8 พ.ย. 2021 เวลา 04:34 • หนังสือ
ถ้าแพ้ไม่ได้...เราก็จะไม่มีวันแพ้
1.
นี่คือนิทานเซ็นที่ผมประทับใจมาก อ่านแล้วประทับใจแม้จะผ่านมานับสิบ ๆ ปีแล้วก็ตาม
3
พระอาวุโสกับพระหนุ่มบวชใหม่ออกเดินทางไปด้วยกัน ระหว่างทางพบหญิงสาวแต่งชุดสวยยืนเก้ๆ กังๆ เธอไม่กล้าข้ามแอ่งน้ำเล็กๆ ข้างหน้า ด้วยกลัวชุดเปื้อน พระอาวุโสเห็นดังนั้น จึงตรงเข้าไปอุ้มหญิงสาวข้ามแอ่งน้ำนั้น พระหนุ่มอ้าปากค้าง ตกใจที่พระอาวุโสทำแบบนั้น แต่ก็ไม่กล้าปริปากถามอะไร
3
เดินไปด้วยกันสักชั่วโมง พระหนุ่มจึงตัดสินใจถามพระอาวุโส "ทำไมท่านถึงทำแบบเมื่อครู่นั้น มันไม่ผิดศีลเหรอที่ท่านสัมผัสตัวสตรี?"
1
พระอาวุโสฟังแล้วนิ่งไปสักครู่ ก่อนจะตอบออกมาว่า
"ข้าปล่อยเธอไปตั้งแต่ข้ามแอ่งน้ำแล้ว ท่านยังอุ้มหญิงคนนั้นไว้อีกหรือ?"
2.
นิทานเซ็นจบลงเพียงเท่านี้ แต่ชวนให้เราครุ่นคิดต่อไป "เรายังอุ้มหญิงสาวคนนั้นไว้อีกหรือเปล่า?" ...ผมหมายถึงเรื่องบางเรื่องผ่านไปตั้งนานแล้ว แต่เรายังยึดมั่นมันไว้อยู่หรือเปล่า?
คงบ้ามาก ถ้าใครสักคนขับรถแล้วเอาแต่มองกระจกหลังตลอดเวลา แต่คนจำนวนมากกลับใช้ชีวิตด้วยการนึกถึงแต่อดีต ...บางทีนี่แหละ บ้าของจริง
อันความหลังย่อมอยู่ข้างหลัง 
อันความหวังย่อมอยู่ข้างหน้า แต่บางคนชอบทำกลับกัน 
เอาความหลังไปอยู่ข้างหน้า 
แล้วเอาความหวังมาอยู่ข้างหลัง เศร้ากับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว
 ทำตัวเหมือนชีวิตหมดแล้วความหวัง กักขังตัวเองไว้กับอดีต ปิดประตูใส่อนาคตตัวเอง
5
เลิกคิดแบบนี้เถอะครับ เอาใหม่...วางอดีตลง แล้วจงก้าวต่อไป
3.
ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นเด็กเนิร์ดที่สอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียน เอนทรานซ์ติดคณะวิศวะ จุฬาฯ ทั้งที่ตอนนั้นผมไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าจุฬาฯ คือมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ แล้ววิศวะเขาเรียนอะไรกัน ผมก็ไม่รู้
รู้อย่างเดียวว่าชอบฟังเพลง ชอบเล่นกีตาร์ ชีวิตมหาวิิทยาลัยผมจึงอยู่ในห้องซ้อมดนตรีมากกว่าห้องเรียน จับกีตาร์บ่อยกว่าปากกา อ่านวรรณกรรมมากกว่าตำราเรียน และมีเทปคาสเส็ตสูงเป็นตั้งแทบจะชนเพดาน
รู้ตัวอีกทีผมก็จะจบปริญญาตรีแล้ว ทำยังไงดี? ผมถามตัวเอง เพราะไม่อยากทำงานอยู่ไซต์ก่อสร้าง ผมตัดสินใจซื้อเวลาด้วยการเรียนต่อปริญญาโท ที่คณะเดิม สถาบันเดิม ที่เพิ่มเติมคือผมพบกับความรัก...ซึ่งเพียงไม่นาน มันก็เปลี่ยนเป็นความผิดหวัง
แต่อกหักก็มีประโยชน์ของมัน เจ็บปวดในครั้งนั้นผมกลั่นเป็นเพลง ในห้องน้ำของห้อง 514 ราชเทวีอพาร์ทเมนท์ คือจุดกำเนิดความเป็นนักแต่งเพลงของผม ผมเดินเข้าไปในห้องน้ำ พร้อมกีตาร์โปร่งและซาวนด์เบาท์ ปิดประตู ปิดฝาชักโครก นั่งบนโถส้วม กดปุ่มบันทึกเสียงซาวด์เบาท์ (พูดตอนนี้แล้วเชยมาก) แล้วก็เริ่มบรรเลงเพลงที่แต่งขึ้นมาเอง
ผมส่งเพลงเหล่านี้ไปที่แกรมมี่ ทั้งที่ไม่รู้จักใคร มีเพียงชื่อที่คุ้นๆ ในปกเทป เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่า "นิติพงษ์ ห่อนาค"
1
4.
หนึ่งเดือนผ่านไป แพ็คลิงค์ดังขึ้น (เชยกว่าซาวด์เบาท์ได้อีก) มีข้อความเรียกให้ผมเข้าไปพบทีมนักแต่งเพลงย่านอโศก ...แปดเดือนหลังจากที่ผมต้องมาเรียนแต่งเพลงทุกสัปดาห์ ผมก็ได้ทำงานที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จึงกลายเป็นว่าผมก็แค่เรียนปริญญาโทให้จบไป เพราะได้งานในฝันเรียบร้อยแล้ว ...ตอนนั้นผมมีความสุขมาก
สิบปีผ่านไปไวเหมือนโกหก โดยไม่ทันตั้งตัว ซีดีประเทืองเอ็มพีสามเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพลงไปตลอดกาล คนฟังหันไปซื้อเพลง 100 เพลงในราคา 100 บาท ค่ายเพลงไปไม่เป็น ต้องลดค่าใช้จ่าย ลดพนักงานด้วยคำพูดเท่ ๆ ว่า "รีเอ็นจิเนียริ่ง"
ผมอยู่ในรายชื่อที่ถูกปรับให้ออก เอ็นจิเนียรุ่งริ่งอย่างผม ที่ไม่เคยทำงานเอ็นจิเนียร์แม้แต่วันเดียว จึงต้องออกหาโอกาสครั้งใหม่
...ผมไม่มีเวลาเสียใจ ไม่มีเวลาโหยหาอดีตกับอาชีพแสนรัก เพราะตอนนั้นลูกสาวคนโตเพิ่งคลอดได้ไม่นาน
5.
บางทีการจะตัดสินว่าเรื่องนั้นร้ายหรือดี อาจต้องให้เวลามันสักหน่อย เพราะการเปลี่ยนงานครั้งนั้น นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตผมอีกมากมายจนถึงทุกวันนี้
ภาพถ่ายโดย George Becker จาก Pexels
หลังถูกปลดจากตำแหน่งนักแต่งเพลงประจำ ชีวิตก็ลากผมขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาไปในงานที่ไม่คิดว่าจะได้ทำ ช่วงนั้นผมได้ทำงานเป็นครีเอทีฟคลื่นวิทยุ the radio 99.5 ของ พี่หมึก วิโรจน์ ควันธรรม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรจ ควันธรรม) โดยที่พี่หมึกไม่รู้เลยว่าผมเป็นคนไม่ฟังวิทยุ (เพราะชอบเปิดเพลงฟังเอง)
ระหว่างนั้น ผมยังได้ทำงานเขียนสคริปต์รายการโทรทัศน์ของ พอล ภัทรพล ทั้งที่ผมเป็นคนไม่ดูโทรทัศน์เลย (เพราะติดนิสัยตั้งแต่ตอนอยู่หอพักจุฬาฯ เขาห้ามนำทีวีส่วนตัวขึ้นมาไว้ในห้องพัก)
แต่แค่ปีเดียว คลื่นวิทยุก็ปิดตัวลง เรือเล็กออกจากฝั่งอีกครั้ง ผมมองหาโอกาสใหม่ และได้มาทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร MiX Magazine ของ คุณชโลทร ศิวารัตน์
6.
ทั้งที่ผมไม่เคยทำงานนิตยสารมาก่อน ตอนแรกสมัครงานมาเป็นครีเอทีฟ แต่ไม่รู้ว่าครีเอทีฟเขาต้องทำอะไร ตอนสัมภาษณ์งานก็เลยบอกไปว่า...ผมขอเปลี่ยนเป็นสมัครตำแหน่งบรรณาธิการก็แล้วกันครับ
...ไม่น่าเชื่อ เขาให้โอกาสผม!
