28 ม.ค. 2022 เวลา 00:30 • ข่าว
ในราคาน้ำมัน 1 ลิตร เราต้องจ่ายอะไรบ้าง ทำให้ถูกลงได้ไหม
แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่จริงๆสำหรับราคาน้ำมันในช่วงนี้ สาเหตุก็มาจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยสหรัฐอเมริกาได้ประกาศพร้อมนำกำลังเข้าต่อต้านหากรัสเซียบุกยูเครนจริง
ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด
ที่ว่ามาก็เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่จะมีทางไหมที่เราจะลดผลกระทบหรือแก้ไขปัญหานี้ในระยะสั้น และมองไปถึงการแก้ไขในระยะยาว
เพราะเรื่องน้ำมันแพงมักวนกลับมาเป็นปัญหาอยู่เสมอและยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากสินค้าเกือบทุกอย่างยึดโยงกับราคาน้ำมันเพราะระบบขนส่งไทยใช้น้ำมันเป็นหลัก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าในราคาน้ำมัน 1 ลิตรประกอบด้วยอะไรบ้าง
1. ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น มีสัดส่วน 40-60%
ถูกอ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน และค่าการสูญหาย "ไม่ใช่ราคาต้นทุนการผลิตน้ำมันจริงๆ"
2. ภาษีและกองทุนต่างๆ มีสัดส่วน 30-60%
ส่วนนี้ควบคุมโดยภาครัฐ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
ภาพจาก https://board.postjung.com/1146789
ส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงจะมีการชดเชยราคาแต่เมื่อราคาน้ำมันต่ำลงก็จะเก็บเงินเข้ากองทุน
3.ค่าการตลาด มีสัดส่วน 7-10%
เป็นค่าดำเนินการของผู้ค้าปลีกน้ำมันและกำไรทั้งระบบตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งและการบริการที่หน้าปั๊ม
ในเมื่อปัจจัยภายนอกเราควบคุมไม่ได้ ก็ต้องมาดูว่าปัจจัยภายในเราควบคุมอะไรได้บ้าง
ในระยะสั้นเราสามารถปรับลดภาษีบางรายการชั่วคราว และเพิ่มเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลสามารถพิจารณาและทำได้เองทันที ซึ่งปกติก็มีการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อลดความผันผวนของราคาอยู่แล้ว
ภาพจาก https://www.infoquest.co.th/2021/137176
ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องประเมินผลดีและผลเสียในภาพรวม ดูเงินในกองทุนน้ำมันว่าเพียงพอหรือไม่ เงินที่เคยถ่ายโอนออกไปก็ต้องนำกลับมาใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ หรือหากจำเป็นอาจจะต้องกู้เข้ามาเติม
ถ้าทำได้จะสามารถลดราคาน้ำมันลงได้แน่นอน 5-10 บาทต่อลิตร
ส่วนในระยะยาวคงต้องมาทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันกันใหม่
1. ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น จากเดิมที่อ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์นั้น สามารถใช้ราคาต้นทุนการผลิตและนำเข้าจริงๆได้หรือไม่
หากทำได้ราคาส่วนนี้จะลดลง แต่ต้องมีมาตรการอื่นๆมาเสริม เช่น การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มเติม หากราคาหน้าปั๊มต่ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้มีการโยกย้ายหรือนำออกขายประเทศเพื่อนบ้าน
ภาพจาก https://pixabay.com/th
2. การปรับลดหรือยกเลิกภาษีในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นรายได้เข้ารัฐมิใช่น้อยและน้ำมันในมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนกองทุนน้ำมันสามารถพิจารณาลดสัดส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนได้
3. ค่าการตลาดที่เป็นค่าดำเนินการและกำไรของผู้ค้าปลีกน้ำมัน อาจทำได้เพียงตั้งเพดานไว้ไม่ให้สูงเกินไป ส่วนรัฐก็มีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอกชนมีต้นทุนที่ถูกลงและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งจะทำให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยทางอ้อม
ภาพจาก https://news.kapook.com
โดยสรุปแล้วเรื่องราคาน้ำมันก็ต้องเข้าใจว่ามันมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ที่สำคัญต้องแก้ให้ถูกจุด และที่ว่ามาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่อยากเห็นการแก้ปัญหาแปลกๆแบบปลายปีที่แล้ว อย่างการเตรียมนำรถทหารออกมาวิ่งแทนขนส่งเอกชน
โฆษณา