9 พ.ย. 2021 เวลา 06:00 • ท่องเที่ยว
เดินทอดน่อง สะพายกล้องไปวัดอรุณ
โบสถ์น้อยหน้าพระปรางค์วัดอรุณภายในมีพระรูปหล่อพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มา: ผู้เขียน
เมื่อวานนี้เรามีโอกาสได้ไปเที่ยววันอรุณราชวราราม หรือ อีกชื่อหนึ่งก็คือวัดแจ้ง เราตื่นเต้นนะ เพราะเคยเห็นภาพวัดนี้จากริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายครั้ง ยิ่งเห็นตอนกลางคืนเวลาเค้าเอาแสงสปอตไลด์ส่องกระทบยอดพระปรางค์เป็นสีทองอร่ามสวยจับจิตจับใจจริงๆ ในใจก็คิดว่าซักวันนึงฉันต้องได้ขึ้นไปชมความงามจากบนยอดพระปรางค์นี้ให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ไปซักที จนพี่ Russell Crowe เค้าลงทวิตไปเที่ยววัดอรุณมา เราก็เลยเกิดแรงฮึด อยากไปกะเค้าบ้าง
คณะของเราเดินทางใช้เวลาไม่นานมากนักก็ถึงที่หมาย พวกเราจอดรถที่หน้าวัดเลยซึ่งถือว่าโชคดีและเซอไพรส์มาก ๆ ที่มีที่จอด ที่เป็นแบบนี้ก็คงเพราะเพิ่งเปิดประเทศนั่นแหละ ถ้าในเวลาปกติคงจะยาก
พระปรางค์วัดอรุณในมุมต่าง ๆ ที่มา: ผู้เขียน
พวกเรามาถึงวัดเวลาแดดร้อนกำลังดี ประมาณ 10 โมงครึ่ง เดินไปตามทางที่เจ้าหน้าที่เค้าบอกไม่นานก็เห็นพระปรางค์องค์ใหญ่มหึมา พื้นสีขาวประดับกระเบื้องเคลือบหลากสี ซึ่งตามที่เราเสริชจากเน็ตมากระเบื้องพวกนี้ทำมาจากชิ้นส่วนของชามเบญจรงค์ บางส่วนมาจากถ้วยและชามกระเบื้องเคลือบจากเมืองจีน และเปลือกหอย (อันนี้ในความคิดเรา ๆ ว่าเก๋มาก) ซึ่งเพื่อน ๆ ที่เคยเห็นก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก กระเบื้องสีถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยประดับเป็นลวดลายให้กับพระปรางค์ ซึ่งมีมากกว่า 100 ลาย มันบ่งบอกถึงฝีมือและความอุตสาหะของช่างยุคโบราณได้เป็นอย่างดี ตัวพระปรางค์เองก็มีขนาดใหญ่มาก องค์พระปรางค์หลักวัดจากฐานถึงยอดมีความสูงถึง 81.85 เมตร เวลาเข้าไปดูใกล้ ๆ ต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่าเลยทีเดียว
ความสูงใหญ่ขององค์พระปรางค์วัดอรุณ ที่มา: ผู้เขียน
นอกจากพระปรางค์หลักแล้วยังมีพระปรางค์องค์รองอีก 4 องค์ ตั้งอยู่ล้อมรอบพระปรางค์หลักทั้ง 4 ทิศ ที่ฐานของพระปรางค์แต่ละองค์ก็มีลายปูนปั้นประดับทำเป็นรูป ยักษ์ เทวดา กินนร กินรี และ พญาครุฑ เราสังเกตุดูลายปูนปั้นพี่ยักษ์แต่ล่ะตนมีหน้าตา ตลอดจนเสื้อผ้าและเครื่องประดับแตกต่างกัน เรียกว่าไม่ซ้ำกันเลยซักตน ! (งานละเอียดนะเนี่ย)
ด้วยความที่แดดกำลังดีเวลาถ่ายภาพออกมาจะได้ภาพที่สีสวยคมชัด เราและคณะก็เลยสู้ตาย แม้อากาศจะร้อนมากชนิดเสื้อเปียก ! แต่ฉันไม่ยั้นจ้า ! กดชัตเตอร์รัว ๆ ได้ภาพสวย ๆ กลับมาจุใจมากกกก
รูปปูนปั้นยักษ์ที่ฐานพระปรางค์วัดอรุณแต่ล่ะตนมีใบหน้าและเครื่องทรงต่างกัน ที่มา: ผู้เขียน
ผ่านไปได้ซักชั่วโมงนิด ๆ หลังจากถ่ายรูปบนพระปรางค์กันอย่างจุใจแล้ว ทีนี้ก็ถึงคราวที่จะต้องปีนลงจากพระปรางค์ ใช้แล้วค่ะเราใช้คำว่าปีน เพราะขั้นบันไดขึ้นพระปรางค์วัดอรุณนี่จัดว่าปราบเซียนอยู่เหมือนกัน ขั้นบันไดสูงและชันมากกกกก (ไม่ได้โม้ ขอให้ดูจากในรูป)
เราจะเดินลงไปแบบสวย ๆ ก็รู้สึกว่าใจมันหวิว ๆ ขามันสั่น ๆ เหลียวไปเห็นน้องข้าง ๆ ถามเค้าว่า “เออ ? น้องค่ะ บันไดอีกฝั่งนึงมันชันน้อยกว่านี้มั๊ยค่ะ” น้องทำหน้าเฉย ๆ แล้วตอบกลับมาว่า “อ๋อ มันชันเหมือนกันเลยค่ะพี่” เอาล่ะหว่าจะทำยังไงกันดีล่ะทีนี้ จะให้ใครมาช่วยจูงลงก็คงไม่ดี จะค่อย ๆ นั่งถัดตัวลงไปจนถึงบันไดขั้นสุดท้าย ก็... อืม...ดูจะไม่งาม
สุดท้ายฉันต้องค่อย ๆ เดินไปชิดองค์พระปรางค์ แล้วค่อย ๆ จับองค์พระปรางค์พยุงตัว ค่อย ๆ ก้าวลงมาทีล่ะขั้น จนถึงพื้นล่างอย่างปลอดภัย (พักปาดเหงื่อแป๊บนึง)
ความชันของขั้นบันได ที่มา: ผู้เขียน
วัดอรุณนี้นะเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งชาวบ้านก็รู้จักวัดนี้กันดี ในชื่อ “วัดมะกอกนอก” ในสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสด็จมาทางเรือมาถึงวัดนี้ตอนรุ่งเช้าซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี จึงทรงเสด็จขึ้นไปสักการะพระมหาธาตุที่วัด ครั้นพอมีการตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี พระองค์ได้มีการสร้างพระราชวัง (กรมอู่ทหารเรือปัจจุบัน) ขึ้นโดยมีอาณาเขตติดกับวัดอรุณ และได้มีการบูรณะวัดอรุณและเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” พร้อมทั้งมีการยกให้วัดอรุณเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง
ลวดลายกระเบื้องเคลือบที่ประดับพระปรางค์ ที่มา: ผู้เขียน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็มีการบูรณะวัดอรุณขึ้นอีกครั้งโดยในครั้งนี้ได้มีการขยายองค์พระปรางค์เดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จาก ความสูงเพียง 16 เมตร เป็น 81.85 เมตร พร้อมทั้งได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชธาราม”
การปฏิสังขรนั้นมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยรูปแบบพระปรางค์นั้นจัดได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรูปทรงที่เรียกว่า “ทรงจอมแห” คือฐานกว้างแล้วค่อย ๆ เรียวลงไปถึงยอด ซึ่งรูปแบบพระปรางค์เป็นการผสมผสานสถาปัตยากรรมของช่างสมัยรัตนโกสินทร์กับอิทธิพลของศิลปะแบบขอมของสมัยอยุธยาได้อย่างลงตัว
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมและมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
พระปรางค์วัดอรุณได้รับการบูรณะมาเป็นระยะ ๆ ครั้งล่าสุด ในปี พ. ศ. 2556 แล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งการบูรณะครั้งนี้นำมาซึ่งดราม่ามากมาย ที่หนัก ๆ ก็ คือ ฝีมือช่างที่ทำการบูรณะไม่ปราณีตเทียบเท่าช่างสมัยโบราณ พื้นปูนที่สีขาวของพระปรางค์กลบลวดลายกระเบื้องประดับจนลดความโดดเด่นลง ซึ่งโดยส่วนตัวเราไม่เคยเห็นพระปรางค์ก่อนทำการบูรณะใกล้ ๆ เลยเอารูปถ่ายมาให้เพื่อน ๆ ลองดูแล้วตัดสินกันเอาเองแล้วกัน
รูปเปรียบเทียบก่อนและหลังบูรณะวัดอรุณ ที่มา: https://mgronline.com/live/detail/9600000083936
เราอยู่เที่ยวชมบริเวณรอบ ๆ วัดกันต่อจนถึงเที่ยงก็นั่งแพข้ามฝากมาฝั่งท่าเตียนเพื่อหาข้าวเที่ยงทานกัน จบทริปนี้เรารู้สึกดีและก็เกิดความภาคภูมิใจนิด ๆ นะ รู้สึกขอบคุณและชื่นชมบรรพบุรุษที่สร้างสรรค์สิ่งที่งดงามวิจิตรบรรจงแบบนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม จนทำให้เราเกิดแรงบรรดาลใจ คิดหยิบกล้องตัวเก่าที่ซุกไว้ในลิ้นชักมาหลายปี เอามาปัดวุ่นเตรียมไว้สำหรับการเดินทางในครั้งหน้า ว่าแต่หมายกำหนดการจะเป็นที่ใดก็ขอฝากไว้ให้เพื่อน ๆ ลองติดตามชมก็แล้วกัน...
ความใหญ่โตของพระปรางค์ สังเกตุลวดลายแบบจนที่ฐานพระปรางค์ ที่มา: ผู้เขียน
ยักษ์วัดแจ้งในตำนาน ที่มา: ผู้เขียน
แหล่งข้อมูล
บูรณะพระปรางค์วัดอรุณ ช่างฝีมือไม่ถึงไม่ใช่แค่ดราม่าแต่ถามหาความรับผิดชอบจากกรมศิลป์, ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 19 สิงหาคม 2560
พระปรางค์วัดอรุณ : เสนอรื้อระบบบูรณะโบราณสถาน, BBC NEWS | ไทย 5 กันยายน 2017
เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต, เปลือยโครงสร้างวัดอรุณฯ ผ่านหนังสือใหม่ แบบรังวัดสถาปัตยากรรมวัดอรุณราชวราราม
เกร็ดประวัติวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
โฆษณา