9 ก.พ. 2022 เวลา 04:20 • ครอบครัว & เด็ก
#เจ้าปันสตอรี่ ตอนที่๑๓
"หนังสือของลูก กับ การอ่านของผม"
ผมเชื่อว่าสำหรับพ่อแม่รุ่นใหม่ๆ หนังสือนิทานก่อนนอนของลูกเล่มแรกๆ ก็มักจะเป็นหนังสือประกอบภาพที่มีเนื้อเรื่องสั้นๆจบในเล่ม สามารถอ่านให้เด็กฟังจนจบเรื่องได้ทุกครั้ง
เจ้าปันเองก็เริ่มแบบนี้เหมือนกันครับ พอโตขึ้นอีกหน่อยก็เป็นหนังสือแบบที่มีสติ๊กเกอร์มาให้ด้วย เพื่อแปะบนรูปประกอบเนื้อเรื่อง ราคาไม่ต่างกันมากแต่เด็กๆได้ฝึกทักษะการใช้มือ นิ้ว การสังเกต เพิ่มขึ้นอีกหน่อย ผมเห็นแล้วยังชอบเลย ทำไมตอนตรูเด็กๆไม่มีแบบนี้มั่งฟะ? อิจฉา! 😂
ผมกำหนดกับตัวเองว่าถ้าผมพาเค้าเข้านอน ผมจะอ่านหรือเล่านิทานให้ลูกฟังทุกครั้ง บางครั้งถึงขนาดลองแต่งเองบ้าง ทำได้แค่ ๒-๓ ครั้ง ก็เลิกครับ ไม่รอด! ความคิดยังไม่ลื่นไหล ไม่กะล่อนพอ! แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ สบาย! 😅
แรกๆที่อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาน้อยๆ มีภาพประกอบเยอะๆ มันง่ายๆครับ! ใส่น้ำเสียงง่าย หยุดพักคุย ชี้โน่นชมนี่ ไปได้เรื่อยๆ
แต่พอเค้าโตขึ้นมาประมาณช่วงประถมต้น ผมเห็นว่าสมควรเปลี่ยนรูปแบบหนังสือที่อ่านให้ฟังได้แล้ว เปลี่ยนจากนิทานหรือนิยายภาพมาเป็นวรรณกรรมเยาวชนดีกว่า ถึงจะมีรูปน้อยมากแต่น่าจะเสริมจินตนาการการได้ดีกว่า (อันนี้คิดเอาเองล้วนๆ)😝
พอได้มาอ่านวรรณกรรมเยาวชนให้เจ้าปันฟัง ก็มาเจอว่าการอ่านหนังสือแบบนี้โดยต้องออกเสียงด้วยนี่ มันไม่ง่ายเลยแฮะ!
ด้วยที่ภาพประกอบน้อยมาก กลัวลูกจะเบื่อ! ก็เลยต้องทำน้ำเสียงให้เหมาะกับเหตุการณ์ เหมือนกำลังเล่าเรื่องอยู่ ครั้นต้องทำน้ำเสียงไปด้วย ทำให้การอ่านจึงต้องรู้ล่วงหน้าคำหรือประโยคที่จะอ่าน เพื่อจะได้แบ่งวรรคตอน ลงน้ำเสียงได้เป็นธรรมชาติ ไงละ! เจองานท้าทายอีกแระ! สู้! 👍
ระหว่างอ่านไปก็แว่บนึกถึงคำพูดของอาจารย์ภาษาไทยสมัยมัธยมปลาย ตอนที่ท่านเรียกให้ผมไปอ่านหนังสือให้ฟังเพื่อคัดตัวไปอ่านแข่งขัน แม้ผมจะไม่ผ่านการคัดเลือกเพราะอ่านแข็งมาก(ชัดเจนแต่ไร้อารมณ์สิ้นดี จำได้!) แต่ได้ความรู้และยังจำคำพูดของท่านได้ดี
"..เวลาอ่านน่ะ..เธอจะต้องกวาดสายตาไปอึก ๑-๒ บรรทัดข้างล่างด้วย ถ้าเธอจ้องแต่คำหรือประโยคที่เธออ่าน เธอจะไม่เข้าใจอารมณ์ของเรื่อง..และจะสร้างน้ำเสียงไม่ทัน" 😉👌
ผมได้ฟังวันนั้นทำให้เข้าใจทันทีว่าพวกนักข่าว พิธีกร เค้ามีวิธีอ่านกันยังไง แม้จะสนใจก็ตาม แต่พอไม่ได้ใส่ใจหรือใช้งาน ก็ลืมเลือนคำสอนนี้ไปเลย 😓
แต่วันนี้มันกลับมาแล้ว!
นึกขึ้นได้ก็ถือโอกาสฝึกซะเลย! แป๊บเดียวก็ทำได้ ไม่กี่วันก็คล่อง รู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกครั้ง เพราะได้ประโยชน์หลายทาง(ตามประสาคนโลภ) ทั้งลูกได้ฟังเรื่องราวสนุกขึ้น แถมเราเองก็ได้ฝึกการอ่าน การออกเสียง ได้ฝึกรับรู้ตัวเอง
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีเบื่อบ้าง อยากอู้อยากเบี้ยวบ้าง แต่ก็ยังทำสม่ำเสมอเพราะได้สัญญากับลูกไว้แล้ว ต้องทำตามที่พูดไว้
"รักษาคำพูด" อันนี้ก็เป็นการสอนอีกแบบนึง!
นอกจากจะอ่านแบบได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่องแล้ว ผมยังฝึกให้ตัวเองอ่านให้ชัดถ้อยชัดคำด้วย เพราะคิดเสมอว่าถ้าเราอ่านชัด พูดชัด ลูกก็จะเป็นคนพูดจาชัดถ้อยชัดคำเช่นกัน ปัญหาที่ได้ยินอยู่เสมอๆว่า "วัยรุ่นสมัยนี้มันเป็นอะไรกันไปหมด? จะพูดจะคุยก็อ้อมแอ้ม ลิ้นคับปาก ฟังไม่รู้เรื่อง" ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเจ้าปันแน่นอน
และมองอีกว่าการพูดจาชัดถ้อยชัดคำเป็นการสร้างโอกาสให้ชีวิตเพิ่มได้อีกหลายทาง ไม่ว่าการสัมภาษณ์งาน หรือโอกาสทางอาชีพ
อันนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ไปประมาณนึงแล้ว จากกิจกรรมต่างๆที่ลูกได้รับโอกาสตั้งแต่มัธยมจนปัจจุบัน
วรรณกรรมเยาวชนที่เลือกอ่านในช่วงแรกๆ ได้แก่ เจ้าชายน้อย, ติสตู ฯลฯ โดยจะตกลงกับลูกว่า จะอ่านวันละบทบ้าง, ๔-๕ ตอนบ้าง แล้วแต่ความยาวของเนื้อหา
ผมถือโอกาสแทรกการสอนเรื่องการ"รอคอย"ให้เค้า(เพิ่มจากที่เคยทำมา) โดยจะไม่อ่านเกินกว่าที่ตกลงกันและจะไม่น้อยกว่าที่ตกลงไว้เช่นกัน ซึ่งเจ้าปันก็รับฟังและปฏิบัติตามด้วยดี ส่วนวันไหนที่อ่านจบแล้วลูกยังไม่ง่วง ยังไม่นอนทันที เราก็จะคุยต่อถึงเรื่องที่เพิ่งอ่านจบ ผมจะถามความคิดเห็นและรอฟังความคิดของลูกบ้าง ช่วยเพิ่มเติมใส่ไอเดียบ้าง มีความสุขกันไป!
การทำแบบนี้มีส่วนช่วยให้เรา(พ่อลูก)เป็นคนที่สนุกกับ"การรอคอย" แม้จะเป็นการติดตามดูทีวีซีรีย์ก็ตาม จบวันและรอคอยอย่างมีความสุขทุกครั้ง! 😊
หนังสือเรื่องที่ผมชอบและคิดว่ามีอิทธิพลกับลูกในหลายๆด้านและมากกว่าเล่มอื่นๆคือ "โต๊ะโตะ เด็กหญิงข้างหน้าต่าง" และ "นางสาวโต๊ะโตะ"
เล่มแรกเป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นในวัยประถมคนหนึ่ง ว่ามีชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง เนื้อเรื่องสนุก เพลิดเพลิน ได้ข้อคิดง่ายๆหลายมุม แต่ที่ได้ผลทันทีคือเรื่องโภชนาการของลูก หนังสือเล่มนี้สอนเรื่องโภชนาการแบบง่ายๆ สนุก "กินอาหารจากภูเขาและทะเล" ผมจำได้ดี และได้ความรู้ด้วยเช่นกัน ทำให้ผมมีข้อมูลเอาไว้แนะลูกตอนเลือกสั่งอาหารหรือตอนทานแบบที่เค้าเองก็ทำตามได้แบบมีความสุข
ส่วนเล่มที่๒ เป็นเรื่องของเด็กคนเดียวกันนี้ตอนโตเป็นสาว เข้าวัยทำงาน แม้เนื้อหาจะโตกว่าวัยของเจ้าปันมาก แต่ก็ทำให้เค้าได้เห็น รับรู้ เรื่องราวของชีวิตคนในอีกรูปแบบ ทำให้เข้าใจโลก เข้าใจคนมากขึ้น 😘
วรรณกรรมเยาวชนเป็นหนังสือที่"เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี"ครับ
ผมเองนอกจากได้ฝึกอ่านแล้ว ยังช่วยปลุก"โลกการอ่าน"ให้กลับมาอีกครั้ง ได้ข้อมูล ความรู้ และไอเดียมาใช้ในการขัดเกลาตัวเองเพื่อเป็น"พ่อ"ที่ดีขึ้น จากหนังสือที่อ่านให้ลูกฟังอีกเยอะแยะเต็มไปหมด
การอ่านนิทาน นิยาย วรรณกรรม หรือเล่าเรื่องให้้ลูกฟัง และการพูดคุยกันก่อนนอนมีพลังมากมายมหาศาลกว่าที่คิดนะครับ
ผมรับรองได้! ❤️👍😄
#คนโชคดี #ทำบุญ #mystyle #mysoul #เจ้าปันสตอรี่ #ในระหว่างความคิดถึง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา