19 พ.ย. 2021 เวลา 04:40 • ประวัติศาสตร์
อัตติลา(Attila)จอมคนแห่งฮันส์
อัตติลาเป็นผู้นำชาวฮันส์ ซึ่งเป็นอนารยชนที่อพยพจากเอเชียกลางเข้าสู่ยุโรป ในศตวรรษที่ 4 ปลายยุคโรมัน พวกฮันส์ได้สร้างความหายนะให้กับดินแดนต่างๆ ที่กองทัพของพวกเขาเคลื่อนผ่าน ซึ่งก็รวมถึงจักรวรรดิโรมันด้วย
อัตติลา จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน
ราว ปี ค.ศ. 400 ชาวฮันส์ได้สร้างอาณาจักร โดยมีผู้นำชื่อ อุลดิน เป็นกษัตริย์ปกครอง จากนั้นก็มีกษัตริย์สืบต่อมาอีกหลายพระองค์ โดยอาณาจักรฮันส์ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโอลด์ในโรมาเนียและแม่น้ำดานูบในฮังการี ทั้งยังผนวกชนเผ่าในแถบใกล้เคียงเข้าในอำนาจด้วย
อัตติลาเป็นผู้นำชาวฮันส์ ที่ถูกจดจำและได้รับกล่าวถึงมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ เขาถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 406 บิดาของเขาเป็นน้องชายของกษัตริย์รูอัสหรือรัวกิลัส อัตติลามีพี่ชายหนึ่งคน นามว่า บลีดา หลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์รัวกิลัส บลีดาและอัตติลาได้ขึ้นเป็นผู้นำร่วมกัน โดยอัตติลาปกครองดินแดนฝั่งตะวันตก ส่วนบลีดาปกครองดินแดนตะวันออก
ในยุคนี้ ฮันส์ได้เริ่มทำศึกเต็มรูปแบบกับโรมัน โดยใน ค.ศ. 441 ฮันส์ได้ละเมิดข้อตกลงการค้าที่ทำร่วมกับโรมันตะวันออกและส่งกองทหารเข้ายึดเมืองชายแดนระหว่างโรมันตะวันออกกับอาณาเขตของอนารยชน
1
ทหารฮันส์เข้าปล้นดินแดนยุโรป
ทั้งนี้ ฮันส์ได้อ้างว่า สังฆราชาแห่งเมืองมาร์กัสให้คนแอบข้ามแม่น้ำดานูปไปลอบขุดสมบัติในสุสานของชาวฮันส์ ฝ่ายฮันส์จึงขอให้โรมส่งตัวสังฆราชามารับโทษ ซึ่งในช่วงแรก ทางโรมยังนิ่งเฉย ทว่าเมื่อทัพฮันส์เข้าทำลายเมืองราเตียเรีย วิมินาซีอุมและเมืองอื่นๆอีกหลายแห่ง โรมก็จำต้องส่งตัวสังฆราชาให้ ทว่าสังฆราชาก็เอาตัวรอดได้ โดยให้สัญญากับอัตติลาว่า จะเป็นไส้ศึกเปิดประตูเมืองให้ จากนั้นอัตติลาก็ปล่อยตัวสังฆราชากลับมาร์กัสและอีกฝ่ายก็ลอบเปิดประตูเมืองให้กองทัพฮันส์เข้าเมืองได้อย่างง่ายดาย
ปีต่อมา จักรวรรดิโรมันตะวันออกได้ทำสัญญาสันติภาพ กับฮันส์ โดยจ่ายทองคำเป็นบรรณาการทุกปีแลกกับการที่ฮันส์จะไม่รุกราน แต่แล้วในปีถัดมา คือ ปี ค.ศ. 443 โรมันตะวันออกได้ถอนทัพกลับจากเปอร์เซียและซิซิลี ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตนเข้มแข็งขึ้นจึงปฏิเสธการจ่ายบรรณาการ อัตติลากับบลีดาจึงยกทัพข้ามแดนมาถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิล กองทัพที่โรมส่งออกไปรับศึกถูกตีแตกยับเยิน จักรพรรดิธีโอโดซิอุสแห่งโรมันตะวันออกต้องรีบทำสัญญาสงบศึกและจ่ายบรรณาการให้ตามที่ฮันส์ต้องการ เป็นทองคำถึง 2,000 ปอนด์
1
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งในอาณาจักรฮันส์ระหว่างอัตติลากับบลีดา และใน ปี ค.ศ. 445 บลีดาได้เสียชีวิตลงกะทันหัน(นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าอัตติลาอาจอยู่เบื้องหลัง) จากนั้นอัตติลาจึงรวบอำนาจทั้งหมดไว้แต่ผู้เดียว และเพื่อเป็นสร้างความชอบธรรมในการนี้ อัตติลาได้กล่าวแก่บริวารว่า มีคนเลี้ยงสัตว์ผู้หนึ่งได้ตามวัวสาวขากะเผลกไปในทุ่งและพบดาบโบราณเล่มหนึ่ง จึงได้นำมาถวายพระองค์ โดยดาบเล่มนั้นคือ ”ดาบของเทพแห่งสงคราม” ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หมายความว่า อัตติลาได้รับพระบัญชาจากเทพแห่งสงครามให้นำชาวฮันส์พิชิตโลก
1
และแล้ว ด้วยการอ้างบัญชาของเทพแห่งสงคราม อัตติลาได้ปราบปรามชนเผ่าต่างๆ ก่อนระดมทัพใหญ่บุกโรมันตะวันออกอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 447 ว่ากันว่าในศึกครั้งนั้น ได้ทำให้พสุธาสั่นสะเทือนไปทั่ว บ้านเมืองและปราการหลายแห่งพังทลายลง
ทางฝ่ายโรมันได้เกณฑ์ทัพใหญ่ออกสู้ศึกแต่ก็พ่ายแพ้อีก จากนั้นทัพฮันส์ได้บุกเข้าไปในแหลมบอลข่านโดยหมายจะขยายถิ่นฐานเข้าไปที่นั่น แต่ก็ถูกต่อต้านจากชาวพื้นเมืองทั่วทุกหัวระแหง จนอัตติลารู้สึกว่า ชาวฮันส์คงไม่อาจตั้งถิ่นฐานที่นั่นได้ อัตติลาจึงถอนทัพกลับฮังการีพร้อมทรัพย์สมบัติมหาศาลที่ปล้นมาได้
ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้อาณาจักรฮันส์ขยายอำนาจกลายเป็นจักรวรรดิปกครองชนชาติต่างๆรอบข้าง
1
เหรียญโบราณสมัยโรมัน รูป อัตติลา
ปริสคัส ราชทูตโรมันตะวันออกที่ไปเยือนราชสำนักฮันส์ใน ปี ค.ศ. 448 ได้เขียนเล่าไว้ว่า
“ในงานเลี้ยง อัตติลาแสดงถึงความสมถะของพระองค์ ด้วยการเสวยอาหารในจานไม้ ส่วนถ้วยที่ใช้ ก็ทำจากไม้ ขณะบรรดาแขกที่ร่วมงาน ล้วนใช้ภาชนะเงินและทองคำ อัตติลาทรงสวมฉลองพระองค์แบบธรรมดา และมีเพียงพระแสงดาบเก่าๆเล่มหนึ่ง แขวนอยู่ข้างวรกาย โดยมิได้ประดับพระองค์ด้วยทองหรืออัญมณีเหมือนเช่นดังคนอื่นในงาน”
ในปี ค.ศ. 448 อันเป็นปีเดียวกับที่ปริสคัสไปเยือนราชสำนักฮันส์นั้น อัตติลาได้ยกทัพบุกเข้าแคว้นเธรซและอิลิเรีย ก่อนจะบุกไปถึงคอนสแตนติโนเปิล แต่ก็ไม่ได้เข้าโจมตี ด้วยรู้ว่ากำแพงเมืองแข็งแกร่ง เกินกว่าที่กองทัพของพระองค์จะทำลายได้ อัตติลาจึงเพียงแต่ทำข้อตกลงกับอีกฝ่าย โดยบังคับให้จักรวรรดิโรมันตะวันออกสละดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำดานูปลึกเข้าไปเป็นระยะทางเดินเท้าห้าวัน จากเมืองซิงกีดูนัมจนถึงโนเวีย ให้เป็นเขตปลอดผู้คนระหว่างฮันส์กับโรมัน
