดขึ้นได้โดยตามธรรมชาติของการเล่น เช่น เมื่อลูกฟุตบอลออกเส้นข้างหรือออกเส้นหลังประตู, การบาดเจ็บของนักกีฬาภายหลังจากการเข้าปะทะหรือเสียบสกัดของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น โดยที่ช่วงเวลาที่ฟุตบอลอยู่ในการเล่นในสนามนั้นเราเรียกมันว่า “ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง” (Actual playing time)
⚽️
จากข้อมูลการศึกษาของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่านั้นพบว่า “ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง” โดยเฉลี่ยในรายการแข่งขันฟุตบอลของฟีฟ่านั้นอยู่ที่ประมาณ 60 นาที (59.32 นาที) แต่จะน้อยกว่า “ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง” โดยเฉลี่ยของการแข่งขันฟุตบอลในทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ ของสหภาพสมาคมยุโรปหรือยูฟ่าอยู่ถึง 4 นาที (ประมาณ 64 นาที) ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นที่เป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นในช่วงระหว่างปี 2012-2013 นั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียหรือเอเอฟซีจึงได้ทำการศึกษา “ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง” ในรายการแข่งขันทุกรายการของตนเองบ้างจึงพบว่า
“ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง” โดยเฉลี่ยของเอเอฟซีนั้นอยู่ที่ประมาณ 52 นาที ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริงของการแข่งขันฟุตบอลของเอเอฟซีนั้นอยู่ห่างจากการแข่งขันของฟีฟ่าอยู่ถึง 8 นาที และอยู่ห่างจากการแข่งขันของยูฟ่าอยู่ถึง 12 นาทีเลยทีเดียว
⚽️
ในขณะเดียวกันเมื่อมองย้อนไปถึงผลงานของทีมฟุตบอลจากชาติในทวีปเอเชียกับทีมชาติจากทวีปยุโรปเมื่อปี 2010 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศแอฟริกาใต้ก็จะพบว่าทีมที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศในอันดับ 1-3 ในครั้งนั้นคือทีมชาติที่มาจากประเทศในทวีปยุโรปทั้งสิ้นได้แก่ ทีมชาติสเปน, ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ และทีมชาติเยอรมนีตามลำดับ ส่วนทีมชาติจากทวีปเอเชียที่ทำผลงานได้ดีที่สุดคือทีมชาติเกาหลีใต้ และทีมชาติญี่ปุ่นที่ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย ส่วนตัวแทนจากทวีปเอเชียอีก 2 ทีมคือทีมชาติออสเตรเลีย และทีมชาติเกาหลีเหนือนั้นตกรอบแรก
⚽️
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าจะด้วยเพราะเหตุผลที่ว่า “ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริง” ที่แตกต่างกันค่อนข้างมากนั้นทำให้ผลงานของทีมชาติที่ออกมานั้นก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนอีกด้วย
และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางเอเอฟซีได้ทำการริเริ่มแคมเปญรณรงค์โครงการ “60 Minutes-Don’t Delay. Play!” นั่นคือทางเอเอฟซีมุ่งหวังให้การแข่งขันฟุตบอลในทุกรายการของเอเอฟซีนั้นมีช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริงให้ถึง 60 นาทีให้ได้เฉกเช่นเดียวกันกับค่าเฉลี่ยของการแข่งขันของฟีฟ่า โดยที่โครงการฯ นี้ได้มีจุดเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2013 แต่ได้กำหนดวันเริ่มโครงการจริงในวันที่ 10 ธันวาคม 2013 ในงานจับฉลากแบ่งสายฟุตบอลเอเอฟซีแชมเปี้ยนลีกส์ และฟุตบอลเอเอฟซีคัพ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวนี้จะไปจบภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีเอเชี่ยนคัพ 2015 ที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2015 รวมระยะเวลาตลอดทั้งโครงการรวม 13 เดือนโดยประมาณ
⚽️
การลดช่วงเวลาที่ถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์ในระหว่างการเล่น และการกระตุ้นให้เกิดการเล่นที่เป็นช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริงให้มากขึ้นนั้นคือเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพ และแนวทางการเล่นของทีมในทวีปเอเชียให้มีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล ทั้งในเรื่องของเทคนิค และเรื่องของสมรรถภาพทางร่างกายที่เป็นส่วนสำคัญกับการแข่งขัน โดยที่หากผู้เล่นเล่นหรือแข่งขันในลีกของตนอยู่ทุกๆ สัปดาห์โดยใช้เวลาหรือมีค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการเล่นที่แท้จริงน้อยกว่าช่วงเวลาที่แท้จริงเมื่อต้องไปแข่งขันในระดับชาติด้วยแล้วก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย
⚽️
การเพิ่มช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริงในการเล่นฟุตบอลทุกระดับนั้นไม่ได้ให้ผลดีแต่เฉพาะเรื่องในสนามแค่เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันยังเป็นผลดีต่อแฟนฟุตบอลที่จะได้รับชมการแข่งขันที่มีคุณภาพ มีความสุข มีความสนุกสนานจากการรับชมมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันที่มีคุณภาพสูงก็ย่อมดึงดูดให้มีผู้สนับสนุนมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งผลตอบแทนที่ตามมาก็คือมูลค่าของการลงทุนในอุตสาหกรรมฟุตบอลของประเทศนั้นๆ ก็ย่อมสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย
⚽️
ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเพื่อให้เกมฟุตบอลนั้นมีช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริงได้ถึง 60 นาทีนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลา ต้องทำอย่างมีกระบวนการ และมีความร่วมมือกันจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นตัวนักกีฬา, ผู้ฝึกสอน รวมถึงในส่วนของผู้ตัดสินด้วยเช่นกันที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำเอากฏกติกาการแข่งขันไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้โดยเฉพาะในส่วนของการได้เปรียบในการเล่น (Advantage) และการปล่อยให้เกมไหลลื่นไม่เป่าฟาวล์บ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น ฯลฯ
⚽️
สุดท้ายนี้แม้ว่าโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้นของทางเอเอฟซีจะปิดตัวลงไปกว่า 7 ปีแล้วก็ตาม ด้วยความสำคัญของจุดเริ่มต้นในวันนั้นที่ทำให้ช่วงเวลาการเล่นที่แท้จริงของการแข่งขันฟุตบอลในระดับต่างๆ ของเอเอฟซี รวมถึงในประเทศไทยของเราเองนั้นมีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาที่จะพัฒนาให้มาตรฐานการเล่นได้พัฒนาเทียบเท่าใกล้เคียงในระดับสากลต่อไป
โฆษณา