7 พ.ย. 2021 เวลา 05:11 • ธุรกิจ
พิษถุงมือมือสอง-เอดียางรถ สะเทือนส่งออก -ลงทุน เร่งกู้ความเชื่อมั่นด่วน!
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกปีละมากกว่า 3 แสนล้านบาท กำลังได้รับผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ที่ประดังเข้ามา ทั้งถูกสหรัฐใช้มาตรการเอดียางรถยนต์ ส่งออกถุงมือยางมือสอง จะหาทางออกอย่างไรนั้น หาคำตอบจากประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ดังต่อไปนี้
จากที่สหรัฐอเมริกาประกาศเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้ายางรถยนต์ที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศไทย ในอัตรา 13.25 - 22.21% ของราคา ซี ไอ เอฟ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ต่อด้วยคดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างถุงมือยางมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ของอดีตผู้บริหารองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ยังไล่บี้หาคนผิด และหาเงินมัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาท มาคืน อคส. ล่าสุดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของไทยยังเผชิญชะตากรรมที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือไม่รู้จบ เมื่อ CNN สื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกาตีข่าว มีต่างชาติมาใช้ไทยเป็นฐานส่งออกถุงมือยางที่ใช้แล้ว (ถุงมือยางมือสอง) ไปสหรัฐฯ ยังผลให้ผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางของไทยหลายบริษัทถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ สร้างความเดือดร้อนในวงกว้างในเวลานี้
จี้ทุกฝ่ายเร่งช่วยแก้ปัญหา
นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จาก 3 เรื่องใหญ่ข้างต้นมีผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งช่วยกันแก้ไขปัญหา เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องส่งออกถุงมือยางปนเปื้อนหรือถุงมือยางมือสองที่อาจมีผลต่อการสั่งซื้อหรือยกเลิกออร์เดอร์ รวมถึงในอนาคตผู้นำเข้าอาจขอให้ไทยมีความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นตามมา
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยในช่วงที่ผ่านมา ถึง ณ ปัจจุบัน มีสินค้าหลักคือ ยางล้อรถยนต์ ที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง รองลงมาคือ ถุงมือยางที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันจากทั่วโลกยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางทางการแพทย์เพื่อลดการสัมผัสเชื้อมากขึ้น ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลกรองจากมาเลเซีย ในปีที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางของไทยมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น (ข้อมูลสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ไทยมีโรงงานผลิตถุงมือยาง 19 โรงงาน กำลังผลิตรวม 4.6 หมื่นล้านชิ้นต่อปี)
ส่งออกถุงมือยางโตต่อเนื่อง
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2563 ไทยมีการส่งออกถุงมือยาง มูลค่า 72,657.21 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 95.02% เมื่อเทียบกับปี 2562 (กราฟิกประกอบ) โดยแง่ปริมาณมีการส่งออก 2.49 หมื่นล้านคู่ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ส่งออก 1.84 หมื่นล้านคู่
ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกถุงมือยางแล้วมูลค่า 80,064.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 77.73% ส่วนแง่ปริมาณมีการส่งออก 1.82 หมื่นล้านคู่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออก 1.83 หมื่นล้านคู่ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวมากกว่าปริมาณ ผลจากราคาถุงมือยางปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมัน และถุงมือยางสังเคราะห์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับตลาดส่งออกถุงมือยาง 5 อันดับแรกของไทย (9 เดือนแรกปี 2564) ประกอบด้วย สหรัฐฯ (สัดส่วน 46.91%) ออสเตรเลีย (4.68%) ญี่ปุ่น (4.16%) เกาหลีใต้ (4.09%) และจีน (3.03%)
ภาพรวมปีนี้-ปีหน้าชะลอตัว
นายชัยสิทธิ์ กล่าวอีกว่าทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยในภาพรวมปีนี้ (ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางวัลแคไนซ์ หลอดและท่อ ยางรัดของ และอื่นๆ ) คาดจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา (ปี 2563 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกประเภท 375,388 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.9%) จากสถานการณ์โควิดทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างประเทศลดลง ส่งผลถึงดีมานด์หรือความต้องการสินค้าลดลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวมาก รวมถึงเวลานี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญคือน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
“สำหรับภาพรวมการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยในปี 2565 โดยเฉพาะถุงมือยางจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นกว่าปีนี้หรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นกับสถานการณ์โควิดว่าถึงปีหน้าจะมียามารักษาได้หรือยัง เพราะวัคซีนเองคงไม่ใช่วิธีแก้ 100% และไม่ได้เป็นหลักประกันว่าทำให้ไม่ติดเชื้อ เพียงแต่ทำให้อาการไม่รุนแรงเท่านั้น และเมื่อฉีดครบ 2 เข็มแล้วก็ต้องฉีดบูสเตอร์ไปเรื่อย ๆ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้”
นอกจากนี้ขึ้นกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ว่าทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้ายังสูงปีหน้าก็จะยังเหนื่อยกันอยู่ เพราะเมื่อราคาน้ำมันแพงก็จะไปผลักให้ราคาโภคภัณฑ์ทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ รวมถึงวัตถุดิบด้านเคมีภัณฑ์ ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และขายยากขึ้น ความต้องการใช้ยางธรรมชาติอาจลดลง และกระทบต่อราคายางพาราของชาวสวนที่อาจปรับตัวลดลง รัฐบาลอาจต้องแบกรับภาระชดเชยประกันรายได้เพิ่มขึ้น เพราะราคายางที่สูงขึ้นในปัจจุบันเป็นเรื่องของการเก็งกำไร ไม่ได้สูงขึ้นจากดีมานด์ที่แท้จริง เปรียบเสมือน “ฟองสบู่” อย่างหนึ่ง
เอดียางรถยนต์จีนเบรกลงทุน
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง กล่าวถึงผลพวงจากที่ไทยถูกสหรัฐฯเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดว่า มีผลต่อราคาสินค้ายางล้อรถยนต์ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯสูงขึ้น ผู้นำเข้าอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการเอดีเพิ่มขึ้น เช่นจากอินโดนีเซียที่ถือเป็นคู่แข่งหลัก แต่อินโดนีเซียเองก็คงไม่สามารถขยายกำลังผลิตเพื่อรองรับความต้องการและชดเชยการนำเข้ายางล้อรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่เคยนำเข้าจากไทย หรือจากเกาหลีใต้ และเวียดนามที่ถูกใช้มาตรการเอดีพร้อมกับไทยได้ทั้งหมด
“การที่ยางล้อรถยนต์ของไทยถูกใช้มาตรการเอดีในครั้งนี้ ทำให้การแข่งขันของเรายากขึ้น เพราะสินค้าที่ส่งไปแพงขึ้น ตรงนี้แน่นอนว่าผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์ในไทยคงต้องไปหาตลาดอื่นเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ เช่น อาจหันไปหาตลาดยุโรป อเมริกาใต้ หรือตลาดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์รายใหญ่ของจีนประมาณ 4 โรงงานที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยก่อนหน้านี้ หลังเราถูกเอดีจะมีรายใหม่เข้ามาตั้งโรงงานเพิ่มเป็นโรงที่ 4 ที่ 5 หรือไม่ ก็คงไม่มีแล้ว” นายชัยสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
โฆษณา