1
ทั้งนี้ อัตติลาอาจประสงค์มิให้โรมันเข้าโจมตีอาณาจักรของพระองค์โดยไม่ทันรู้ตัว หรือไม่เช่นนั้นก็อาจทรงต้องการป้องกันไม่ให้คนในบังคับของฮันส์ หนีเข้าไปอยู่ในโรมันตะวันออก อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ก็ยังมีพลเมืองบางส่วนที่ถูกกวาดต้อนออกมา แอบหลบเข้าไปทำมาหากินในเขตปลอดผู้คนอยู่เสมอ
แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เนื่องด้วยในเวลาต่อมา จักรพรรดิธีโอโดซิอุสที่สองทรงสิ้นพระชนม์และจักรพรรดิมาร์เซียนที่ขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงปฏิเสธที่จะจ่ายบรรณาการให้ฮันส์และพร้อมที่จะทำศึก หากจะเกิดขึ้น
1
ทว่าอัตติลามิได้สนใจจักรวรรดิโรมันตะวันออกอีกต่อไป ด้วยพระองค์อาจเห็นว่า ที่นั่นไม่มีอะไรให้ปล้นอีกดังนั้นจึงหันไปให้ความสนใจกับจักรวรรดิโรมันตะวันตก โดยในครั้งนี้ อัตติลาได้ส่งทูตไปยังโรมและเสนอตัวเป็นพันธมิตร โดยจะยกทัพไปช่วยขับไล่พวกวิสิก็อธที่เข้าครอบครองดินแดนฝรั่งเศสตอนใต้ อีกทั้งอัตติลายังขออภิเษกกับพระขนิษฐาของจักรพรรดิวาเลนติเนียนพร้อมขอสินสอดเป็นดินแดนครึ่งหนึ่งของโรมันตะวันตก ซึ่งเรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองให้จักรพรรดิเป็นอันมาก พระองค์จึงปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
2
ดังนั้น ในปีรุ่งขึ้น คือ ปี ค.ศ. 451 อัตติลาก็กรีฑาทัพใหญ่บุกเข้าแคว้นกอล ซึ่งนอกจากนักรบฮั่นแล้ว ในกองทัพของพระองค์ยังประกอบด้วยชนเผ่าพันธมิตรและบริวารอันได้แก่ ออสโตรก็อธ รูกี ฮีรูลี เคปิด สคีรี ธูริงเคียและแฟรงค์ โดยทัพของอัตติลาได้เข้ายึดเมืองเมตซ์ได้ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ปัจจุบันนี้ คือ เมืองออลีอองส์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นดินแดนของชาวอลัน ที่เป็นเมืองขึ้นของโรมันตะวันตก โดยสังกีบาน กษัตริย์ของชาวอลันได้ส่งทูตมาขออ่อนน้อมและให้สัญญาว่าจะยอมมอบเมืองให้อัตติลาในทันที่ ที่ทัพฮันส์ยกมาถึง
3
ในเวลานั้น ฟลาเวียส อัยติอุส ผู้บัญชาการทหารโรมันตะวันตก ยังอยู่ในอิตาลี และเมื่อทราบข่าวศึก ก็เคลื่อนพลมาตั้งรับ ทว่าตอนนั้นโรมันตะวันตกเพิ่งเสียอาฟริกาเหนือให้พวกแวนดัลและมีทหารของจักรวรรดิเหลืออยู่เพียงสามหมื่น ซึ่งหลังแบ่งทหารไว้รักษาเมืองสำคัญๆแล้ว อัยติอุสก็เหลือทหารที่จะใช้รับศึกเพียงหมืื่นเศษ เขาจึงพยายามรวบรวมกำลังพลจากอนารยชนที่เป็นพันธมิตรได้แก่ เบอร์กันเดียน อาโมริคันเคลต์ แซกซอน รวมทั้งนักรบแฟรงค์บางส่วนที่แยกตัวจากเผ่าเดิมมาขออาศัยอยู่กับโรมันด้วย
ทว่ากองทัพของอัยติอุสก็ยังเล็กเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับทัพฮันส์ เขาจึงส่งนายทหารนามว่า อาวีตุส เดินทางไปยังโตโลซาซึ่งเป็นอาณาจักรของวิสิก็อธ เพื่อเจรจาขอเป็นพันธมิตรกับธีโอโดริค กษัตริย์วิสิก็อธ โอรสของ อลาริค ผู้เคยนำทัพเข้าพิชิตกรุงโรมมาก่อน
แม้ว่าจะเคยเป็นศัตรูกับอัยติอุส ทว่าธีโอโดริคก็ทรงพระปรีชาพอที่จะรู้ว่า หากฮันส์พิชิตโรมันตะวันตกได้แล้ว อาณาจักรของพระองค์ก็คงกลายเป็นที่หมายต่อไปของอัตติลา ดังนั้น ธีโอโดริคจึงยอมรับข้อตกลงของโรมันและเสด็จนำนักรบ 25,000 คนมารวมกำลังกับอัยติอุสเพื่อรับศึกฮันส์
1
ทัพพันธมิตรยกไปถึงแคว้นของชาวอลัน ก่อนหน้าทัพฮันส์และบีบให้สังกีบานส่งนักรบทั้งหมดเข้าร่วมรบ ทำให้ทัพหน้าของฮันส์ต้องถอยมารวมกับทัพใหญ่และเบนหน้าไปยังเมืองตรีคัสเสส เพื่อเตรียมรับมือทัพพันธมิตรโรมัน-วิสิก็อธ โดยเลือกสนามรบในทุ่งราบที่ชื่อ คาตาเลาเนียน (Catalaunian) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 451 กองทัพของทั้งฝ่ายก็มาเผชิญหน้ากัน
1
สมรภูมิคาตาเลาเนียน เป็นทุ่งกว้างเหมาะแก่การรบกันด้วยทหารม้า ตอนกลางของทุ่งเป็นสันเนินสูงที่มีทางลาดลงทั้งสองด้าน การรบได้เริ่มขึ้นในตอนบ่าย โดยทัพม้าของทั้งสองฝ่ายได้มุ่งจะเข้ายึดเนินแห่งนั้นเพื่อชิงชัยภูมิที่ได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามเอาไว้
สมรภูมิแห่งคาตาเลาเนียน
อัยติอุสไม่ไว้ใจนักรบอลันของสังกีบาน เขาจึงจัดให้พวกวิสิก็อธของธีโอโดริคเป็นปีกขวาและกองทัพผสมของเขาเป็นปีกซ้ายโดยขนาบทัพอลันไว้ตรงกลางเพื่อกันไม่ให้พวกอลันหนีทัพ ส่วนอัตติลานั้นได้จัดทัพโดยให้ทหารฮันส์เป็นกองกลางและมีพวกออสโตรก็อธกับชนเผ่าอื่นๆ เป็นปีกซ้ายขวา
3
ในบันทึกของนักประวัติศาสตร์โรมันอ้างว่าทัพของอัตติลาในสมรภูมิคาตาเลาเนียนมีกำลังพลถึงห้าแสน แต่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นตัวเลขที่เกินจริงไปมากและประมาณว่าทัพของอัตติลามีกำลังพลราวหกถึงเจ็ดหมื่น ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรโรมัน-วิสิก็อธ มีกำลังพลราวห้าหมื่น
1
หลังจากการรบเริ่มขึ้น ทหารม้าโรมันที่ใส่เกราะอ่อนแบบตาข่ายสวมทับด้วยเกราะเหล็กแบบเกล็ด ได้รุกขึ้นหน้าไปก่อน ตามติดด้วยทหารม้าซึ่งเป็นพวกผู้มีสกุลชาววิสิก็อธซึ่งถือทวนและดาบเป็นอาวุธเข้ายึดเนินด้านหนึ่งไว้ ขณะที่อีกด้านของเนินเต็มไปด้วย เป็นทหารม้าชาวฮั่นและนักรบออสโตรก็อธซึ่งเป็นทัพหน้าของอัตติลา พลธนูทั้งสองฝ่ายต่างระดมยิงเข้าใส่กันแต่ระยะไกล ขณะที่ทหารม้าได้ควบม้าเข้าประจัญบานกัน จากนั้นทหารเดินเท้าของทั้งสองฝ่ายก็เข้าร่วมในการรบด้วย
การรบดำเนินไปอย่างดุเดือดและนองเลือด ก่อนที่ทัพพันธมิตรจะรุกไล่ฝ่ายฮันส์ให้ถอยจากเนินได้ ตลอดเวลานั้น อัตติลาได้ควบม้าในหมู่ไพร่พลและร้องตะโกนปลุกใจเหล่าทหารที่ทำการรบว่า
“ขอผู้บาดเจ็บจงแก้แค้นด้วยการมอบความตายแก่ศัตรู และขอให้ผู้ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บจงสนุกกับการฆ่า”
1
ท่ามกลางความชุลมุนในสนามรบ ธีโอโดริคนำพวกวิสิก็อธต่อสู้กับพวกออสโตรก็อธ ระหว่างการรบ พระองค์ต้องอาวุธที่พระเศียรจนตกจากหลังม้าและสิ้นพระชนม์ทันที ทำให้พวกวิสิก็อธเคียดแค้นเป็นอันมากและรุกตีทัพฮันส์อย่างไม่กลัวตาย จนอัตติลาต้องถอยทัพ และเมื่อความมืดมาเยือน การรบก็สิ้นสุดลง
2
หลังการรบสิ้นสุดลง
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกวิสิก็อธยังมุ่งมั่นจะบดขยี้ทัพฮันส์ให้สิ้นซากเพื่อล้างแค้นให้กษัตริย์ของตน ขณะที่อัตติลา ก็ตระหนักดีว่า ทัพของพระองค์กำลังเข้าตาจน จึงให้ทหารนำเกวียนมาสุมรวมเป็นเชื้อเพลิงกองใหญ่และพร้อมจะเผาตัวเองตายแทนที่จะถูกจับเป็นเชลย หากพ่ายแพ้ ส่วนอัยติอุสก็พอคาดเดาได้ว่า หากรบกันต่อ ฮันส์ต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ทว่าเขาก็ไม่ต้องการให้วิสิก็อธทำลายพวกฮันส์จนหมด ด้วยเกรงว่า วิสิก็อธอาจฉวยโอกาสนี้ยึดแคว้นกอลไปด้วย ซึ่งลำพังทัพโรมันไม่มีทางป้องกันแคว้นกอลได้แน่
อัยติอุสจึงเกลี้ยกล่อมให้โทริสมุนด์ โอรสของธีโอโดริคยกทัพกลับโตโลซาเพื่อจัดการเรื่องสืบบัลลังก์เสียให้เรียบร้อย ส่วนการกวาดล้างชาวฮันส์นั้น ให้พักไว้ก่อน ซึ่งอีกฝ่ายก็เห็นดีด้วย จึงยกทัพกลับไป ทำให้การรบในวันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นและอัตติลาก็สามารถนำทัพกลับดินแดนฮันส์ได้อย่างปลอดภัย
อัยติอุสคิดว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้จะทำให้อัตติลาเสื่อมอำนาจและไม่อาจระดมทัพมารุกรานโรมได้อีก แต่เขาคิดผิด เนื่องจากในปีรุ่งขึ้น คือ ปี ค.ศ. 452 อัติลาก็ได้นำทัพใหญ่เท่ากับเมื่อปีก่อนบุกผ่านแคว้นปันโนเนียและเทือกเขาแอลป์เข้าสู่อิตาลี
1
ทัพฮันส์เข้ายึดเมืองอาควิลียาและทำลายเมืองจนราบคาบ (เล่ากันว่า ชาวเมืองส่วนน้อยที่รอดตายได้อพยพหลบหนีไปตั้งรกรากบนเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นนครเวนิส) ส่วนเมืองดิซินัม (ปัจจุบัน คือ เมืองปาเวีย) และเมืองเมดิโอลานัม (ปัจจุบัน คือ มิลาน) ได้ยอมจำนนและเสียค่าไถ่เป็นทรัพย์สมบัติจำนวนมาก
อัยติอุสหมดทางสู้ เนื่องจากไม่มีกำลังพอจะรบซึ่งหน้ากับทัพฮันส์ได้ เขาทำได้เพียง เชิญเสด็จจักรพรรดิวาเลนติเนียนย้ายไปประทับยังนครราเวนนา จากนั้นก็นำกองกำลังคอยรบก่อกวนทัพฮันส์แบบกองโจร แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการเดินทัพของอีกฝ่ายได้ และไม่นาน อัตติลาก็นำทัพเข้าถึงชานกรุงโรม
1
ในยามนั้น โรมได้ส่งทูตสันติ โดยมี สังฆราชแห่งโรม โป๊ปลีโอที่1 และวุฒิสมาชิกอีกสองคนคือ อาวีนุสและไตรกีดิอุส ไปเจรจากับอัตติลา ซึ่งหลังการเจรจาจบลง อัตติลาก็ออกคำสั่งให้ยกทัพกลับทันที
ไม่มีใครรู้ชัดว่า สันตะปาปาลีโอเจรจาสิ่งใดจึงทำให้อัตติลาเร่งยกทัพกลับ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนั้นของทัพฮันส์ก็กำลังจะไม่ดีนัก โดยเริ่มเกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพ อีกทั้งในคาบสมุทรอิตาลีก็เพิ่งเกิดภัยแล้ง จึงทำให้ทัพฮันส์หาเสบียงได้ไม่มากซึ่งอาจไม่พอเลี้ยงทหารหากต้องทำศึกยืดเยื้อ นอกจากนี้ ยังมีข่าวมาว่า จักรพรรดิมาร์เซียนแห่งโรมันตะวันออกกำลังยกทัพมาช่วยโรมันตะวันตก ซึ่งอาจด้วยสถานการณ์เหล่านี้เอง ที่ทำให้อัตติลาต้องถอนทัพออกจากอิตาลี
หลังสงครามครั้งนี้ อัตติลาได้วางแผนโจมตีโรมันตะวันออกอีกครั้งเพื่อหวังเครื่องบรรณาการ ทว่ายังไม่ทันจะได้ทำตามแผนที่วางไว้ ก็ได้เกิดเหตุขึ้นเสียก่อน กล่าวคือในปี ค.ศ. 453 อัตติลาได้จัดงานฉลองสมรสของพระองค์กับอิดิลโก เจ้าสาวชาวเยอรมัน และพระองค์ก็ได้สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันในคืนวันสมรสซึ่งไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่นอนของการสิ้นพระชนม์ของอัตติลา บ้างก็ว่า เป็นเพราะดื่มน้ำจันท์มากเกินไป บ้างก็ว่า สิ้นพระชนม์เพราะเส้นโลหิตในสมองแตก และบ้างก็ว่า ทรงถูกเจ้าสาวของพระองค์เองวางยาพิษ
เมื่ออัตติลาสิ้นพระชนม์ โอรสของพระองค์ คือ เอลลัค เออร์นัคและเดงกิซิซ ได้แบ่งอำนาจการปกครองเป็นสามส่วน ต่อมาในปี ค.ศ.454 อดาริค กษัตริย์ของชาวเคปิดได้นำทัพเคปิดร่วมกับเผ่าบริวารของฮันส์ก่อกบฏ เปิดศึกกับทัพฮันส์ที่ปันโนเนีย กองทัพฮันส์แตกพ่าย เอลลัค โอรสองค์โตของอัตติลาสิ้นชีวิตในสนามรบ ส่วนเดงกีซิซและเออร์นัคได้นำชนเผ่าอพยพไปทางตะวันออก จากนั้นชาวฮันส์ก็อ่อนแอลง ก่อนถูกกลืนไปกับชนเผ่าอื่นที่เข้มแข็งกว่าจนหายสูญไปในศตวรรษที่ 7
โฆษณา