ผมทำงานเป็นบรรณาธิการอยู่ที่นิตยสารดังกล่าวอยู่ 5 ปี เป็นการทำงานประจำที่นานที่สุด เป็นช่วงเวลาที่มีทั้งหวานและขม แต่ก็สอนอะไรให้กับผมมากมาย
ช่วงปีท้าย ๆ ของการทำงานที่นี่ ผมจับพลัดจับผลูได้เป็นบรรณาธิการพ็อกเก๊ตบุ๊กด้านการลงทุนให้กับสำนักพิมพ์ Stock2morrow ของพี่ป้อม ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ทั้งที่ตอนนั้นผมไม่รู้เรื่องหุ้นเลยสักนิด ทั้งหมดเกิดจากคำชวนของ แพท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ซึ่งผมไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าใครวะ?
ทุกวันนี้ผมถามแพทว่าทำไมชวนผมไปเป็นบรรณาธิการให้หนังสือของเขา เขาก็ยังนึกไม่ออก "นั่นสิ...ทำไม?"
7.
หลังจากทำงานเบื้องหลังให้หนังสือของคนอื่นได้ปีกว่า ๆ ผมได้รับโอกาสให้เขียนหนังสือของตัวเอง "งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า" ชื่อนี้พี่ป้อม ปิยพันธ์ เป็นคนคิดออกในร้านไอริชผับ ซอยคอนแวนต์ (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว)
ชื่อหนังสือดีมากครับ "งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า" แต่ปัญหาก็คือ ตอนนั้นผมยังทำงานประจำอยู่ที่ MiX Magazine ด้วยจรรยาบรรณ ผมจึงต้องลาออก (ฮา) และนั่นก็เป็นการทำงานประจำที่สุดท้ายของผม
...เรื่องราวหลังจากนั้น กลายเป็นตำนานส่วนตัวของผม หนังสือขายดีมาก ผมกลายเป็นที่รู้จักพอสมควร ออกหนังสือมาอีกหลายเล่ม ก็ได้รับความกรุณาจากผู้อ่านเป็นอย่างดี จากนักเขียน เริ่มมีงานบรรยายติดต่อเข้ามา ผมกลายเป็นวิทยากร เป็นนักพูด ...ทั้งที่เป็นคนเงียบมาก ๆ
จากเวทีสู่เวที ทุกวันนี้ยังไม่อยากเชื่อว่าผมเคยพูดบนเวทีใหญ่ระดับอิมแพ็คอารีน่าฮอลล์ ต่อหน้าคนเกือบหนึ่งหมื่นคน ...ได้สัมภาษณ์ลงนิตยสารหลายเล่ม ...ได้ออกรายการทีวีที่เคยดู
คุณว่าชีวิตผม "เหลือเชื่อ" มั้ยครับ?
1
8.
ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้จะอวดว่าชีวิตดีนักหนานะครับ ทุกวันนี้ ผมลดบทบาทตัวเองลงมาเยอะ เหมือนกลับคืนสู่ตัวตนของตัวเองอีกครั้ง ...ทำงานอยู่ที่บ้านเงียบ ๆ ไปรับลูกกลับจากโรงเรียน กินข้าวเย็นพร้อมหน้าพร้อมตากัน ชีวิตธรรมดาจนไม่มีอะไรจะเล่าให้ฟัง
ทั้งหมดทั้งปวง ผมแค่อยากจะบอกว่า เหตุการณ์ในอดีต มันไม่ได้สะท้อนมูลค่าในอนาคตของเราเลย อดีตอาจเจ็บปวด ปัจจุบันอาจยังสับสน แต่ถ้ายังเหลือความเชื่อว่า "เราทำได้" ถ้ายังกล้าถามตัวเองว่า "เราทำแล้วหรือยัง?" ถ้ายังเดินไปข้างหน้า ถ้ายังกล้าที่จะล้ม ถ้าไม่มัวก้ม...แต่เงยหน้าขึ้นมา ปลดปล่อยอดีต ให้ความหวังได้มีอนาคต เราทุกคนเริ่มใหม่ได้ครับ
"ถ้าแพ้ได้ เราก็จะแพ้ แต่ถ้าแพ้ไม่ได้ เราก็จะไม่มีวันแพ้" ผมเชื่อแบบนี้มาตลอด
1
แล้วคุณล่ะครับ แพ้ได้หรือเปล่า?
โฆษณา