Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สืบสานงานท่านพุทธทาส
•
ติดตาม
15 พ.ย. 2021 เวลา 03:50 • การศึกษา
##เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา #พุทธทาสภิกขุ
ตอนที่ 75 , ภาพหน้าที่ 242-245
อาจารย์ครับ ที่อาจารย์เล่าเกี่ยวกับการสวดมนต์แปลแบบสวนโมกข์ ซึ่งทําให้เด็ก ๆ ถิ่นนี้ในยุคนั้น สวดมนต์เป็นกันมากนั้น ผมลืมถามไปว่ามีอะไรเป็นต้นเหตุ จึงทําให้อาจารย์คิดทําบทสวดมนต์แปลขึ้นครับ
- คงคิดว่ามันดี ตรงที่มันฟังรู้เรื่อง มีความรบเร้าของบางคนแถวนี้ เช่นผู้ใหญ่พิศ เป็นต้น ที่มีความประสงค์ หลายคนมีความประสงค์อยากสวดมนต์แปล สมัยโบราณท่านก็มีแปล แต่สวดไม่ได้ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) ท่านก็เคยแปลไว้ แต่สวดไม่ได้ สวดไม่ลง แล้วต่อมาเจ้าคณะภาคเจ้าคุณธรรมวโรดมองค์ก่อน (วัดราชาธิวาส) ส่งสวดมนต์แปลมาสองสามบท ท่านเป็นเจ้าคณะภาคส่งมาบังคับให้สวด
อันนี้เป็นเหตุที่ทําให้รู้สึกกันว่า เอ๊ะ สวดแปลนี้มันดี ท่านมีความคิดแยบคายแลบออกมานิดหนึ่ง ไม่ได้มากมายอะไรนัก บทละ ๒ ถึง ๓ นาทีเท่านั้น เราเลยมาแปลให้ทั้งหมด ทําวัตรเช้า วัตรเย็น ก็แปลอาศัยของเก่า ที่เขาแปล ๆ ไว้ ในหนังสือสวดมนต์แปลบ้าง เพิ่มเติมเอาเองตามพอใจบ้าง ให้มันไพเราะเสียงลงกันได้ เอาเด็ก ๆ
รุ่น ๆ แถวนี้มาหัดซ้อมเสียงกันดู ให้ฟังเรียบร้อย สะดวก ลื่น ฟังไม่ขัดหู ตอนแรกคัดลอกกันด้วยมือก่อน จนเป็นที่พอใจแล้วจึงพิมพ์เป็นเล่ม (ครั้งแรก ๒๔๙๗) ก็ออกมาเป็นสวดมนต์แปลแบบสวนโมกข์ ทําวัตรเช้า ทําวัตรเย็น ทั้งอุโบสถศีล ทั้งปัจจเวกขณ์ และเบ็ดเตล็ด ตามที่เห็นกันอยู่ มันจะโดยอย่างไรก็ไม่รู้ มันฟลุคโดยบังเอิญ คนชอบกันก็เลยแพร่หลาย จนเดี๋ยวนี้มีคนเอาไปสวดกันทั่วประเทศ เป็นหนังสือของคณะธรรมทานที่พิมพ์มากที่สุด พิมพ์เองบ้าง เขามาพิมพ์แจกบ้าง รวม ๆ คงจะหลายแสนฉบับแล้ว (หัวเราะ) ถ้าคณะสงฆ์จะออกแบบสวดมนต์แปลของคณะสงฆ์ออกมา คงจะลําบากเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะชาวบ้านเขาสวดแบบสวนโมกข์เต็มไปเสียทุกหนทุกแห่งแล้ว โรงเรียนบางแห่งเขาก็เอาไปใช้กัน
พระปาสาทิโก ชาวเยอรมัน มาอยู่ที่นี่ แกรู้ภาษาไทยพอสมควร แกรู้สึกว่าเป็นคําแปลที่เหมาะสมที่สุด เขาแปลกันที่อื่น ๆ มันไม่เป็นที่พอใจ แกก็อยากให้คําแปลที่เหมาะสมที่น่าฟังนี้มีขึ้นในภาษาเยอรมัน เลยแปลเป็นภาษาเยอรมัน ทําวัตรเช้า ทําวัตรเย็น และข้างในบางบท เสร็จแล้วพิมพ์ที่นี่ แล้วส่งไปเยอรมัน ในห้องธรรมโฆษณ์ก็มีตัวอย่าง แกเองก็พอแปลจากบาลีได้และเคยเห็นที่เขาแปล ๆ กัน สําหรับจะศึกษา แต่ความหมายมันไม่ลึก ไม่ชัด ไม่เพราะ เหมือนกับฉบับของสวนโมกข์ แกเลยแปลใหม่จากภาษาไทยเลย ไม่ได้แปลจากบาลี
ท่านมาอยู่กับอาจารย์ได้อย่างไรครับ
- เขามาด้วยกัน ๓ รูป ปาสาทิโก วิมโล สิริจันโท เป็นเยอรมันทั้งหมด มาอยู่กันสัก ๓-๔ ปีเห็นจะได้ ปาสาทิโก ดูจะบวชที่อินเดีย วิมโล บวชที่พม่า สิริจันโท บวชกับสมเด็จธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิ์ (ราชาวาส) ไม่ได้มาบวชที่นี่ ต่อมาสิริจันโท กลับไปญี่ปุ่น ไปศึกษาเซนที่ญี่ปุ่น แล้วสึก วิมโล กลับไปเปิดกิจการที่เยอรมัน ปาสาทิโก ไปอยู่ฝรั่งเศส เพื่อค้นคว้าเรื่องที่มีอยู่ในภาษาธิเบต สูตรที่มีอยู่ในภาษาธิเบต เขารู้ภาษาธิเบตพอที่จะทําอะไรได้ เขามาสอบดูว่ามันตรงกับที่อื่นไหม มาสอบกันดูแล้วปรากฏว่าธิเบตน่าสนใจ เดี๋ยวนี้ยังทํางานนี้อยู่ แปลสูตรที่เป็นธิเบตซึ่งแปลมาจากสันสกฤตเดิม
สมัยอยู่กับผมก็อยู่อย่างอิสระ คุยสนทนากันบ้างตามโอกาส ความรู้ทางพุทธศาสนาเขาดี เคยเรียนในพม่า รู้ภาษาจีนด้วย วิมโลนั้นเคยเรียนในพม่าหลาย ๆ ปี ปาสาทิโกเขาฉลาด เรียนง่าย สิริจันโทจะด้อยกว่าเพื่อน ไปเรียนเซนที่ญี่ปุ่น วิมโล ดูเหมือนจะทําให้บ่อนติดอยู่พักหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ถามดู เงียบไปแล้ว อาจจะสึกแล้วก็เป็นได้
อาจารย์ครับ การที่ให้ชาวบ้านสวดมนต์ในขณะพระฉัน ในวันที่มีการเลี้ยงพระที่นี่นั้น เป็นการริเริ่มของที่นี่หรือเปล่าครับ
- มันเริ่มที่นี่ (หัวเราะในคอ) มูลเหตุก็คือ มันคุยกันหนวกหู คุยเรื่องอะไรก็ไม่รู้ จ้อกแจ้กไปหมด ตั้งหลาย ๆ คน หนวกหู เลยตัดบท อ้าวไหว้พระกัน ขณะพระกําลังฉัน ชาวบ้านก็สวดมนต์ แล้วก็ได้ประโยชน์ พระนั่งฟังสบายเลย ฉันข้าวไปพลาง ฟังไปพลาง ที่สวดบทปัจจเวกขณ์ยิ่งดีใหญ่เลย พิธีกรรมพวกนี้ มาเริ่มที่นี่ สมัยอยู่สวนโมกข์เก่ายังไม่ได้ทําอะไรกับประชาชน
จาก เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา หน้า 242-244
.หมายเหตุ
* สวดมนต์แปลสวนโมกข์
-
https://tinyurl.com/nstyr7zc
.
อ่าน เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา * ทุกตอน *
ในเว็บไซต์ #สืบสานงานท่านพุทธทาส
https://tinyurl.com/ftmkntn7
.
สนใจหนังสือติดต่อ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
https://www.facebook.com/komolpublishing/
โทร 02-412-0744 02-866-1557
สโมสรธรรมทาน,หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ
http://store.bia.or.th/
.
ฟังเสียงเล่าไว้ฯ ราวปี 2527-2528
https://soundcloud.app.goo.gl/J661s
.
อ่าน PDF
http://www.buddhadasa.org/files/pdf/B_pdf/kp/kp1.pdf
.
ความเดิมตอนแรก ที่มาของงานนี้
https://tinyurl.com/e8x2fc27
.
อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ
https://bit.ly/3pfcruX
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย