17 พ.ย. 2021 เวลา 05:12 • ไลฟ์สไตล์
ชวนรู้จัก "Kombucha" ชาหมักรสเปรี้ยวอมหวาน ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พอดีพวกเราได้สังเกตเห็นเครื่องดื่มที่มีสีขุ่นเข้ม วางบรรจุขวดอยู่ในห้องครัวหลายขวดเลย คาดว่าคงเป็นสมาชิกในครอบครัวต้องซื้อมาตุนอย่างแน่นอน (คาดว่าเป็นคุณแม่)
ด้วยความสงสัยว่า เออ ! มันอร่อยขนาดนั้นเลยเหรอ ทำไมคุณแม่ถึงซื้อมาตุนไว้เยอะจัง ?
เลยแอบลองแกะออกมาดื่ม ก็พบว่ารสชาติกลับออกเปรี้ยวอมหวานไม่เหมือนกับหน้าตาเลยแห่ะ !
หลังจากจิบเสร็จจึงเหลือบมองไปที่ฉลากอีกทีหนึ่ง
ก็เลยถึงกับร้อง อ้อ ! ชาหมักชนิดนี้มีชื่อว่า “คอมบูชา กอมบูชา หรือ คอมบุฉะ (Kombucha)” ที่สุดแสนจะคุ้นหูนั่นเอง (แต่เพิ่งจะเคยมาลองจิบครั้งแรก แห่ะ ๆ)
ว่าแต่ว่าเรื่องราวของคอมบูชาเนี่ย มันเป็นอย่างไรบ้าง ?
งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory จะขอชวนเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับคอมบูชาในภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตา ไปพร้อมกับพวกเราได้เลย !
หลังจากที่ได้แอบลองดื่มคอมบูชาของคุณแม่แล้ว
ก็เลยได้ไปลองค้นหาข้อมูลและสอบถามเพื่อน ๆ รอบตัวที่ได้ชอบดื่มคาบูชาดูเพิ่มเติม
เลยได้พบว่าจริง ๆ แล้ว ตัวชาหมักนี้ หากว่าไม่มีการแต่งเติมรสหวานจากผลไม้หรือน้ำตาลเลย ก็จะมีรสชาติที่หนักไปทางเปรี้ยวซ่าไปเลย จะไม่ออกเปรี้ยวอมหวานแบบที่เราดื่ม (ส่วนตัวสารภาพว่ายังไม่เคยลองดื่ม นอกจากเป็นคอมบูชาที่แต่งรสจนออกมาเปรี้ยวอมหวานซ่าเรียบร้อย)
ซึ่งเจ้าคอมบูชาเนี่ย มันสามารถนำไปปรุงแต่งเพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้ได้เยอะมาก ๆ เลย
โดยเพื่อน ๆ ก็อาจเห็นจากตัวอย่างเมนูที่น่าสนใจของคอมบูชาในภาพอินโฟกราฟิกกันแล้วละเนอะ
งั้นเรามาที่เรื่องราวความเป็นมา ที่สุดแสนจะยาวนานของคอมบูชากันสักนิดนึงดีกว่า
“คอมบูชา” อันที่จริงแล้ว มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน
(ตรงนี้เอง เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะร้อง เอ้ะ ! มันต้องมาจากประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่า ? เพราะชื่อมันดูญี่ปุ่นมาก ๆ เลย)
โอเค คือ เหตุผลสำคัญที่เขาว่ากันว่ามาจากประเทศจีน ก็เพราะว่าชาวจีนเนี่ย เป็นชนกลุ่มแรก ๆ ที่เป็นผู้คิดค้นวิธีการหมักอาหาร โดยมีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวจีนประมาณ 9,000 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มเรียนรู้วิธีการถนอมอาหารด้วยการหมักในโถดินเผา
ซึ่งเจ้าคอมบูชาหรือชาหมักเนี่ย ก็ได้ถือกำเนิดในประเทศจีนเมื่อ 2,000 กว่าปีที่ผ่านมา โดยวิธีเดียวการหมักแบบเดียวกันนี่ละนะ
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก็ได้เขียนไว้ว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)” จักรพรรดิพระองค์แรกของประเทศจีน ได้ทำการคิดค้นสูตรชาหมักแบบคอมบูชา ที่มีฉายาเปรียบเปรยเจ้าเครื่องดื่มชาหมักนี้ว่าเป็นดั่ง ยาอายุวัฒนะ เลยทีเดียว
เพียงแต่ว่าในขณะนั้น ชาวหมักในโถดินเผานี้ ยังไม่ได้ถูกเรียกว่า คอมบูชา แต่อย่างใดนะ
Qin Shi Huang
แล้วเจ้าชาหมักนี้ มันถูกเรียกว่า “คอมบูชา” กันตอนไหนละ ?
ตรงนี้ละ ที่เรื่องราวของชื่อเรียกคอมบูชา เริ่มมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นเข้ามา
ก็คือในช่วงปี ค.ศ. 414 ได้มีคุณหมอชาวเกาหลีท่านหนึ่ง มีนามว่า คุณหมอคอนมู (Dr.Komu-Ha / Kon mu) ได้ถวายชาหมักสูตรที่มาจากประเทศจีน ในการรักษาอาการประชวรของจักรพรรดิญี่ปุ่น
จนต่อมาสูตรชาหมักที่ช่วยทำให้หายจากอาการป่วยไข้ ก็ได้เริ่มแพร่หลายไปจนถึงประชาชน
แต่ด้วยความที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้คุ้นเคยวัฒนธรรมการเรียกชื่อของชาวเกาหลี
จึงทำให้พวกเขาพยายามเรียกชื่อคุณหมอผู้เผยแพร่สูตรชานี้ เพี้ยนกลายมาเป็น “คอมบูชา (Kombucha)” นั่นเองจ้า
[หมายเหตุ : อย่างไรก็ดี เรื่องราวต้นกำเนิดของชื่อคอมบูชา เป็นเพียงแค่ความเชื่อที่ถูกบันทึกเอาไว้เท่านั้น แต่เท่าที่พวกเราค้นหามามากกว่า 5 แหล่งที่มาทั้งอังกฤษและไทย ก็ดูเหมือนว่าเขาจะเล่าเรื่องที่เหมือน ๆ กันไว้ประมาณนี้]
ด้วยความที่คอมบูชา มันให้ประโยชน์ทางสุขภาพที่ค่อนข้างดี
สูตรของการผลิตคอมบูชา พร้อมกับปรุงแต่งรสและกลิ่นให้ดื่มง่ายและอร่อย ก็ได้ค่อย ๆ แพร่ขยายจากทางฝั่งเอเชีย ไปยังฝั่งทวีปยุโรปและอเมริกัน
จนทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณปี ค.ศ. 2009 คอมบูชา ได้กลายเป็นเครื่องดื่มชาหมักยอดนิยมดื่มโดยชาวอเมริกัน
คือ นิยมขนาดที่บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมเจ้าใหญ่อย่าง PepsiCo ก็ยังเข้ามาซื้อกิจการของแบรนด์เครื่องดื่มคอมบูชาที่มีชื่อว่า “KeVita” ในปี 2016 กันเลยทีเดียว
ในขณะนั้น บริษัท PepsiCo ได้ประกาศว่า ทางบริษัทได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มชาหมักในอเมริกาเหนือ และทำให้บริษัทสนใจที่จะเริ่มบุกเครื่องดื่มแบบหมัก โดยเริ่มจากตลาดคอมบูชา เป็นอันดับแรก
แต่ในปัจจุบันเนี่ย ก็ดูเหมือนว่าหนึ่งในประโยชน์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ก็คงไม่พ้นช่วยในเรื่องของการขับถ่าย
แน่นอนว่าประโยชน์ในเรื่องนี้ ก็มีที่มาจากเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ที่มาตั้งแต่กระบวนการหมักกับแผ่นหัวเชื้อ SCOBY
ซึ่งเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย นั่นเอง
พอพูดถึงตรงนี้ ก็ค่อนข้างตรงกับเหตุผลที่คุณแม่ได้ตอบพวกเรา ว่าทำไมถึงได้ไปติดใจและซื้อคอมบูชาหลากหลายรสชาติมาตุนไว้เพื่อดื่มทานที่บ้าน (สุดท้ายก็ไม่วาย ไปถามเหตุผลมาจนได้ แห่ะ ๆ)
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปเช่นเคย
ถ้าอย่างนั้น พวกเราขอตัวแอบไปขอคุณแม่ดื่มเพิ่มอีกสักหน่อยดีกว่า ;);)
**ขออนุญาตเสริมความรู้เพิ่มเติมที่พวกเราได้รับคำแนะนำมาจากแฟนเพจสุดน่ารัก เกี่ยวกับเรื่องของคอมบูชา
- ข้อควรระวังในการเลือกนำ SCOBY มือสองมาใช้งาน อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ และ SCOBY อาจจะผลิตกรดน้ำส้มออกมาเยอะเกินไป หากไม่ระวังเราอาจจะได้รับโทษแทนคุณประโยชน์ ในส่วนของตรงนี้
- ขั้นตอนแรกสุดที่สำคัญคือ การทำความสะอาดขวดโหลก่อนการหมัก อาจจะทำความสะอาดพร้อมกับนำไปลวกน้ำร้อน เพื่อที่จะได้ฆ่าเชื้อราที่มองไม่เห็น
- อันที่จริงแล้ว ยังมีเรี่องราวเกี่ยวกับ SCOBY ที่ควรทราบก่อนหมักอีกพอสมควรเลย ที่พวกเราอาจไม่สามารถสรุปมาลงได้ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้นะคร้าบผม 😊
โฆษณา