12 พ.ย. 2021 เวลา 05:59 • ท่องเที่ยว
ใบไม้เริงระบำ ที่คันไซ (11) .. Ginkakuji Temple วัดศาลาเงิน
วัดกิงคะคุจิ (Ginkakuji) หรือวัดศาลาเงิน ถูกสร้างเพื่อให้สอดรับกับวัดวัดคิงคะคุจิ (Kinkakuji) หรือวัดศาลาทอง …
วัดศาลาเงิน .. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเกียวโต ได้รับการบันทึกให้เป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองเกียวโตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี คศ. 1994
เราเดินทางจากกลางเมืองเกียวโต … มาถึงทางเข้าวัด ซึ่งเป็นถนนเล็กๆที่ไม่อนุญาตให้รถจากภายนอกผ่านเข้าไปด้านใน ผู้คนที่มาเที่ยวจึงต้องเดินเข้าไปด้านในเอง
ในรายทาง … มีร้านขายของต่างๆมากมาย แต่มากที่สุดเห็นจะเป็นร้านขายขนม และของกินเล่น
กลิ่นขนมข้างทางลอยมาแตะจมูก เห็นคนยืนเข้าคิวเรียงแถวยาวรอซื้อขนม เราก็เข้าไปซื้อบ้าง … เป็นขนมกรอบๆ ก็อร่อยดี แต่จะอร่อยกว่านี้อีกมากหากราคาจะลดหย่อนลงกว่านี้ แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรากำลังอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูงในอันดับต้นๆของโลก
ขนมของญี่ปุ่น รสหวาน เข้ากันได้ดีกับชาเขียว ทานแล้วทำให้เกิดอารมณ์สุนทรี
เดินมาสักพัก ถนนเล็กๆที่ลาดชันเล็กน้อยก็นำเรามาสู่ทางเข้าวัดที่เปิดเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆน่ารัก … เป็นเหมือนทางแยก 2 ด้าน
ทางหนึ่งจะนำเราไปสู่วัดเงิน ส่วนอีกทางจะเป็นถนนสายปรัชญา (Philosophy Path) ความยาวราว 2 กิโลเมตรที่สร้างเชื่อมต่อระหว่างวัดกิงคะคุจิกับวัดนันเซ็นจิ
เราเดินตามถนนที่จะนำเข้าสู่วัด … สักอึดใจใหญ่ เราก็มายืนอยู่บนลานเล็กๆด้านหน้าวัด ทั้งสองข้างมีร้านของกินที่ขึ้นขื่อ หมายตาไว้แล้วว่าจะมานั่งทาน แต่ตอนนี้ขอทำเวลาเข้าไปเดินเที่ยวด้านในของวัดปราสาทเงินก่อนค่ะ
ทางเดินเข้าด้านในของวัด มีต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการตัดแต่งให้เป็นเหมือนกำแพงสูงๆ น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ราวกับจะเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้เราพร้อมที่จะชื่นชมความพิเศษสวยงามของสวนแห่งวัดเงิน
เรื่องราวของวัดปราสาทเงิน เป็นเรื่องราวของหลาน (โชกุน อะชิคางะ โยชิมาสะ) ที่สร้างตามรอยคุณปู่ (โชกุน อะชิคางะ โยชิมิสุ) … ซึ่งในตอนเริ่มแรกปราสาททั้งสองสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พำนัก ต่อมาจึงเปลี่ยนให้เป็นวัด ภูมิประเทศของทั้งสองวัดก็คล้ายกันมาก คือ มีสระน้ำมีวิหารริมสระ และมีเนินด้านหลัง (สระน้ำของวิหารเงินเล็กกว่า แต่เนินสูงกว่า) … นี่จึงเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของทั้ง 2 วัด คือ วัดปราสาททอง และวัดปราสาทเงิน
เรามาเดินชมด้านในของวัดปราสาทเงินกันต่อนะคะ … เราก้าวขึ้นเนินซึ่งลาดปูด้วยบันไดอิฐ แล้วเดินตามทางเดินที่ขนาบซ้ายขวาด้วยกำแพงต้นไม้สูงลิบ เหมือนกับจะกั้นความวุ่นวายจากภายนอกไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาสู่โลกของความสงบด้านใน … ไม่นานก็มาสุดทางเดิน และถึงซุ้มที่ขายบัตรผ่านประตู
ทางเดินถัดไปเปิดออกสู่สวนญี่ปุ่นเล็กๆ กองทรายกว้างและยกสูง ถูกคราดกวาดเป็นแถบริ้วกว้าง สลับกับผิวทรายเรียบ เป็นลานทรายสีขาว ชื่อ สวน “กินฉะดัน” (Ginshadan) แปลว่า “ท้องทะเลแห่งทรายสีเงิน” สอดคล้องกับชื่อของวัดแห่งนี้ .. สวนแห่งนี้มีความพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยทั้งสวนถูกโรยไว้ด้วยกรวดทรายสีขาวก้อนเล็กๆ ที่ถูกซี่เล็กๆของคราดไม้ไผ่กวาดเอาไว้เป็นริ้วรอยราวกับระลอกของผิวน้ำ
… นี่เป็นเทคนิคเฉพาะของการจัดสวนญี่ปุ่นที่แทนที่น้ำด้วยก้อนกรวดเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นลำธาร น้ำตก แม่น้ำ หรือแม้แต่มหาสมุทร ก็ตาม
ในวัดเซน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกียวโต เราสามารถพบเห็นสวนในลักษณะนี้ที่มีทรายและหินเป็นองค์ประกอบหลักอยู่มากมายหลายแห่ง
ชาวญี่ปุ่นเรียกสวนในลักษณะนี้ว่า Kare-san-sui … ซึ่งแยกความหมายตามคำ คือ ..
.. Kare แปลว่า แห้ง
.. San แปลว่า ภูเขา
.. Sui แปลว่า น้ำ
ซึ่งหากนำมานรวมกัน จะแปลว่า สวนน้ำ และภูเขา ที่ไร้น้ำนั่นเอง
สวนในแบบ Kare-san-sui นับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ของการออกแบบสวนของญี่ปุ่น .. สวนแบบนี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเกียวโต และในญี่ปุ่น รวมถึงในโลก คือสวนของวัด เรียวอันจิ
สวนแบบ Kare-san-sui ต้องการการดูแลให้สะอาดสวยงาม เพื่อให้คงความพลิ้วไหวของระลอกคลื่นอย่างที่เราเห็นด้วยสายตาในวันนี้ … คนดูแลต้องใช้สมาธิอย่างสูง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกจิต เจริญสมาธิ ภาวนา เป็นอย่างยิ่ง
เราเดินผ่านสวนเล็กๆของน้ำและมหาสมุทรที่อยู่ด้านหน้า เมื่อสุดทางของ Ginshanada และไกลออกไปทางขวามือ หน้าศาลาเงินสองชั้น คือ กองทราย “โคเง็ทสึได” (Kogetsudai) หรือลานรับแสงจันทร์ … ลักษณะของ Kogetsudai คล้ายๆกับภูเขาไฟฟูจิ หรือกองทรายรูปกรวยปากคว่ำกว้างกลมเป็นฐาน ยอดตัดเรียบ .. ตั้งอยู่ปลายสุดด้านหนึ่งของ Ginshanada
ทั้ง Ginshanada และ Kogetsudai แห่งวัดเงิน กิงคะคุจิ … เป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นผลิตผลจากวัฒนาการแห่งงานออกแบบสวนของญี่ปุ่นในรูปแบบ Kare-san-sui ที่ยังไงก็ต้องแวะชมให้ได้ค่ะ
ใครบางคนกล่าวเอาไว้ว่า …
… กรวดทราย เปลี่ยนแปลงรูปได้ตามแรงที่กระทบ
… เมล็ดวัชพืช เมื่อปลิวลม แล้วตกลงมายังผืนทรายก็อาจจะเจริญงอกงาม
… สายฝน อาจซัดพลิ้วคลื่นและระลอกน้ำให้จางหาย
… ใบไม้ ปลิดขั้วแล้วร่วงหล่น
… การดูแลรักษา Kare-san-sui ให้สวยงามและสะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้คงความงามของภูมิสถาปัตย์ดั้งเดิมไว้ให้ได้นั้น แม้จะเป็นวานที่ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความตั้งอกตั้งใจ และใช้สมาธิอย่างสูง … เปรียบวัตรปฏิบัตินั้น ได้ดั่งการชำระล้าง ขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยสมาธิ
ดังนั้นคงไม่เป็นการกล่าวที่เกินเลย หากจะพูดว่า นอกจาก Kare-san-sui จะเป็นวิวัฒนาการชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการจัดออกแบบสวนของญี่ปุ่นแล้ว … ยังเป็นวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของเครื่องมือแห่งการฝึกจิตอย่างเซน อันมีลักษณะเฉพาะอย่างที่สุดอีกด้วย
… วัดเงิน จึงทำให้เรารู้สึกถึงความสงบ ร่มเย็น และเป็นสุข
ด้านหนึ่ง เป็นที่ตั้งของห้องชงชาโบราณ
อาคารของปราสาทเงิน (ไม่เปิดให้เข้าชมด้านใน) เป็นอาคาร 2 ชั้นสร้างด้วยไม้สีคล้ำดูขรึมขลัง ไม่ได้หุ้มด้วยเงินจริงๆ …
ใครบางคนบอกว่า เพียงแค่ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับวัดปราสาททองเท่านั้น … แต่บางคนก็บอกว่า เมื่อแสงจันทร์ส่องมากระทบวิหาร จะเกิดเป็นภาพงดงามอร่ามตาคล้ายกับวิหารหุ้มด้วยเงิน ..
บางแหล่งข้อมูลบอกว่า เมื่อเริ่มสร้างนั้น โชกุน อะชิคางะ โยชิมาสุ ตั้งใจจะใช้แผ่นเงินปิดทับตัวอาคารของปราสาทหลังนี้ เพื่อให้สอดคล้อง อยู่เคียงคู่กับปราสาททอง แต่ช่วงนั้นมีสงครามพอดี ทำให้ขัดสนเงินทองที่จะนำมาใช้ ตังอาคารจึงถูกปล่อยให้เป็นโครงสร้างไม้ตามแบบเดิม
แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ตัวปราสาทเงินนั้นมีความสวยงาม เรียบง่าน ในแบบของเซนอย่างแท้จริงในสายจาของเรา .. บนหลังคามีรูปปั้นสำริดของนกฟีนิกซ์ เช่นเดียวกับที่วัดปราสาททอง
.. ด้านในประดิษฐานรูปปั้นพระโพธิสัตว์คันนง หรือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เราเลียบสระน้ำขึ้นไปตามทางเดินของเนินเขาด้านหนึ่งของวัด .. มองกลับมาผ่านเลนส์กล้อง เห็นสวนหินที่สวยมาก ..
ขณะที่เราเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ … เราเพลิดเพลินมากมายกับต้นไม้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นสนอายุคงเป็นร้อยๆปีที่ขึ้นเรียงราย ลดหลั่นกันไปตามสโลปความลาดชันของภูเขา .. ใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีช่วยส่งให้ทิวทัศน์ที่เห็นอยู่เบื้องหน้านั้นงดงามเกินบรรยาย
เส้นทางที่เรากำลังเดิน แม้จะเป็นเนินเขา แต่มีทางเดินและบันไดที่ทำให้เดินง่าย ไม่ถึงกับเหนื่อย และยิ่งมีวิวสวยๆ และสีสันของใบไม้ที่ชวนมอง ก็ยิ่งทำให้การเดินชมนั้นรื่นรมย์มากมาย
บนยอดเนิน จะเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมาก .. มองออกไปกว้างๆจะเห็นภาพของเมืองเกียวโตลิบๆในสายตา พอมองลงไปใกล้หน่อยจะเห็นอาคารของวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ ใบไม้สีสันจัดจ้านและงดงาม
ช่วงที่เดินตัดเฉียงกลับลงมาตามทางลาดชันของเนินเขา … เราผ่านดงไม้ ป่าสน พื้นที่เขียวขจีด้วยมอสเหมือนใครมาปูพรมเอาไว้ ได้อารมณ์เหมือนป่าเมืองเหนือบางแห่งของไทย
เราจบทริปการเยี่ยมชมวัดศาลาเงิน ด้วยการไปนั่งทานอุด้งกันที่ร้านเชิงบันไดทางขึ้นวัดนั้นเอง … ร้านนี้สะอาดสะอ้าน การบริการเยี่ยม และรสชาติของอาหารก็อร่อยถูกปากมากค่ะ กด like เลย
Philosophy Path .. เส้นทางสายปรัชญา
เส้นทางสายปรัชญา … แรกที่ได้ยินชื่อนี้ รู้สึกว่าเป็นชื่อที่เก๋ไก๋มากๆ
เส้นทางนี้เริ่มต้นที่วัดวัดกิงคะคุจิ (Ginkakuji) หรือวัดศาลาเงิน … และเมื่อเราลงมาจากวัดศาลาเงินแล้ว ก็จะเป็นการเริ่มเดินทางไปในถนนที่เรียกว่า เส้นทางสายปรัชญา
เราเดินตามนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆกลุ่มใหญ่เข้าไปด้านใน … ผ่านร้านรวงเล็กๆมากมายที่รอเชื้อเชิญให้ผู้คนที่เดินผ่านเข้ามาจับจ่ายขนม ของฝาก และสินค้าหัตถกรรมสไตล์ญี่ปุ่นที่รูปลักษณ์เชื้อเชิญให้สตางค์ในกระเป๋าออกไปบินว่อนในระหว่างการเดินผ่าน
ถนนที่เป็นเส้นทางสายปรัชญา พาเราผ่านร้านรวงร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านขนมหวาน หรือแม้แต่ร้านที่ขายมันญี่ปุ่นย่าง … เราก็แวะสิคะ ไอศกรีมของญี่ปุ่นอร่อยทุกที่ค่ะ แถมซื้อมันย่างติดมาด้วย 1 หัว
เส้นทางสายปรัชญา .. เป็นทางเดินเล็กๆเลียบคลองเก่าชื่อ คลองบิวาโกะ และชื่อของเส้นทางก็เป็นการเรียกขานของนักวิชาการท้องถิ่น เพราะเป็นทางเดินที่ ศาสตราจารย์ Kitaro Nishida ศาสตราจารย์สาขาวิชาปรัชญาชื่อดัง ของมหาวิทยาลัยเกียวโต และท่านผู้นี้เป็นเสมือนบิดาผู้ก่อตั้งสถาบันปรัชญาในเกียวโตด้วย .. ท่านใช้เส้นทางนี้เดินทุกวันในระหว่างการทำงานวิจัย โดยเริ่มต้นจาดวัดกิงคะคุจิ (Ginkakuji) กระทั่งไปสิ้นสุดที่ศาลเจ้า Nyokuoji
ในวันปกติ .. เส้นทางปรัชญานี้ เป็นทางเดินเล็กๆเลียบคลองที่ชาวบ้านในละแวกนี้ใช้สัญจรและพักผ่อนหย่อนใจ มีความร่มรื่น เงียบสงบ และมีความเป็นธรรมชาติมาก .. ไม่มีใครบางคนเอาสีมาพ่นให้เกิด Street Art เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ
.. แต่ในช่วงซากุระบาน หรือในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี เส้นทางเล็กๆสายนี้จะเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาเป็นอาคันตุกะของเมือง และมาเดินชมความงามของต้นเมเปิ้ลที่ปลูกเลียบไปตามคลอง ที่ใบกำลังพร้อมใจกันเปลี่ยนสีสัน งดงามจนเป็นที่เลื่องลือ
บนทางเดินยาวราว 2 กิโลเมตรสายนี้ มีร้านค้าขายของแฮนด์เมดกิ๊บเก๋น่าซื้อไปหมด ร้านขนมและไอศกรีม ร้านน้ำชา และร้านอาหารอยู่บ้าง แต่ก็ซ่อนตัวอิงแอบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบตัว ไม่สร้างความรู้สึกว่าแปลกแยกจากสิ่งรอบข้างแต่อย่างใด
… นักดนตรีข้างทาง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา