13 พ.ย. 2021 เวลา 16:56 • ประวัติศาสตร์
โคราชในอดีต
รูปปั้นต้นแบบ "ท้าวสุรนารี" ผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อปี พ.ศ.2477 (ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอประติมากรรมต้นแบบ กรุงเทพฯ)
อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และ เบื้องหลังการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
“กถามรรค จะทูลถวายเรื่องกรมศิลปากร เขากำลังปั้นรูปท่านผู้หญิงโมกันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเป็นอนุสาวรีย์ประตูชัยโคราช(ประตูชุมพล) มีขนาดสูง 4 ศอก เลยทำเป็นรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบ นุ่งจีบ ห่มผ้า สไบเฉียง
“อนุสาวรีย์รายนี้เดิมทีพระเทวภินิมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2431-2490) เขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อม ก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถนตั้งข้าง ๆ เกล้ากระหม่อมถามว่าใครจะทำ เขาว่าเป็นผู้แทนราษฎร นครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่า แกเคยเห็นท่านผู้หญิงโม้หรือ หน้าตาอย่างนี้หรือ ได้แต่หัวเราะไม่ได้คำตอบ ถามว่าจะตั้งที่ไหน ตั้งที่ประตูชัย เกล้ากระหม่อมว่าเป็นทางเดินแล้วจะเอารูปปั้นไปตั้งอุดเสีย มิเดินไม่ได้หรือ แกก็หัวเราะแล้วนำแบบกลับไป
1
“ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเป็นรูปผู้หญิง ยืนถือดาบอยู่ตัวเล็ก ๆ หลายตัว ท่าต่างกัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ที่รบกับผู้ชายนั้น เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย ต่อมาอีกสองสามวัน เกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้หน้าเอ็นดูดี เป็นผู้หญิงสาวผมยาวประบ่า ใส่มาลาถือพวกดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสะไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้วก็รับรองว่าอย่างนี้ดี
“มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือมาถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่อ ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory (สมมุติ) แกบอกว่าเขาไม่เอา
“เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ก็ประหลาด ดูในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ซึ่งถวายมา ไม่เห็นแสดงแผลงฤทธิ์อะไรเป็นแต่คุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมจึงยกย่องกันนักหนาก็ไม่ทราบ”
เนื้อความข้างต้นนี้คัดมาจาก สาส์นสมเด็จ เป็นจดหมายที่ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีไปทูล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2477 ว่าด้วยเรื่องราวการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นได้ราวปีกว่า (และเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งนครราชสีมา มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญเพิ่งผ่านพ้นไป) ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงตอบกลับมาในจดหมายลงวันที่ 5 มกราคม ปีเดียวกัน ว่า
“ขอทูลสนองลายพระหัตถ์ว่าการสร้างรูปท่านผู้หญิงโม้นั้น เป็นอุทาหรณ์อันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ผิดกับสมัยเก่าหมดทุกอย่าง”
ความจากจดหมายทั้งสองฉบับสะท้อนถึงการต่อสู้ทางอุดมคติของศิลปะสองยุคของไทย คือยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับยุคคณะราษฎร เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ที่ทรงประสงค์ให้อนุสาวรีย์แห่งนี้คงอุดมคติทางศิลปะแบบจารีตของไทยเอาไว้ (หากจำเป็นต้องสร้างจริง ๆ แม้พระองค์ทรงเห็นว่าท่านผู้หญิงโมไม่ได้น่ายกย่องมากนัก) แต่รัฐบาลคณะราษฎรไม่เห็นสอดคล้องด้วย “คอร์ราโด เฟโรจี” (Corrado Feroci) หรือ ศิลป์ พีระศรี ที่รับราชการมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงต้องปฏิบัติตามเจ้านายกลุ่มใหม่ที่ต้องการใช้ศิลปะสะท้อนและส่งเสริมอุดมการณ์ใหม่ของตน
จากข้อมูลของ วิบูล ลี้สุวรรณ (ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี) คอร์ราโด เฟโรจี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ที่ตำบลซานยิโอวานนี เมืองฟลอเรนซ์ ศูนย์กลางศิลปะแห่งอิตาลี จบการศึกษาด้านศิลปะ เอกประติมากรรม จากสถาบันวิจิตรศิลป์ฟลอเรนซ์ (The Academy of Fine Arts of Florence)
จบแล้วก็สอบเข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันที่เรียนจบมา และได้รับการคัดเลือกให้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุได้เพียง 23 ปี ก่อนย้ายมาทำงานในเมืองไทย (สมัยนั้นยังเรียกสยาม) เมื่อ พ.ศ. 2466 ในตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา โดยสัญญาฉบับแรกมีกำหนดอายุ 3 ปี แต่เมื่อได้แสดงผลงานเป็นที่น่าพอใจจึงได้ต่อสัญญาใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุเวลา
ศิลป์ พีระศรี (เปลี่ยนชื่อและสัญชาติเมื่อปี พ.ศ. 2487 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เขาถือสัญชาติอิตาลีซึ่งเดิมเคยอยู่ฝ่ายอักษะร่วมกับไทย แต่ไปทำสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปลายปี 2486 หลังจาก เบเนโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ถูกขับจากอำนาจ) มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมงานศิลปะยุคใหม่ของไทย ทั้งการก่อตั้งโรงเรียนศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2476 ก่อนยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2486 ช่วยบ่มเพาะศิลปินท้องถิ่น ทำให้ไทยลดการพึ่งพาช่างและศิลปินนำเข้าได้มาก เขายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์หลายแห่ง และช่วงเวลาดังกล่าวที่เขาเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ก็เกิดขึ้นในช่วงที่คณะราษฎรครองอำนาจพอดี
ชาตรี ประกิตนนทการ (ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร) กล่าวว่า “ศิลปะสมัยใหม่” ของไทย (ซึ่งต่างจาก ศิลปะสมัยใหม่ในระดับสากลที่ปฏิเสธศิลปะตามแนวเสมือนจริง [realistic art] และคตินิยมตามแบบแผนวิชาการแบบเดิม ขณะที่ของไทย ศิลปะสมัยใหม่คือ ศิลปะที่หันมาเน้นความเสมือนจริง) เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจริง ๆ มาเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนเกิดรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ศิลปะคณะราษฎร”
ในช่วงเวลานี้เอง ศิลป์ได้แสดงผลงานที่โดดเด่นมากมาย (รวมถึงงานของศิษย์ที่อยู่ในความดูแลของศิลป์) เช่น รูปปั้นนูนต่ำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ของสามัญชนอย่าง ท้าวสุรนารีหรือท่านผู้หญิงโม พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ หรือ คอซิมบี๊ ณ ระนอง รูปปั้นลอยตัวทหารพลเรือนและตำรวจที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ครุฑ (ที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามผิดจากครุฑยุคก่อน) หน้าตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข บางรัก รวมถึงพระราชานุสาวรีย์แห่งของกษัตริย์ในอดีต
และตัวอย่างงานศิลปะคณะราษฎรที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางอุดมคติของสองยุคมากที่สุดชิ้นหนึ่ง คงหนีไม่พ้นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์สามัญชนคนแรก ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2477 ใกล้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกรณีกบฏบวรเดชที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งใช้นครราชสีมาหรือโคราชเป็นกำลังสำคัญ การสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นที่นี่จึงมีปัจจัยทางการเมืองเป็นส่วนช่วยผลักดัน
ย้อนไปในอดีตโคราชมักเป็นฐานของกลุ่มกบฏหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกบฏพระยายมราช (สังข์) กบฏบุญกว้าง หรือกบฏกรมหมื่นเทพพิพิธ ผู้นำใหม่ของโคราชจึงต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโคราช เหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ที่ชาวโคราชต่อต้านกบฏเจ้าจากเวียงจันทร์และแสดงความภักดีต่อกรุงเทพฯ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์ ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างภาพจำใหม่ให้กับโคราช
การสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีแม้จะเกิดขึ้นโดยการผลักดันจากผู้นำท้องถิ่น แต่ก็ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งได้มอบหมายให้ศิลป์เป็นผู้ออกแบบและปั้น เนื่องจากข้อเสนอนั้นสอดคล้องกับอุดมการณ์ของคณะราษฎรหลายประการ ทั้งการที่ท้าวสุรนารีเป็นสามัญชน เช่นเดียวกับคณะราษฎร และยังเป็นผู้หญิง ซึ่งการเล่าประวัติศาสตร์ในอดีตให้คุณค่าค่อนข้างน้อย แต่ในสมัยของคณะราษฎร ผู้หญิงถูกยกบทบาทให้เท่าเทียมกับผู้ชาย เห็นได้จากการกำหนดให้ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมโดยรัฐธรรมนูญซึ่งก้าวหน้ายิ่งกว่าประเทศตะวันตกหลายประเทศ
ท้าวสุรนารีจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการยกให้เป็นไอดอลตามอุดมการณ์ใหม่ และจำเป็นต้องใช้ศิลปะยุคใหม่ที่ตัดขาดจากศิลปะไทยยุคจารีตเป็นสัญลักษณ์สะท้อนอุดมการณ์นั้น
“การที่กรมศิลปากรไม่ยอมรับรูปปั้นท้าวสุรนารีที่มีรูปลักษณ์เป็นนางฟ้านั้น ประการแรกคงจะเป็นเพราะขัดกับความเป็นจริงที่ว่า ท้าวสุรนารีเป็น ‘มนุษย์’ โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็น ‘สามัญชน’ ด้วย ดังนั้นรูปปั้นท้าวสุรนารี ถ้าจะสื่อให้เห็นการกระทำของท้าวสุรนารีได้ดีและเหมาะสมกับสภาพการณ์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ รูปปั้นนี้จึงต้องมีความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ต้องมีบุญญาบารมี แต่ต้องเป็นมนุษย์ที่กล้าหาญ
