18 พ.ย. 2021 เวลา 00:24 • ท่องเที่ยว
พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ .. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ :
พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง 1 ใน 3 หลังของหมู่พระวิมาน ตั้งอยู่กึ่งกลาง และนับเป็นพระที่นั่งที่โอ่อ่าที่สุดในหมู่พระวิมาน
สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พระราชมณเฑียรที่ประทับของ สมเด็จพระวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกันกับพระที่นั่งวสันตพิมาน แต่สร้างในทำนองเพื่อใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ใช้เป็นที่พระบรรทมและเสด็จทิวงคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้
พระที่นั่งองค์นี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งของปราสาททองสำหรับประดิษฐานพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ทั้ง 3 พระองค์ โดยสร้างเป็นปราสาทยาว 3 ห้อง
ห้องกลางยกพื้นสูงกว่าอีกสองห้อง เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อีกสองห้องเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ดังนั้น พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความสำคัญมากกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ในหมู่พระราชมณเฑียร
หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเชิญพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ไปไว้ที่วิหารพระธาตุ ภายในพระบรมมหาราชวัง
ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ และเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระบรมราชวงศ์
เครื่องราชูปโภค : หมายถึงเครื่องใช้สอยของพระราชา หรือสิ่งของอันแสดงความเป็นกษัตริย์ ทำขึ้นด้วยวัสดุราคาสูง ตามราชประเพณีถือว่าเป็นของสูง
โดยทั่วไปแล้ว บรรดาเครื่องใช้สอยสำหรับพระมหากษัตริย์ มีทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวันและในพระราชพิธี นับว่าเป็นเครื่องราชูปโภคทั้งสิ้น อาทิ เครื่องทรง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องศาสตราวุธ เครื่องสูง เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ
บุษบกพรหมพักตร์ (ปราสาท ทอง) .. บุษบกยอดปราสาท หรือ ปราสาททอง ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นของดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 .. สร้างจากไม้จำหลักลาย ปิดทองประกับกระจก ฐานสิงห์ประดับลายกระจัง หลาซ้อนชั้น มีเรือนยอด ประดับครุฑแบกที่มุมทั้งสี่ของยอดพรหมพักตร์
สมัยรัชกาลที่ 4 ใช้ประดิษฐานพระโกษบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระวรราชเจ้า กรมพระราชวังสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1-3 ได้แก่ สมเด็จพระวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ สมเด็จพระวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์
เครื่องสูง .. จะเห็นอยู่ด้านหลังบุษบก
เครื่องสูง .. เช่น ฉัตร บังแส้ พัดโบก เป็นต้น เรียกตามลักษณะการใช้งานที่อยู่สูงเหนือศีรษะ ลักษณะและจำนวนชั้นของฉัตร เป็นเครื่องบ่งบอกพระอิสริยยศของผู้ใช้
การใช้งาน มีทั้งการปักใช้ประจำสถานที่ และเชิญเข้าขบวนแห่ในพระราชพิธีต่างๆ .. ในดินแดนไทยพบหลักฐานการใช้เครื่องสูงมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี และมีการใช้ต่อเนื่องมาในสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโฏสินทร์ จนถึงปัจจุบัน
พระแท่นราชบัลลังก์ .. พระแท่นราชบัลลังก์ และพระโธรน .. คือ พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมราชวงศ์ในการเสด็จออกว่าราชการ หรือประทับในพระราชพิธีต่างๆ จัดเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ลักษณะของพระแท่นที่ทำเป็นฐานซ้อนชั้นลดหลั่นกัน สะท้อนคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ซึ่งจำลองรูปจักรวาลทางพุทธศาสนา .. พระแท่นเปรียบดังเขาพระสุเมรุ แกนกลางของจักรวาลอันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพยดา พระมหากษัตริย์ผู้ประทับเหนือพระแท่น จึงเปรียบเสมือนองค์สมมุติเทพ ที่จุติลงมายังโลกมนุษย์
ในภาพ เป็นพระแท่นราชบัลลังก์สมัยรัชกาลที่ 5 .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 เป็นไม้จำหลักลาย ปิดทอง ประดับกระจก มีพนักพิงและกง ใช้สำหรับประทับเวลาเสด็จออกเต็มยศ
พระเก้าอี้ .. เป็นพระเก้าอี้ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเก้าอี้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเก้าอี้ลสยดอกไม้ จปร
.. ในสมัยรัชกาลที่ 4 อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกแพร่เข้าสู่ไทยมากขึ้น การสร้างพระแท่นราชบัลลังก์แบบเดิม ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการสร้างเก้าอี้แบบฝรั่ง เรียกว่า พระโธรน หรือ พระที่นั่งโธรน ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Throne หรือราชบัลลังก์
หลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างพระโธรนขึ้นหลายองค์ เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆกัน ตามแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงโปรด พระโธรนสร้างขึ้นเป็นพระเกียรติประจำรัชกาล สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
กรรไกรคร่ำทอง มัดเจียนหมากด้ามแก้วและด้ามนาก หีบหมากกะไหล่ทอง กระโถนกะไหล่ทอง
พระแสงง้าว .. สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25
ดาบ ... ดาบญี่ปุ่น .. ดาบอาญาสิทธิ์ ที่พระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เพื่อให้สิทธิ์ขาดในราชการทัพ .. ดาบฝักไม้คาดกะไหล่ทอง ดามหุ้มทองคำสลักลาย เป็นดาบประจำแม่ทัพของ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)
ในอดีต .. พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องทองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องประดับ เครื่องทองที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในศาสนพิธี หรือประกอบพิธีกรรมความเชื่ออื่น ๆ (ปัจจุบัน ปี 2564 ไม่มีการตีดแสดงแล้ว)
เครื่องทองที่จัดแสดงอยู่ในห้องมหรรฆภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุส่วนหนึ่งที่พบจากกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องประกอบพิธีกรรม และเครื่องพุทธบูชา ซึ่งประกอบด้วยแผ่นทองรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า เต่า และเครื่องประดับ เช่น พาหุรด กรองศอ และกำไลข้อพระกร เป็นต้น เครื่องทองเหล่านี้ เป็นเครื่องราชูปโภคที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวายเจ้านายที่สวรรคต โดยสร้างพระปรางค์บรรจุไว้
นอกจากนี้ยังมีลานทอง ลานเงิน ซึ่งจารึกถึงการสร้าง หรือการปฏิสังขรณ์พระปรางค์หรือเจดีย์ ของวัดโบราณที่สำคัญตามเมืองต่างๆ
พระพุทธรูปและพระพิมพ์ .. เป็นศาสนวัตถุที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา จากหลักฐานที่สิบค้นได้ มีการพบว่าได้มีการนำเอาทองคำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวาราวดี ส่วนพระพิมพ์นั้นไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ได้ .. ความนิยมที่มีการนำเอาทองคำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปและพระพิมพ์ ปรากฏเด่นชัดในสมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ เทคนิควิธีการสร้างเท่าที่พบ มีทั้งการหุ้ม ปิด บุ ดุน หล่อ และการกะไหล่
เครื่องพุทธบูชา และเครื่องประกอบพิธีกรรม .. คติความเชื่อทางพุทธศาสนาที่ว่า การได้สร้างหรือทำบุญถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะก่อให้เกิดผลบุญต่อผู้สร้างอย่างมหาศาลนั้น เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนร่วมแรง ร่วมใจกันในอันที่จะสร้างสิ่งต่างๆถวายเป็นเครื่องพุทธบูชา ตามกำลังศรัทธา และฐานะของตน
เครื่องพุทธบูชาที่พบมาก นอกเหนือจากพระพุทธรูปและพระพิมพ์แล้ว ยังนิยมสร้างต้นไม้และดอกไม้ทอง ต้นไม้และดอกไม้เงิน ฉัตร สถูป เจดีย์ ประกับคัมภีร์ รูปจำลองสัตว์ที่เป็นมงคลต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว หงส์ นกหัสดีลิงค์ เป็นต้น โดยสร้างด้วยวัสดุที่มีค่าและสูงด้วยราคา
อนึ่งการสร้างพุทธสถาน หรือเทวศถานอันศักดิ์สิทธิ์นั้น จะต้องมีประเพณีการวางศิลาฤกษ์ก่อนเสมอ เพื่อทำให้บริเวณสถานที่นั้นบริสุทธิ์เป็นมงคล .. ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อสถานที่นั้นๆหักพังลงมา จึงมีการพบเครื่องประกอบพิธีกรรม ภายในกรุใต้สถานที่นั้นๆเสมอ เช่น รูปเทวดา แผ่นทองดุนลาย ดอกบัว รูปเต่า เป็นต้น
เครื่องทองที่จัดแสดงใสพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร .. ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุส่วนหนึ่งจากกรุปรางค์ในวัดมหาธาตุ วัดราษฎร์บูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา .. เครื่องทองเหล่านี้มีคุณค่าทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะที่รุ่งเรือง ความมีอารยะที่สูงส่งของชาติไทย รวมถึงทักษะและสุนทรียะในเชิงช่างที่มีฝีมือเป็นเลิศของช่างไทยในอดีต ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องราชูปโภค .. หมายถึง เครื่องใช้สอยของพระมหากษัตริย์ หรือเครื่องที่แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ ทำด้วยวัสดุราคาสูง ตามราชประเพณีถือว่าเป็นของสูง บุคคลที่ไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มิบังควรล่วงล้ำจับต้อง
บรรดาเครื่องใช้สำหรับกษัตริย์ มีทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในพระราชพิธี อาทิเช่น เครื่องทรง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องศาสตราวุธ เครื่องสูง เครื่องประกอบพระอิสริยยศ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา