11 พ.ย. 2021 เวลา 00:07 • การศึกษา
“การศึกษาไทย” รั้งท้ายอาเซียน
11
ที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาไทยได้ถดถอยลงมาก มาอยู่เป็นอันดับท้ายๆ ในอาเซียน วันนี้เราจะมาเจาะลึกข้อมูลกันว่าการศึกษาไทยไม่ดีจริงหรือไม่ และเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร
เครื่องวัดความสำเร็จของการศึกษาในประเทศมีหลายตัวชี้วัดด้วยกัน อย่างแรก คือ การทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ (PISA) หากย้อนกลับไปดูผลการทดสอบครั้งล่าสุดในปี 2018 จะพบว่าประเทศไทยแพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและสิงคโปร์ขาดลอย ทั้งในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จากการวิเคราะห์พบว่านักเรียนไทยมีจุดอ่อนอยู่ที่การอ่าน โดยคะแนนด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
3
อันดับคะแนน PISA ในปี 2018
ผลการประเมินคะแนน PISA ด้านการจ่าย
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้นักเรียนไทยมีผลคะแนนสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีเพียงแค่กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองมีชื่อเสียงเท่านั้น ที่สามารถทำคะแนนเทียบเท่านักเรียนต่างชาติได้ โดยนักเรียนจากโรงเรียนที่เน้นการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และโรงเรียนในกลุ่มสาธิตเท่านั้นที่มีคะแนนเฉลี่ย PISA สูงกว่ามาตรฐานที่ระดับ 500 คะแนน ส่วนนักเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีคะแนนน้อยกว่า 400 คะแนน
4
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกในปี 2021 ที่ตัวแทนประเทศไทยสามารถทำคะแนนรวมได้เป็นลำดับที่ 16 จาก 107 ประเทศ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพ อย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
2
เมื่อพิจารณาถึงทักษะด้านภาษาอังกฤษ จากผลการวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำมาก และถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 9 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ทำการสำรวจ โดยประเทศในอาเซียนที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูงมากมีเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งอยู่ที่อันดับ 10 ของโลก
2
จากผลสำรวจของ We are Social ปี 2020 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่จากรายงานการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก พบว่าคนไทยที่มีทักษะด้านดิจิทัลมีอยู่เพียงร้อยละ 54.9 และเมื่อเปรียบเทียบอันดับทักษะดิจิทัลกับประเทศในอาเซียนแล้ว พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 3 จาก 5 ประเทศอาเซียนที่ทำการสำรวจ
2
เมื่อดูจากตัวชี้วัดโดยรวมแล้วก็คงไม่ผิดที่จะพูดว่าการศึกษาไทยสอบตกหรือยังไม่น่าพอใจในทุกด้าน โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทยอย่างจุฬาฯ มหิดล และธรรมศาสตร์ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 208, 252 และ 262 จาก QS World University Rankings 2021 ในขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของสิงคโปร์ และมาเลเซีย อยู่ในลำดับที่ 11 และ 87 ตามลำดับ
2
ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ที่จบการศึกษาจากสายงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยลดลงเฉลี่ย 1.4% ต่อปี ซึ่งจากรายงานของ JETRO Bangkok มีการเรียกร้องจากบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยถึงปัญหาการขาดแคลนวิศวกรเป็นจำนวนมาก
1
📌 ทำไมสิงคโปร์ถึงประสบความสำเร็จด้านการศึกษา
ในโครงการ PISA 2018 สิงคโปร์ยังได้ครองอันดับแชมป์ โดยสามารถเอาชนะญี่ปุ่นและฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา และทำคะแนนเป็นอันดับ 1 ทั้งสามวิชาของการสอบ จะเห็นได้ว่าการศึกษาของสิงคโปร์นั้นมีคุณภาพมากกว่าประเทศไทย และสาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์มีระบบการศึกษาที่ดีเป็นเพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษามาก ดังจะเห็นได้จากงบประมาณด้านการศึกษาเฉลี่ยของประเทศในปี 2011-2021 อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็น 2.8% ของ GDP
3
สิงคโปร์มีการเปลี่ยนระบบการประเมินผลการเรียนของนักเรียนเป็นแบบ Teach Less, Learn More ซึ่งจะเน้นที่ความเข้าใจของนักเรียนมากกว่าผลคะแนนสอบ ไม่มีการจัดอันดับ ทำให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียนรู้และการทำกิจกรรม มีจุดเด่นด้านการเรียน 2 ภาษา โดยใช้หลักสูตรการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และให้นักเรียนเลือกเรียนภาษาทางการของสิงคโปร์อีกหนึ่งภาษา (ภาษาจีน มาเลย์ หรือ ทมิฬ ตามเชื้อชาติของตนเอง) อีกทั้งระบบการศึกษายังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถนัดและความสนใจของนักเรียน โดยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนจะสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนทางสายศิลป์ สายวิทย์ ธุรกิจการค้าหรือสายวิชาชีพ
2
📌 งบประมาณการศึกษาไทยสูงมาก แต่คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ
1
มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด และจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) ในปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีรายจ่ายด้านการศึกษาถึง 816,463 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปี 2551 แต่จากงบประมาณทั้งหมดกว่า 8 แสนล้านบาท กลับเป็นงบสำหรับพัฒนาการเรียนการสอน 1.72% และงบสำหรับพัฒนาบุคลากรและครูเพียง 0.44%เท่านั้น
3
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบรายจ่ายด้านการศึกษาเทียบกับ GDP กับประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ เวียดนาม หรือกลุ่มประเทศ OECD พบว่ามีการลงทุนอยู่ที่ 2.5%, 4% และ 4.9% ตามลำดับ
2
แม้ประเทศไทยมีใช้งบประมาณที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่โอกาสทางการศึกษายังไม่สามารถเข้าถึงเยาวชนทุกคนได้ และแม้จะเข้าถึงได้แต่ก็มีคุณภาพที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
2
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่าครัวเรือนที่ยากจนมีกำลังทรัพย์ในการส่งบุตรหลานเรียนน้อยกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวย เนื่องจากมีรายได้ต่อเดือนเพียง 5,800 บาทต่อเดือน ในขณะที่ครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดมีรายได้เฉลี่ยมากถึง 1 แสนบาทต่อเดือน
1
ในปี พ.ศ. 2559 สพฐ. ได้มีการจัดสรรงบช่วยเหลือนักเรียนยากจนทั่วประเทศจำนวน 2,313 ล้านบาท แต่วงเงินกลับช่วยเหลือเด็กชั้นประถมศึกษาได้เพียงร้อยละ 40 และมัธยมศึกษาตอนต้นอีกร้อยละ 30 จากทั้งหมดเท่านั้น เป็นเพราะว่าตัวเลขนักเรียนยากจนที่ปรากฏบนฐานข้อมูลอาจจะไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้มีนักเรียนส่วนหนึ่งไม่ได้รับโอกาสทางการเรียน หรือได้ความช่วยเหลือที่น้อยลง
1
ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาภาคบังคับของครัวเรือนต่อปีการศึกษา
โดยรวมแล้ว ปัญหาด้านการศึกษาของไทยเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐมนตรีก็จะทำให้ระบบการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้นโยบายทางการศึกษาขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น ในช่วงต่อไป รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของการศึกษาในต่างจังหวัด ในชนบท ในโรงเรียนเล็กๆ รวมทั้ง ควรจะพัฒนาระบบการศึกษาให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะการศึกษา คือ สิ่งสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ
3
ผู้เขียน : ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา