13 พ.ย. 2021 เวลา 02:00 • หนังสือ
Measure What Matters, John Doerr
หนังสือที่แนะนำโดย Bill Gates สำหรับระดับ management level ขึ้นไป ครับ...ก็ไม่รู้จะอ่านไปหาอะไร ผู้จัดการก็ไม่ใช่ ธุรกิจก็ไม่มี (และไม่คิดว่าจะมีในช่วงเวลานี้) สรุปคืออ่านเอามัน
อ่ะๆ แต่ถ้าจะให้จริงจังหน่อยก็คือเคยศึกษา OKRs (Objective and Key results) มาบ้าง และเคยเอามาใช้กับตัวเองบ้าง (ตอนนี้ล่ะ...เลิกแล้ว 55) เลยคิดว่าจะอ่านเล่มนี้ซึ่งก็นานมาแล้ว (สัก 2 ปีที่แล้วมั้ง) จนมาเจอลดครึ่งราคาเลยเอาวะ อ่านซะหน่อย
John Doerr อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลูกหม้อของ Andy Grove อดีต CEO Intel ที่ตอนนี้เสด็จสู่วสรรคาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัว Andy เองเป็นผู้ให้กำเนิด MBOs (Management by Objectives) ที่ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของ OKRs ก็ว่าได้
ส่วนตัว John เองหลังจากที่ออกจาก Intel ก็ไปเป็น VC ที่ Kleiner Perkins เฟ้นหา Start-up เจ๋งๆ มาเข้าพอร์ต ซึ่งก็ไม่ได้แค่เอาเงินไปให้แล้วก็ปล่อยไปตามยถากรรม แต่ไปเป็น mentor ให้ด้วย หนึ่งในวิชาที่เอาไปสอนให้เหล่า founder ใช้ในการทำธุรกิจให้อยู่รอดไม่สู่ขิตก็คือ OKRs นี่ล่ะ
ทีนี้ OKRs คืออะไร (ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า) ถ้าให้คุ้นๆ ในบ้านเราก็น่าจะคล้ายๆ KPI ก็คือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของงานรูปแบบหนึ่ง แต่ OKRs ออกจะก๋ากั่นกว่า เฟียสกว่า แพงกว่า เลยเป็นที่นิยมในหมู่บริษัทชั้นนำ และตอนนี้ก็ลามมาถึงองค์กรรัฐ (ในไทยยังมีเลยจ้า เกาะกระแสชิบหาย)
เพราะ OKRs จะเน้นวัดแต่สิ่งที่ทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด (ที่ชอบเรียกภาษาหล่อๆ กันว่า 10X, moonshot เนี่ยแหละ) ไม่ได้สักแต่ว่าวัด วัดไปเรื่อย วัดกันจนสเกาเตอร์แตก แต่ก็ไม่ยังประโยชน์อันใด
ส่วนประกอบของ OKRs มีสองส่วนได้แก่ Objective (O) และ Key results (KRs) (ครับ) ซึ่ง O ก็คือ สิ่งที่องค์กรจะเอาให้ได้ จะไปให้ถึง ส่วน KRs คือตัวชี้วัดว่าเราทำ O สำเร็จแล้ว
สมมติเช่น O คือ อยากคืนความสุขให้กับประชาชน กรณีนี้ KRs ก็อาจจะเป็น 1) ทำรัฐประหารให้สำเร็จ 2) ตั้งองค์กรอิสระ 3) เป็นนายก 4) แต่งเพลง เป็นต้น (มึงจะไม่ถามประชาชนเลยใช่มั้ยเนี่ย)
อย่างไรก็ตาม KRs ควร measurable & timebound ตัวอย่าง KRs ข้างต้นจึงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนัก เราอาจจะต้องเพิ่มเติม เช่น ทำรัฐประหารโดยมีการออกมาประท้วงจากประชาชนไม่เกินร้อยละ 1 ของประชากรทั่วประเทศ ภายใน 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้น
ให้สังเกตว่า KRs ไม่ใช่กระบวนการ ไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอย่างไร แค่บอกว่าต้องทำให้ได้ผลอย่างนี้ ซึ่งในส่วนของกระบวนการนั้นเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องไป define กันอีกที
องค์ประกอบของ OKRs ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าอย่างเดียว สิ่งสำคัญจริงๆ คือการใช้งาน จะมาตั้งเป้าอย่างหงส์ แต่ลงมือปฏิบัติอย่างหมาไม่ได้ ซึ่งการเขียน OKRs จะเกิดในทุกระดับตั้งแต่องค์กร/หน่วยงานไปจนถึงบุคคล โดย OKRs ที่ดีควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มี alignment หมายถึง OKRs ในทุกระดับต้องมีความสอดคล้อง ไม่ขัดแย้งกันทั้ง vertically และ horizontally อย่างถ้าเป้าองค์กรคือการคืนความสุขให้ประชาชน แล้วเราจะมายืนชูสามนิ้วเรียกร้องประชาธิปไตยอันนี้ก็ดูจะไม่ใช่ (อีพวกสามกีบ ชังชาติ!!!)
2. มี commitment ตั้งแล้วก็ทำ จะมา set it and forget it ก็ไม่ไหวนะ OKRs ไม่ใช่ป้ายหลุมศพบรรพบุรุษจะได้ตั้งไว้เฉยๆ ให้บูชา อยากถูกหวยแต่ไม่เคยซื้อหวยชาตินี้ก็คงจะถูกละมั้ง OKRs ฉันใดก็ฉันนั้น
3. ควรจะ stretch/aspirational แต่ realistic คือต้องตั้งเป้าให้เว่อหน่อย ความรู้สึกประมาณว่าไม่ค่อยมั่นใจว่าจะสำเร็จมากนัก คือถ้ามั่นใจว่าสำเร็จแน่ๆ อันนี้ไม่ aspire ละ
ทีนี้การจะเกิด 1-3 ได้ สิ่งที่องค์กรพึงต้องมีนั้น ประกอบไปด้วย
4. radical transparency การเปิดเผย OKRs ของแต่ละคนในองค์กรให้ทุกคนในองค์กรรับรู้ และเข้าถึงโดยง่ายตลอดเวลา เป็นการสร้าง peer-pressure ทางหนึ่ง รวมถึงช่วยทำให้คนในองค์กรเห็นว่างานของเราช่วยสนับสนุนใคร/หน่วยงานใดบ้าง
5. psychological safety เคยมั้ยตอนเด็กตอบคำถามผิดแล้วโดนครูด่า ความรู้สึกหลังจากนั้นคืออะไร หลายๆ คนก็คงไม่กล้าตอบคำถามอีกต่อไป (ยกเว้นโดนเรียก) ในองค์กรก็เหมือนกัน การที่คนในองค์กรทำพลาดเป้าแล้วโดนทำโทษ ผลก็คือต่อไปก็จะไม่มีใครอยากทำอะไรนอกกรอบ ไม่มีใครกล้าตั้งเป้าใหญ่ๆ อีก องค์กรจึงควรยอมรับความผิดพลาดของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีเหตุผล (เน้น!! อย่างมีเหตุผล)
6. track and edit เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า รวมถึงความสำคัญของ OKRs ที่กำลังทำอยู่ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็มักจะทำเป็น one-on-one session อาจจะสัปดาห์หรือเดือนละครั้ง ขึ้นกับ pace ขององค์กรว่าต้องการความเร็วมากน้อยแค่ไหน
แต่...ช้าก่อนพาดาวันหนุ่ม ส่วนสำคัญที่สุดต่อ OKRs และอาจจะสำคัญที่สุดต่อการจัดการองค์กรนั้นก็คือ...
7. culture มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริงก็นี่ละจ่ะ เขียน vision & mission สวยหรูแค่ไหน เขียนแนวปฏิบัติละเอียดอย่างไร ถ้าสันดานองค์กรมันไม่ใช่ ที่ฝันไว้ก็คงได้แค่ฝัน อีที่พูดมา 6 ข้อก่อนหน้า ไม่เกิดแน่นอน (สร้าง culture ให้ดีได้ยังไง อันนี้ไม่ขอพูดถึงเพราะก็ไม่รู้ 55)
สุดท้าย OKRs ไม่ใช่ยาผีบอกที่พอใช้แล้วบริษัทก็จะพุ่งแรงแซงทุกโค้ง แต่ OKRs ก็แค่เครื่องมือหนึ่ง เอาจริงๆ ก็เหมือนเข็มทิศซะมากกว่า ซึ่งถ้ากัปตันเรือไม่บังคับเรือไปตามทิศที่ถูกต้องให้ตายก็ไม่ถึงจุดหมายดังที่ John Doerr ได้กล่าวไว้ว่า 'Ideas are easy. Execution is everything.'
Disclaimer: ตัวอย่างในบทความนี้เป็นการสมมติขึ้นทั้งหมด
สรุป อ่านแล้วคึก มานั่งตั้ง OKRs ตัวเองอีกรอบหลังจากที่หายไปนาน แล้วก็วนมาปัญหาเดิมคือมีพันล้านสิ่งที่อยากจะทำ และก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอาอะไรก่อน อะไรสำคัญกว่า (แต่ก็เลือกนะ สุดท้ายจะไปรอดได้นานแค่ไหน 55)
โฆษณา