“ประการที่สอง คงจะเป็นการปฏิเสธแนวคิดตามคติเก่าด้วย เพราะแต่เดิมนั้น การจะสร้างรูปบุคคลที่เคารพยกย่อง มักจะสร้างเป็นรูปเทวดามากกว่า ถึงยุคใหม่จึงต้องการสร้างรูปปั้นเหมือนจริง นอกจากนี้การที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงตั้งข้อสงสัยว่าท้าวสุรนารีไม่เห็นได้ทำอะไรเท่าไร ทำไมจึงยกย่องกันนักหนา สื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดระบอบเก่ากับระบอบใหม่
“ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่าการสร้างรูปท่านผู้หญิงโม เป็นตัวอย่างของความคิดสมัยใหม่ การจะสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จึงอาจเป็นวิธีการหนึ่งของคณะราษฎร ที่จะแสดงว่าประชาชนทุกคนคือ ผู้กำหนดวิถีประวัติศาสตร์ของประเทศ การที่ประชาชนร้องขอให้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ และสอดคล้องกับแนวคิดของคณะราษฎรด้วย”
อย่างไรก็ดี การที่ศิลป์ พีระศรี มีผลงานโดดเด่นในยุคศิลปะคณะราษฎรนั้น มิได้สื่อว่าเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด เพราะเขาเองก็ทำงานให้กับรัฐบาลทั้งสองยุคอย่างเต็มที่ หากแต่ฝีมือในเชิงศิลปะของเขาถูกจริตของผู้ปกครองในยุคนี้มากกว่ายุคเก่า ที่แม้จะรับเอาศิลปะแบบตะวันตกมาใช้บ้างแต่ก็ไม่มาก และเขาก็เข้ามาเมืองไทยในปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว กว่าที่เขาจะได้รับงานใหญ่อย่าง อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็เป็นเป็นช่วงสี่ปีสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นั่นจึงทำให้ศิลป์ ประติมากรสายเรียลลีสม์ (realism) มีโอกาสแสดงศักยภาพของเขาในยุคคณะราษฎรมากกว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่ชาตรีกล่าวว่า
“อุดมคติใหม่ของ ‘ศิลปะคณะราษฎร’ ที่ถูกสร้างขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้กงล้อประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ ในไทยหมุนไปในรูปแบบที่เรารับรู้ในปัจจุบัน สำคัญที่สุดคือ ด้วยจิตวิญญาณใหม่นี้เองที่เป็นพลังผลักดันเบื้องหลังให้ ศิลป์ พีระศรี สามารถแสดงศักยภาพทางศิลปะที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ท่านสามารถผลักดันแนวคิดและผลงานต่าง ๆ มากมาย”
.
ผลงานการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญ ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในเมืองไทย
1. พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร สร้างปี พ.ศ.2472
2. อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สร้างปี พ.ศ.2477
3. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร สร้างปี พ.ศ.2482
4. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร สร้างปี พ.ศ.2484
5. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร สร้างปี พ.ศ.2485
6. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร สร้างปี พ.ศ.2493
7. พระบรมราชานุสาสวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างปี พ.ศ.2497
8. พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม สร้างปี พ.ศ.2498
.
ข้อมูลอ้างอิง - วิกิพีเดีย
ขอบคุณ
ผู้แนะนำบทความ - Pruchayasan Pop Boonchaisuk
ภาพจาก - Tui Horwang
และเพจ โบราณนานมา
#KoratStrong ท้าวสุรนารี
ศิลปิน ศิลป์ พีระศรี 2477
ข้อมูลเพิ่มเติม
ท้าวสุรนารี(ย่าโม) ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลป์ชัย) หล่อด้วยทองแดงรมดําขนาดความสูง 185 เมตร น้ำหนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานที่บรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2476
ส่วนรูปปั้นย่าโมอันเป็นต้นแบบ (Prototype) โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและลงมือปั้นเอง มีสัดส่วนเล็กกว่าอนุสาวรีย์จริง ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
 
๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ ย่าโม ซึ่งพระยากำธรพายัพทิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น พร้อมด้วยผู้บังคับการมณฑลทหารบก ข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา พร้อมใจกันจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ มีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกันกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เริ่มก่อสร้างในปี ๒๔๗๖ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัตถุแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ฐานอนุสาวรีย์ได้ถูกจัดสร้างขึ้นมาแทนของเดิมที่ชำรุดอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๐โดยหุ่นดินปั้น ต้นแบบของอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ปั้นโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ อีกด้วย
ปัจจุบันอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือที่คนโคราชเรียกกันว่าย่าโม ยังคงเป็นสถานที่ซึ่งคนโคราชให้ความเคารพบูชาสักการะ และคนต่างถิ่นก็ล้วนต้องแวะมาไหว้ขอพรย่าโม เพื่อความเป็นสิริมงคล
ขอบพระคุณเรื่องและ ภาพ โคราชในอดีต , เพจโบราณนานมา
Cr.ตุ๋ย หอวัง, โบราณนานมา 15 Jan.,2018
โคราชในอดีต,โบราณนานมา
โฆษณา