16 พ.ย. 2021 เวลา 13:15 • ท่องเที่ยว
หมู่พระวิมาน และงานประณีตศิลป์ในหมู่พระวิมาน (1) .. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระราชอนุชาร่วมพระชนกพระชนนีกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หมู่พระวิมานเป็นหมู่พระที่นั่งหลายองค์ประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นอาคารหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ
ประวัติ
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ในช่วงแรกนั้นพระราชมณเฑียรนั้นมีลักษณะและตั้งอยู่ที่ไหนนั้น ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด เพียงแต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตำหนักเจ้าพิกุลทอง ในปี พ.ศ. 2332 จึงได้สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงต่อกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าทำตามคติที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ว่า การสร้างที่ประทับของพระราชชาธิบดีนั้น ควรมีพระมณเฑียร 3 หลัง ใช้เป็นที่เสด็จประทับในฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว ฤดูกาลละ 1 หลัง แต่ระยะหลังได้ลดส่วนลงมาเป็นการสร้างเป็นเพียงหมู่พระวิมานเดียวที่ประกอบด้วยพระวิมาน 3 หลังต่อกัน
หมู่พระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ นั้น ประกอบด้วย พระวิมาน เรียงต่อกัน 3 หลัง โดยมีชาลา ซึ่งหมายถึง ชานเรือนหรือพื้นภายนอกเรือน คั่นอยู่ระหว่างพระวิมาน พระวิมานทั้ง 3 หลังนี้เป็นตึก 2 ชั้น มีนามว่า
พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระวิมานหลังใต้
พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง
พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์ เป็นพระวิมานหลังเหนือ ต่อมา ได้เปลี่ยนนามเป็น พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เมื่อสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เพื่อให้สอดคล้องกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ต่อจากพระวิมานทั้ง 3 หลังนั้น
ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานมีการสร้างพระที่นั่งชั้นเดียวขวางตลอดแนวพระวิมาน ประกอบด้วย พระที่นั่งมุข 4 องค์ พระที่นั่งมุขด้านหลังต่อออกมาจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ใช้เป็นท้องพระโรงหลัง และพระที่นั่งมุขด้านหน้าที่ต่อจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ มีนามว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ซึ่งในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น ตั้งพระบุษบกมาลาเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง
เมื่อมีการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรเมื่อครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ทรงให้เรียกพระที่นั่งมุขทั้ง 4 องค์ว่า
พระที่นั่งอุตราภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้
พระที่นั่งบูรพาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
พระที่นั่งทักษิณาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ดัดแปลงพระที่นั่งมุขด้านหน้าให้เป็นมุขกระสัน แล้วขนานนามว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร ส่วนมุขด้านหลังนั้นให้ต่อเพิ่มเติมแล้วขนานนามว่า พระที่นั่งปฤษฏางค์ภิมุข นอกจากนี้ พระองค์ยังสร้าง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อจากมุขเดิมของพระวิมานด้วย
พระที่นั่งที่สำคัญ และงานประณีตศิลป์ในหมู่พระวิมาน
พระที่นั่งวสันตพิมาน :
พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น 1 ใน 3 หลังของหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พระบรรทมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในทำนองว่าใช้ประทับในฤดูฝน โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเคยเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ หลังจากการปรับปรุงในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ก็มิได้เสด็จเข้ามาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จมาประทับในพระที่นั่งองค์นี้ชั่วระยะหนึ่ง โดยมีการตั้งพระแท่นแขวนเศวตฉัตร ดังเช่นห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง หลังจากนั้น พระองค์จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น
ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ ในส่วนชั้นบนของพระที่นั่งวสันตพิมาน จัดแสดงงาช้าง งาช้างจำหลัก จากช้างต้นและช้างสำคัญ รวมทั้ง งานศิลป์ที่สร้างขึ้นจากงาช้างด้วย
ชิ้นงานที่จัดแสดง .. สร้างสรรค์อย่างสวยงามจากงาช้าง
พระแท่นบรรทม .. ตามประวัติระบุว่าได้มาจากวัดอรถุณราชวราราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เดิมเป็นพระแท่นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มนรัชกาลที่ 2 ตั้งแต่ครั้งที่ประทับอยู่ที่ตำหนักแดง ในพระบรมมหาราชวัง
ภายหลังเมื่อเสด็จพร้อมพระโอรสออกไปประทับที่พระราชวังเดิม ธนบุรี .. พระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายพระตำหนักแดงทั้งหมู่ไปปลูกภวาย และคงนำพระแท่นนี้ไปด้วย
ต่อมาเมื่อพระโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้เสด็จบวรราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายพระตำหนักแดงส่วนที่เป็นที่ประทับของพระองค์ มาปลูกรักษาในบริเวณพระราชวังบวนสถานมงคล และเมื่อพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ได้รับพระแท่นองค์นี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยอยู่ในตำหนักแดงมาก่อน จึงนำมาจัแสดง ณ ที่นั้น ก่อนจะย้ายมายังพระที่นั่งวสันตพิมาน ดังเช่นปัจจุบัน
โบราณวัตถุสร้างจากไม้
ชั้นล่างนั้นของพระที่นั่งวสันตพิมาน .. จัดแสดงเครื่องถ้วยอย่างไทยในราชสำนักต่างๆ เป็นเครื่องถ้วยที่ใช้สำหรับชนชั้นสูง อันสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราชสำนักชาวสยามในสมัยนั้น
ที่จัดแสดงมีอาทิเช่น เครื่องถ้วยล้านนา ลพบุรี เบญจรงค์ลายน้ำทอง เครื่องถ้วยญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยยุโรป นอกจากนี้ยังมีชามเบญจรงค์ศิลปะไทย-จีน สมัยอยุธยาดินเผาเนื้อกระเบื้อง
เครื่องถ้วยหรือเครื่องเบญจรงค์นี้เรียกอีกอย่างว่า “เครื่องถ้วยให้อย่าง” เพราะราชสำนักสยามเป็นผู้ ‘ให้ตัวอย่าง’ แก่จีนในการสั่งผลิต
ลวดลายที่ปรากฏ .. มีตั้งแต่ลายดอกไม้ตามธรรมชาติ ไปจนถึงลายครุฑ สัตว์ในตำนานของศาสนาฮินดู ซึ่งตามคติความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทำให้เข้าใจว่า เบญจรงค์ลายครุฑเป็นเครื่องใช้ที่ทำขึ้นสำหรับกษัตริย์
โดยสำรับอาหารชุดหนึ่งจะมีภาชนะรูปทรงต่างๆ ซึ่งจะมีการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น ‘โถทรงแตง’ เป็นภาชนะใส่ข้าวสวย ‘จานเชิง’ หากมีขนาดใหญ่ ก็จะนิยมนำมาไว้ใส่อาหารประเภทยำ ส่วนจานเชิงขนาดเล็กเอาไว้ใส่เครื่องเคียงหรือขนม
เครื่องเบญจรงค์ ราชสำนักสยาม .. สร้างสรรค์ด้วยลวดลายที่มีความวิจิตรงดงาม เปี่ยมเอกลักษณ์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื้องราวของเทพปกรณัม ธรรมชาติ และผ้าแพรพรรณ .. เครื่องเบญจรงค์มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในประเทศจีน
การเล่นเครื่องโต๊ะ กระแสการสะสมเครื่องลายครามคุณภาพดี เพื่อการประดับตกแต่งพระที่นั่ง พระตำหนัก และการเล่นเครื่องโต๊ะบูชาอย่างจีน เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก่อให้เกิดความนิยมการจัดเครื่องโต๊ะขึ้นแข่งขันและประกวดกันอย่างแพร่หลาย .. จนต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเครื่องโต๊ะ และการตัดสินให้รางวัล
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตั้งกฎหมายสำหรับการตรวจโต๊ะขึ้น และทรงแก้ไขเพิ่มเติม ตราเป็นพระราชบัญญัติข้อบังคับการตัดสินเครื่องโต๊ะ ร.ศ. 119 หรือ พ.ศ. 2443 ซึ่งยังคงใช้ในหมู่นักสะสมจนถึงปัจจุบัน
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา