8 พ.ย. 2021 เวลา 02:20 • ความคิดเห็น
การที่คน ๆ หนึ่งเกิดมาพร้อมกับนิสัยริษยา ไม่รักตัวเอง เห็นคนอื่น ๆ ประสบความสำเร็จไม่ได้ เพื่อน ๆ พอจะมีทางแก้หรือแนวทางยังไงในการปรับตัวให้สามารถอยู่บนโลกนี้ได้บ้างครับ ?
คำถามนี้ถูกลบ
(แชร์มาจากบทความที่เคยเขียนนะครับ)
หนึ่งสิ่งที่กัดกินมนุษย์จากภายในมาอย่างช้านานตั้งแต่โบราณกาลนั่นคือความอิจฉา ซึ่งบั่นทอนเราให้เป็นทุกข์จากการเห็นคนอื่นได้ดีไม่ได้
.
พอเห็นคนได้ดีก็อาจเกิดความรู้สึกได้ว่าเขาไม่เห็นสมควรที่จะได้รับสิ่งนั้นเลย ทำไมไม่เป็นเราที่ได้รับมันล่ะ เราไม่เหมาะสมตรงไหน เป็นวงจรลบของความงุนงงสงสัยที่คอยทำร้ายเราให้จิตใจอ่อนแอลงเรื่อย ๆ อันนำพาไปสู่ความรู้สึกไร้ค่าในตัวเอง
.
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีความเป็นวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทั้งการโฆษณาและผู้คนที่มักจะเลือกสื่อสารการมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่มีความสุข มีอาหารดี ๆ มีของใช้ดี ๆ (ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างใด) อันอาจทำให้ผู้เสพสื่อไม่ทันตั้งตัว ไม่ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้น จนเป็นความอิจฉาขึ้นมาได้ อีกทั้งยังสามารถสังเกตเห็นความอิจฉาได้จากละครทีวีที่มักจะเป็นสิ่งที่ตัวร้ายต้องมีไปแล้วถึงขั้นเรียกว่าตัวอิจฉากันเลยทีเดียวที่ไม่อยากให้ตัวเอกได้ดิบได้ดีและคอยตบตีกันอยู่เนือง ๆ
.
เป็นธรรมดาที่เมื่อเกิดความรู้สึกใด ๆ ขึ้นมาแล้วย่อมเพิ่มโอกาสหรือความน่าจะเป็นที่ผลักดันให้เกิดความคิดและการกระทำต่อมา ในกรณีของความอิจฉาจะเอื้อให้คนเราหาทางทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น หาทางทำให้คนอื่นไม่ได้ดี และอาจเลยไปถึงการหาพวกที่รู้สึกนึกคิดเหมือนกันก็ได้
.
เช่น พอมีคนได้ดีแล้วกลับมีคนมานินทาหรือด่าว่าทอให้เขาดูแย่ลง (ซึ่งก็เป็นเพียงแค่ในสายตาผู้กล่าวและคนที่คิดเหมือนกันเท่านั้น) แล้วเกิดความรู้สึกดีขึ้นมาเองว่าฉันนั้นดีกว่า เธอไม่เห็นจะดีตรงไหน ฉันทำตั้งอย่างนู้นอย่างนี้ทำไมไม่สมควรได้ เธอทำแค่นั้นเองแล้วได้ดีไม่เห็นจะน่าชื่นชมตรงไหนเลย หรือเป็นการคิดกับตัวเองว่าทำไมฉันมันไม่มีความสามารถทำให้ได้อย่างเขาบ้างเกิดเป็นความเศร้าซึมในใจขึ้นมา เป็นต้น
.
ซึ่งจริง ๆ คนที่มีความรู้สึกเหล่านี้ก็ไม่ได้ผิด และไม่ได้มีใครผิดทั้งนั้น สิ่งนี้เกิดจากกลไกการป้องกันตัวเองอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถรับรู้ได้หากสังเกตไปในจิตใจ เป็นการปกป้องภายในตนเอง ที่แท้จริงแล้วรู้สึกอ่อนแอ บอบบาง เหมือนเต่าที่มีกระดองอันแข็งแกร่งไว้ป้องกันภัยที่จะมาทำร้ายร่างกายอันบอบบางภายใน แต่ก็คอยกัดกร่อนความรู้สึกของเราไปโดยไม่รู้ตัวด้วย กลไกนี้นั้นเกิดได้แนบเนียนมากโดยเฉพาะตอนเราเผลอตัว อีกทั้งบางทีทำให้เราไม่สามารถที่จะยอมรับมันเลยก็ได้ เพราะการยอมรับในส่วนที่อ่อนแอของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
.
และยังเกิดได้จากความรู้สึกลึก ๆ ว่าตนไร้ค่า หรือไม่มีคุณค่า หรือมีความนับถือในตัวเองน้อย (self-esteem) จนอาจส่งผลให้ไม่เห็นคุณค่าในตัวคนอื่นหรือสิ่งอื่นที่เขาเหล่านั้นสมควรได้รับแล้ว
.
ในการรับมือหรือการเยียวยาความอิจฉาจึงเป็นการเพิ่มความนับถือตัวเอง เข้าใจสถานการณ์ในองค์รวม เข้าใจตนเองและการเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น ดังนี้
(1)
‘เห็นโทษของความอิจฉา’ ว่าแท้จริงแล้วมีแต่ด้านลบโดยเฉพาะกับตนเอง ความอิจฉาไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาใด ๆ ในตนเองเลย อาจทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นมาเพียงชั่วคราวบ้างก็จริงอยู่ แต่มันก็เป็นเพียงการไม่ยอมรับตัวเองว่าเรายังมีอะไรที่เป็นจุดด้อยในตัวเองบ้างที่รอคอยให้เราไปเสริมมันอยู่
(2)
‘อย่างน้อยให้ลองเปลี่ยนความรู้สึก’ ให้กลายเป็นแรงใจแข่งขันกับคนอื่นก็ยังดี เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เราพัฒนา
(3)
‘กว่าคนอื่นเขาจะได้ดีย่อมต้องผ่านอะไรมา’ ที่ใช้ความอดทนและความพยายามจนเขาเป็นเขาในทุกวันนี้ได้ และนี่ถึงจุดที่เขาสมควรได้รับแล้ว
(4)
‘ฝึกยินดีกับผู้อื่นให้เป็น และเคารพผู้อื่น’ สร้างจิตมุฑิตาที่จะทำให้เราเกิดความสุขที่แท้จริงขึ้นมาได้ และการไม่เห็นดีกับสิ่งที่คนอื่นได้ คนที่ได้รับผลกระทบแรกนั้นย่อมเป็นตัวเราเอง
(5)
‘ให้พอใจ เห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น’ จะเป็นการเพิ่มการนับถือตัวเอง ทุกคนย่อมมีดีในตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะ (ยอม) มองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง
(6)
‘ลดการเปรียบเทียบ’ เพราะการเปรียบเทียบย่อมเกิดผู้ที่ด้อยกว่าและเหนือกว่าเป็นธรรมดา รวมถึงการเปรียบเทียบกับตัวเองด้วย คนเราย่อมมีทางเป็นของตัวเอง ณ ช่วงเวลานั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพอไม่ได้เปรียบเทียบแล้วก็ไม่ต้องพัฒนาใด ๆ แต่ให้พัฒนาโดยการสังเกตตนเองและผู้อื่นว่าเราสามารถทำอะไรได้อีกบ้างให้เติบโตต่อไป
(7)
‘ถามตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไร’ ในทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกอิจฉาขึ้นอย่างซื่อตรงและซื่อสัตย์กับตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และค่อย ๆ โอบกอดยอมรับตัวเอง
(8)
‘ฝึกขอบคุณ’ เพราะการที่จะขอบคุณจากใจได้จริง ๆ เราย่อมต้องมองเห็นแง่ดีงามอันมีคุณค่าในสิ่งนั้น ๆ เป็นการจับดีเพื่อให้เห็นความสวยงามรอบตัว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความนับถือตัวเองได้ง่าย ๆ อีกด้วย
.
.
.
เช่นเคยครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข มีแรงใจในการพัฒนาตนเอง และเติบโตอย่างทรงพลัง
.
บรรณานุกรม
- The Psychology and Philosophy of Envy
- ทำไมเราชอบอวดชีวิตในโซเชียล?
โฆษณา