18 พ.ย. 2021 เวลา 09:32 • ท่องเที่ยว
พระที่นั่งพรหมเมศธาดา : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เป็นพระวิมานหลังเหนือในหมู่พระวิมาน เมื่อแรกสร้างในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุริสิงหนาทนั้น มีนามว่า "พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์" โดยมีการสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะมีนามอื่นมาก่อน ในทำนองความว่าใช้เป็นที่ประทับในฤดูร้อน แต่อาจมีเหตุทำให้ต้องเปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่
ภายหลังการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ทรงเปลี่ยนสร้อยพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งพรหมเมศธาดา" เพื่อให้ชื่อสอดคล้องกับ "พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย" ที่พระองค์โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ด้วย
พระวิมานหลังนี้เคยใช้เป็นหอพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท แต่ภายหลังจากการย้ายพระอัฐิไปประดิษฐานที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศแล้ว ก็ไม่มีปรากฏว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใดเสด็จมาประทับ ณ พระวิมานองค์นี้ ภายหลังจึงใช้เป็นที่เก็บของตลอดมา
ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ ประเภทศิลปะเครื่องมุก และเครื่องใช้ในพุทธศาสนา
ชั้นบนของพระที่นั่งพรหมเมศธาดา ... จัดแสดงเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา เช่น พัดพระราชลัญจกร เครื่องบริขารสงฆ์ เป็นต้น อันเป็นการรวมศิลปะไทยหลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน
สำหรับศิลปินและช่างศิลป์ไทยแต่โบราณนั้นถือว่า การทำงานรับใช้พระพุทธศาสนา คือที่สุดของงานศิลป์ที่ช่างจะบรรจงลงแรงอย่างสุดฝีมือ
.. ตาลปัตร พัดยศ และพักรองนั้นจึงเปรียบได้กับที่สุดของงานศิลปะไทย ที่รวมงานช่างหลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งงานปัก แกะสลัก ฝังมุก งานไม้ และงานจิตรกรรม
ห้องเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนานั้นแม้จะเต็มไปด้วยพัดยศ พัดรอง และตาลปัตร แต่เมื่อมีการนำมาจัดแสดงใหม่เลือกเฉพาะงานชิ้นเอก จัดวางในตู้รักษาอุณหภูมิ พร้อมใส่แสงไฟสาดลงไป ก็ทำให้เห็นรายละเอียดของงานศิลปะชิ้นครู
ใครที่ชื่นชอบผลงานชั้นครูของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ถือได้ว่าเป็นศิลปินไทยโมเดิร์นในยุคนั้น ผู้เปลี่ยนธรรมเนียมของการทำพัดยศที่ไม่ได้มีแต่ลวดลายไทย ทว่า ยังสะท้อนตัวตน บุคลิกของผู้สร้างถวาย และเรื่องราวต่างๆ ลงไปอีกด้วย .. ที่นี่ ได้รวบรวมชิ้นงานพัดยศของท่านไว้มากที่สุดนอกเหนือไปจากตำหนักที่ประทับวังปลายเนินในปัจจุบัน
หากสังเกตอย่างจดจ้อง .. จะพบว่าพระองค์ท่านได้ซ่อนอักษร น.ไว้ในลวดลายให้เป็นดั่งลายเซน เฉกเช่นศิลปินในฝั่งตะวันตกนิยมกระทำ แต่สำหรับสยามกลับกลายเป็นสิ่งใหม่มากในยุคนั้น
ย่ามของพระสงฆ์ .. ภาพแรก เป็นย่ามปักหักทองขวาง ของสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์เทพวราราม พระครูสมุห์สงฆ์ วัดอรุณราชวราราม ถวาย
เครื่องใช้อื่นๆในทางพุทธศาสนา เช่น ตู้พระธรรม ผ้าห่อคัมภีร์
เครื่องมุกในราชสำนักสยาม .. จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่างานประดับมุกที่เก่าแก่ที่สุกเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ตู้พระไตรปิฎกประดับมุกสมัยสมเด็จพระสรรเพ็ญที่ 8 (พระเจ้าเสือ) .. บานประตูประดับมุกสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (สทเด็จพระเจ้าบรมโกศ) และบานประตูประดับมุกที่พระวิหารวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏความนิยมต่อเนื่องกันมา พบเจอในหลายๆสถานที่ เช่น ที่บาสนประตูพระอุโบสถ บานประตูพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม .. บานประตูพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมนมังคลาราม เป็นต้น
นอกจากความนิยมประดับมุกบนบานประตู บานหน้าต่างของวัดต่างๆแล้ว .. คนไทยยังนิยมการประดับมุกบนภาชนะเครื่องใช้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่มักจะทำอย่างพิเศษ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่นเดียวกับภสชนะเครื่องใช้สำหรับชนชั้นสูง หรือขุนนางในฐานะเครื่องยศฐานันดรศักดิ์ในสังคมไทย
.. เมื่อเราเข้าไปชม ต้องตื่นตาตื่นใจไปกับแสงประกายจากเครื่องมุกที่เรียงไทม์ไลน์จากเครื่องมุกโบราณสู่งานมุกในปัจจุบัน ที่อวดฝีมือชั้นครูของช่างทำมุกในเมืองไทย
เครื่องมุกที่จัดแสดงในห้องนี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมุกในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งถือว่าเป็นงานชิ้นครูในการทำเครื่องมุกของไทยที่ช่างในปัจจุบันก็ยากที่จะทำออกมาได้เหมือน
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา