12 พ.ย. 2021 เวลา 04:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บันทึกสถานการณ์ : การเตรียมการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022
ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย เนื่องจากไทยได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) อีกครั้งหลังจากที่เคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว ๒ ครั้ง เมื่อปี ๒๕๓๕ และปี ๒๕๔๖ ซึ่งการประชุมเอเปคในแต่ละครั้งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในแง่มุมของความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ไปจนถึงการเตรียมการด้านต่าง ๆ ในการต้อนรับผู้นำจากทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ปี ๒๕๖๕ จะมาถึง ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างมากต่อบทบาทเจ้าภาพ และโดยที่ภาคประชาชนถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเป็นเจ้าภาพที่ดี
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ วันนี้ผมจะขอนำความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์สำหรับการประชุมเอเปค ผ่านการให้สัมภาษณ์ของคุณณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หรือ “ท่านรองนิ้ง” ในรายการบันทึกสถานการณ์ (https://youtu.be/jBsPBgUmXFs) มาถ่ายทอดให้ทุกท่านกันครับ
1
ชุดข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ
ท่านรองนิ้งเล่าให้ฟังว่า กรอบความร่วมมือเอเปคจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีเป้าหมายหลัก คือการส่งเสริม การเปิดเสรีการค้า การลงทุน และการรวมตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีการเน้นเรื่องธุรกิจและเศรษฐกิจในภูมิภาคของทั้ง ๒๑ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเป็นหลัก และเอเปคได้มุ่งเป้าไปที่การเปิดเสรีการค้าการลงทุนเรื่อยมาตั้งแต่ยุคเป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) และวิสัยทัศน์ปุตราจายา (PUTRAJAYA VISION 2040) ในสมัยที่เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ของไทยมีความสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ดังนั้น ปี ๒๕๖๕ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นเจ้าภาพในการหารือเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-๑๙ โดยเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยในครั้งนี้มีความสำคัญต่อทั้งไทยอย่างไร?
เนื่องด้วยไทยเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญต่อทวีปเอเชียและทุกภูมิภาคทั่วโลก และเนื่องด้วย APEC เปรียบเสมือนแหล่งบ่มเพาะทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดมาตรฐาน นโยบาย และประเด็นใหม่ ๆ ของโลก ไม่จำกัดแค่เรื่องเศรษฐกิจ โดยกรอบเอเปคมีความทันสมัย และความเป็นสากล ดังนั้น การรับบทบาทเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการผลักดันประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทยเอง อย่างเช่น ประเด็นด้านธุรกิจ SMEs โลกดิจิทัล สังคมไร้เงินสด รวมถึงเรื่องการเกษตรที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีในภาคการเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ในปัจจุบัน
การประชุมเอเปคในปีหน้าสามารถแบ่งประเด็นสำคัญได้ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริม BCG Model (๒) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ที่มีประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าดิจิทัล (Digital Trade Platform) และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ MSMEs (๓) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงการเดินทางและการท่องเที่ยว ที่จะเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวสีเขียว โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้อยู่แล้วและเมื่อไทยรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากนิวซีแลนด์ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ก็จะสามารถเดินหน้าผลักดันความร่วมมือในประเด็นข้างต้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ชุดข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ
ถึงตอนนี้ หลายท่านอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า สถานการณ์โควิด-๑๙ ในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการจัดประชุมหรือไม่ และการจัดประชุมจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งท่านรองได้ชี้แจงว่า การจัดประชุมเอเปค 2022 ในครั้งนี้ เป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นการประชุมในลักษณะกายภาพ หรือการประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตัวกันเป็น ๆ อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก ๆ ในโลกหลังเกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ เพราะที่ผ่านมาการประชุมถูกจัดในรูปแบบออนไลน์บ้าง หรือแบบผสม (Hybrid) บ้าง โดยหวังว่าสถานการณ์โควิด-๑๙ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการประชุมที่จะเปิดฉากขึ้นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔
ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปค และในขณะเดียวกัน ภายใต้คณะกรรมการนั้นก็มีคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ที่ได้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นหลัก ๓ ประการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยการประชาสัมพันธ์ของไทยมีแนวคิดที่เป็นเสมือนไฟนำทางว่า “ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์” โดยมุ่งเน้นการสื่อสารและสร้างการรับรู้ถึงบทบาทของประเทศไทย ทั้งก่อนเป็นเจ้าภาพ ขณะเป็นเจ้าภาพ และหลังเป็นเจ้าภาพ รวมถึงเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม เช่น ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน โดยจะมีการจัดกิจกรรมเชิงประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชน หรือ APEC Media Focus รวมถึงการจัดกิจกรรมกับภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC นอกจากนั้น ยังมีกรมประชาสัมพันธ์ที่คอยสนับสนุนการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนคนไทยด้วย
การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ของประเทศไทยครั้งนี้ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ จนถึงเดือนพฤศจิกายนของปี ๒๕๖๕ และจะมีการใช้สถานที่หลายจังหวัดในการจัดประชุม โดยจะมีผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เดินทางเข้ามาร่วมประชุมกว่าพันคน ซึ่งคนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมด้วยการเป็นเจ้าภาพที่ดี ติดตามประเด็นสำคัญของกรอบความร่วมมือเอเปคผ่านสื่อมวลชน หรือมีส่วนร่วมผ่านเวทีแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ โดยตระหนักว่า การมีส่วนร่วมของไทย และความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปคมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่เรากำลังจะก้าวข้ามปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙
ท่านรองนิ้งได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ประเทศไทยจะรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC จากประเทศนิวซีแลนด์ที่ทำหน้าทีได้เป็นอย่างดี และมีการริเริ่มหลายประเด็น เช่น การเดินทางระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิก การสนับสนุนธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการสนับสนุนบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการรับหน้าที่นี้ของไทยจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศ หลังจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-๑๙ ซึ่งไทยจะสามารถผลักดันและเป็นผู้นำในการพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศร่วมไปกับกลุ่มสมาชิกเอเปค ท่านรองยังได้ขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้กันและกัน พร้อมให้คำมั่นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตั้งแต่วันแรกของการรับหน้าเจ้าภาพ เพื่อประโยชน์ พัฒนาการ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน ของเศรษฐกิจไทยและประชาชนไทย
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา