27 พ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
ความรู้สึกที่เราเก็บงำเอาไว้ในการทำงาน ล้วนเชื่อมโยงกับมุมมองที่เราตีความต่อโลก และความคิดก็ส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด วิธีที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ "การรู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร" และ "จัดการอารมณ์ของตนได้" เป็นอย่างดี
แล้วอะไรที่ช่วยปกป้องคุณค่าของงานและศักดิ์ศรีไปพร้อมกันได้ ในวันที่สะดุดล้มจนหน้าทิ่มต้องทำอย่างไรจึงจะลุกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง พวกเราต้องทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับความรู้สึกแย่ ๆ ที่ครอบงำอยู่
1. ต้องฝึกอ่านอารมณ์ตัวเองให้เป็น
สมมติว่าที่ที่คุณอยู่ร้อนมาก คุณจึงทำให้มันเย็นด้วยการเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ ในทางกลับกัน หากที่ที่คุณอยู่มันหนาวมาก คุณก็คงหาทางทำให้มันอุ่นขึ้น "การฝึกอ่านอารมณ์" ก็เช่นกัน มันคือการสังเกต "อุณหภูมิภายในใจ" ของเราเอง เมื่อเข้าใจแล้วว่าอุณหภูมิภายในใจของตนเป็นอย่างไร เราก็จะหาทางปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปัญหาคือพวกเรามักเพิกเฉยต่อความรู้สึกของตนเอง แล้วพอมองข้ามความรู้สึกเหล่านั้นบ่อยครั้งเข้า ไม่นานเครื่องวัดอุณหภูมิภายในใจก็พังในที่สุด
2. ถามตัวเองว่าคุณเชื่อในอะไร
เป็นเรื่องดีถ้าเราสงบจิตใจของตนเองได้ เมื่อรู้สึกไม่พอใจหรือมีอารมณ์ในแง่ลบเกิดขึ้น แต่ความรู้สึกนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน มันยังคงวนเวียนอยู่ในหัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กรณีนี้ต้องถามตัวเองว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น โดยตรวจสอบว่า #ความเชื่อของคุณคืออะไร
ความรู้สึกต่าง ๆ จะถูกกระตุ้นทันทีจากการกระทำใด ๆ ก็ตาม และระหว่างที่กำลังจะก่อตัวเป็นความรู้สึกนั้น มันได้ผ่านฟิลเตอร์ที่เรียกว่า #ความเชื่อของฉัน หรือพูดง่าย ๆ คือ "การตีความของฉัน" ซึ่งแต่ละคนสามารถสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันขึ้นมาได้ตามการตีความของตน ต่อให้เผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกัน บางคนอาจรู้สึกโกรธ ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเศร้าก็ได้ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ ความเชื่อของเรานั้นหนักแน่นมากพอหรือไม่ เพราะมีหลายครั้งที่ความเชื่อของเราถูกบิดเบือนไป
3. ลองสู้กับสิ่งที่เราเชื่อกันสักตั้ง
หากตรวจสอบแล้วพบว่าความเชื่อของคุณถูกบิดเบือน คุณต้องต่อสู้กับความเชื่อนั้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบข้อเท็จจริง : ต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่ฉันกำลังเชื่ออยู่นั้นจริงหรือไม่ เพราะบางครั้งความเชื่อของเราก็แข็งแกร่งมากจนทำให้เราตีความบิดเบือนความจริงได้เช่นกัน
- ตรวจสอบมุมมอง : เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ลองดูว่ามีมุมมองอื่นที่คิดได้อีกหรือไม่ เป็นการให้พื้นที่ตัวเองได้คิดนอกกรอบ เช่น การลองตีความใหม่จากมุมมองของบุคคลอื่น
- ตรวจสอบคุณประโยชน์ : สมมติว่าไม่ว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและมุมมองอย่างไรก็ยังเห็นว่ามันชัดเจนถูกต้อง แต่สุดท้ายแล้วถ้าความเชื่อนั้นจะนำไปสู่สถานการณ์ในแง่ลบ ก็ขอให้ทิ้งมันไป
เคล็ดลับดี ๆ จากหนังสือ
"คนที่เก่งขึ้นทุกวัน เขาทำงานด้วย Mindset แบบนี้"
เขียนโดย ชเวฮเยอึน และ จัสมิน ฮัน
สำนักพิมพ์ Amarin HOW-TO
ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay
โฆษณา