8 พ.ย. 2021 เวลา 11:37 • หนังสือ
ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ให้เปลี่ยนคำถาม
1.
ไม่ใช่คำตอบที่เปลี่ยนแปลงตัวเราได้ ...แต่เป็นคำถามคุณภาพที่เราถามตัวเองต่างหาก บางคนชอบถามตัวเองแต่เรื่องในอดีต เช่น "ทำไมชีวิตที่ผ่านมามันแย่อย่างนี้?” บางคนชอบถามตัวเองแต่เรื่องในปัจจุบันวันนี้ เช่น "เย็นนี้ไปกินข้าวร้านไหนดี?” ในขณะที่บางคนชอบถามตัวเองในเรื่องอนาคต เช่น "ปีหน้าเราจะมีโปรเจ็คท์อะไรใหม่ ๆ บ้าง?”
12
ภาพถ่ายโดย Ann H จาก Pexels
แน่นอน ด้วยคำถามที่ต่างกัน คำตอบย่อมต่างกัน ผมคิดว่า "คุณภาพคำถาม" นั้นสำคัญถึงขั้นกำหนด "คุณภาพชีวิต" ได้เลย ถ้าเราไม่เคยถามตัวเองว่า "ทำอย่างไรฉันจึงจะประสบความสำเร็จ?" มันก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
5
เพราะฉะนั้นเราน่าจะลองถามคำถามดี ๆ กับตัวเองบ่อย ๆ เช่น แทนที่จะถามตัวเองว่าทำไมชีวิตมันแย่อย่างนี้วะ! (ซึ่งจริง ๆ นี่ไม่ใช่คำถามด้วยซ้ำ แต่เป็นคำบ่น) ก็่ให้เปลี่ยนมาถามตัวเองว่า
5
"ทำอย่างไรชีวิตฉันถึงจะดีขึ้นกว่านี้?”
8
2.
เมื่อก่อนตอนที่ชีวิตกำลังย่ำแย่ ผมชอบถามตััวเองว่า "ฉันทำอะไรผิดตรงไหนวะครับเนี่ย?" ซึ่งในที่สุดก็พบว่าไม่เวิร์ค เพราะมันเหมือนการเฝ้าโทษตัวเอง ไม่ได้เปิดสมองให้ลองคิดหาทางออก
2
...เอาใหม่ ผมลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น?" แม้ไม่ได้คำตอบในทันที แต่ก็เปลี่ยนโฟกัสความคิดไปได้เยอะ เพราะถ้าเราเอาแต่ถามตัวเองว่า "ในสถานการณ์แบบนี้ ฉันจะทำมันไปเพื่ออะไร?" ภาพในหัว คงไม่พ้นภาพแย่ ๆ ของทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และคงไม่แคล้วได้คำตอบว่า "นั่นสิ...จะทำเพื่ออะไร (วะ) งั้นเลิกดีกว่า!"
3
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ให้เป็น "ในสถานการณ์แบบนี้ ฉันจะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้บ้าง?" ทีนี้ภาพในหัวก็จะเปลี่ยนไปเป็นทางเลือกต่าง ๆ ที่จะทำให้เรื่องดีขึ้น แล้วเราก็แค่เลือกสักทางที่เหมาะที่สุด จากนั้นก็ไปต่อ
1
แค่เปลี่ยนคำถาม ภาพในหัวก็เปลี่ยน เมื่อภาพในหัวเปลี่ยน ความเชื่อก็จะเปลี่ยน เมื่อความเชื่อเปลี่ยน ความรู้สึกก็จะเปลี่ยน เมื่อความรู้สึกเปลี่ยน การกระทำก็จะเปลี่ยน เมื่อการกระทำเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยน และถ้าผลลัพธ์เปลี่ยน ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
5
เพราะฉะนั้นคงไม่เกินไป ถ้าผมจะบอกว่า "ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิต ให้เปลี่ยนคำถามที่เราถามกับตัวเอง"
3
3.
เคยเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่ได้ลิสต์ของที่จะซื้อมั้ยครับ? ใครที่เคย คงจะนึกออกว่าถ้าเดินเข้าไปแบบนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะหมดเงินมากเป็นพิเศษ ซื้อของที่ไม่คิดจะซื้อมาเต็มไปหมด ส่วนของที่คิดจะซื้อ ดันลืมเสียอย่างนั้น
3
...ชีวิตก็เหมือนกัน คนที่ไม่มีเป้าหมายก็มีแนวโน้มว่าจะมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าคนที่มีเป้าหมายชีวิต เพียงแต่สิ่งที่จ่ายอาจไม่ใช่เงินอย่างเดียว แต่คือเวลาที่สูญเสียไปเรื่อยๆ
4
จริงๆ แล้วขั้นตอนไปสู่ความสำเร็จ มีเพียง 3 ขั้นเท่านั้น คือ หนึ่ง รู้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร? สอง แล้วต้องทำอะไรบ้างถึงได้สิ่งนั้นมา? และสาม ลงมือทำสิ่งนั้นได้แล้ว ...แต่ปัญหาก็คือ คน 90% ตกบันไดตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร
3
ในมุมมองของผม นี่จึงคือคำถามระดับโลกที่เราต้องถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า
1
"ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?"
6
4.
ถามคำถามนี้ทุกวัน แล้วคำถามนี้จะค่อย ๆ เหลา ฝน ตะไบ ตัด ปาด วาด ลงสีภาพชีวิตทีละเล็กละน้อย จนกลายเป็นภาพที่เหมือนใจเรา
ไม่ต่างอะไรกับการป้อน Keyword ที่ชัดเจนซึ่งจะทำให้ Google ค้นหาสิ่งที่เราต้องการได้แม่นยำขึ้น ชีวิตก็เป็นแบบนั้น เป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเร็วขึ้น เพราะรู้ว่าอะไรสำคัญ​ และอะไรไม่สำคัญ
3
เรื่องแปลกอย่างหนึ่งก็คือ หลายครั้งที่่เรามีแค่เป้าหมายชัดเจนมาก แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร แต่ปรากฏว่าเพียงไม่นาน เส้นทางจะค่อย ๆ เผยตัวออกมา พาเราขยับเข้าใกล้เป้าหมายไปเรื่อย ๆ โดยที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นไปได้อย่างไร
...ก็เหมือนกับที่เราก็ไม่รู้นั่นแหละว่า Google ทำงานอย่างไร จึงค้นหาข้อมูลที่เราต้องการได้เร็วขนาดนั้น
1
อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเป้าหมายนั้นต้อง "ชัดเจน" เพียงพอ ไม่อย่างนั้นต่อให้ทางมาปรากฏอยู่ตรงหน้า เราก็ยังไม่รู้ว่ามันคือทาง เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน การตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน วัดผลไม่ได้ จึงมีค่าแทบไม่ต่างกับการไม่ตั้งเป้าหมายเลย เช่น บางคนบอกว่าเป้าหมายของฉันคือ ต่อไปนี้ฉันจะตั้งใจทำชีวิตให้ดีที่สุด! Yes! Yes! Yes!
2
...เชื่อผมสิครับ แบบนี้ไม่เกินสามวันก็หายคึก กลับไปนั่งนึกฝันนอนฝันเหมือนเดิม
1
5.
เอาใหม่ครับ ลองตั้งเป้าหมายอีกที คราวนี้ให้มีตัวเลขที่วัดได้และกรอบเวลา เช่น ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโล ภายใน 2 เดือน ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม ฉันจะมีพอร์ตหุ้น 1 ล้านบาท ฉันจะทำงานให้เสร็จ 3 อย่างก่อนเที่ยงคืนวันนี้
3
ฉันจะเกษียณตัวเองก่อนอายุ 45 ปี ...อะไรก็ได้ครับ ลองตั้งในแบบของเรา
ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ รากฐานจะก่อเกิดมาจากการได้นั่งเงียบ ๆ คุยกับตัวเอง ถามตัวเองด้วยคำถามคุณภาพนี้ว่า "ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?" "ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?" และ "ชีวิตนี้ ฉันต้องการอะไรกันแน่?"
3
ตอนแรก ความคิดจะฟุ้ง ๆ หน่อย ก็ให้จดไว้ แล้วค่อย ๆ เขียนให้ชัด จับต้องได้ วัดผลเป็นตัวเลขได้ มีกรอบเวลากำหนด มีเหตุผลหนักแน่น (จะได้ไม่ยอมแพ้กลางทาง)
1
...นั่นแหละที่ความฝันของเราเริ่มจับต้องได้ เพราะคำถามคุณภาพของเรา
2
6.
เราไม่เคยรู้สึกว่าไอโฟนเล็ก จนกระทั่งโลกนี้มีไอแพด และเราไม่เคยรู้สึกว่าไอแพดใหญ่ไป จนกระทั่งโลกนี้มีมินิไอแพด เราไม่เคยรู้สึกว่าเรามีน้อย จนกระทั่งเห็นคนมีมากกว่าเรา เราไม่เคยรู้สึกว่าเรามีมาก จนกระทั่งเห็นคนที่มีน้อยกว่าเรา
3
...โลกแห่งการรับรู้ของเราคือการเปรียบเทียบโดยแท้ มาก น้อย ใหญ่ เล็ก จึงไม่ใช่ความจริง แต่ขึ้นอยู่กับเราเทียบกับอะไรมากกว่า ...แต่คนเราก็มักเป็นทุกข์เพราะการเปรียบเทียบ
3
ในโลกที่พูดถึงเป้าหมายและความสำเร็จ จึงไม่แปลกที่เราจะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วถามตัวเองด้วยคำถามร้าย ๆ ว่า "ทำไมฉันยังไปไม่ถึงไหนเลยวะ" (และอีกครั้ง ...นี่ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำบ่น รำพึงรำพัน)
2
ทั้งที่จริง แต่ละคนมีภูเขาที่ต้องปีนกันคนละลูก แบกสัมภาระที่แตกต่างกัน จึงไม่ยุติธรรมกับตัวเอง ที่จะไปเปรียบเทียบว่าคนนั้นเขาปีนเร็วกว่าเรา เขาจะถึงยอดเขาแล้ว ...เรายังไม่ถึงไหนเลย
3
สู้ดี เปรียบเทียบตัวเรากับตัวเราจะดีกว่า ตัวเราวันนี้ปีนขึ้นมาสูงกว่าเมื่อวานหรือเปล่า? หรือยังย่ำอยู่กับที่? หรือกลิ้งตกลงไปที่ตีนเขา? ถ้าตกลงไป แล้วทำไมยังไม่ขึ้นมา?
3
ใครจะไปถึงยอดเขา ก็ช่างเขาสิ ก็นั่นมันยอด "เขา" ไม่ใช่ยอด "เรา"
10
เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วถามตัวเองด้วยคำถามคุณภาพว่า เราน่ะถึง "ยอดเรา" แล้วหรือยัง?
6
โฆษณา