19 พ.ย. 2021 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
โอกาสและความเสี่ยงของ Cloud Kitchen กับ ธุรกิจร้านอาหาร
โควิดที่ได้แพร่ระบาดในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้ามาส่งผลอย่างมากกับธุรกิจร้านอาหาร ร้านหลายๆ ร้านได้ทยอยปิดตัวลง บางรายปิดชั่วคราว บางรายปิดตัวลงอย่างถาวร แม้ปัจจุบันสถานการณ์โควิดในประเทศไทยจะดีขึ้นเป็นลำดับ หลายๆ ร้านได้เริ่มกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง แต่การกลับมาเปิดธุรกิจรอบนี้อาจจะมีหลายๆ สิ่งที่ร้านอาจต้องปรับตัว เพราะหลังโควิดตลาดและสภาพการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก
2
📌 ความไม่แน่นอนในการแพร่ระบาดยังมีสูง
การแพร่ระบาดครั้งใหม่ในยุโรปแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดยประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่สูงอย่าง เนเธอร์แลนด์และเยอรมัน ซึ่งประชากรฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 70% ประสบปัญหามีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 20,000 ราย และ 50,000 รายต่อวันตามลำดับ มากที่สุดในประวัติการณ์ของประเทศเหล่านี้ โดยเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศ Partial Lockdown แล้ว ซึ่งอีกหลายประเทศในยุโรปเริ่มกังวลว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหลายประเทศอาจต้องออกมาตราการล็อคดาวน์รอบใหม่ในช่วงคริสมาสต์และปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยและช่วงเวลาสำคัญในการหารายได้ของร้านค้าร้านอาหารต่างๆ
1
การแพร่ระบาดระลอกใหม่แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของการควบคุมการแพร่ระบาดผ่านการฉีดวัคซีน และแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะมีผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง อาจเผชิญกับปัญหาการระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในอนาคตก็เป็นได้หากไม่ระมัดระวัง
1
📌 พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
การแพร่ระบาดของโควิดยังได้เร่งให้คนจำนวนมากหันมาเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นการสั่งอาหารผ่านทางออนไลน์แทนการนั่งทานอาหารในร้าน ทั้งนี้จากแบบสำรวจของ Euromonitor พบว่ากว่า 33% ของผู้ใช้บริการ Food Delivery ในประเทศไทยนั้นเพิ่งเริ่มใช้บริการแอพพลิเคชั่น Food Delivery หลังจากเริ่มมีสถานการณ์โควิด 19 และในอาเซียนกว่า 78% ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจนั้น สั่งอาหารผ่าน Food Delivery มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 87% มีแผนที่จะสั่งอาหารผ่าน Food Delivery เท่าเดิมหรือมากขึ้นในอนาคต โดยเหตุผลหลักนั้น เป็นเพราะความสะดวกสบายในการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น Food Delivery ต่างๆ
2
📌 เทรนด์ Cloud Kitchen ยังมาแรงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากการสั่งออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง คือ Cloud Kitchen ซึ่งเป็นการทำร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านเพื่อบริการให้กับลูกค้า โดยเน้นการใช้พื้นที่เพื่อปรุงอาหาร เพื่อขายผ่านทางช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว โดยผู้ประกอบการอาจแบ่งซอยแยกพื้นที่เพื่อทำเป็นครัวของร้านอาหารแต่ละร้าน หรือ อาจจัดให้ร้านต่างๆ ใช้พื้นที่ครัวเดียวกันและแชร์การใช้งานอุปกรณ์ร่วมกัน
4
ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีกระบวนงานและเทคโนโลยีเพื่อรองรับการจัดการ ซึ่งการทำธุรกิจแบบ Cloud Kitchen ทำให้ผู้ประกอบร้านอาหารสามารถเช่าสถานที่ด้วยค่าเช่าที่ถูกลงเพราะไม่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีหน้าร้านซึ่งมีค่าเช่าสูง สามารถลดต้นทุนด้วยการพัฒนาระบบและนำอุปกรณ์การผลิตคุณภาพสูงมาใช้แบรนด์ต่างๆ สามารถใช้งานร่วมกัน Cloud Kitchen จึงช่วยให้แบรนด์สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ในต้นทุนที่ต่ำลง
3
โดยก่อนหน้านี้บริษัท Delivery รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายได้ทยอยเปิดคลาวน์คิทเช่น Cloud Kitchen อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นดีลระดับประเทศเช่น บริษัท PTT OR ที่ได้ร่วมมือกับ Lineman Wongnai ในการเปิด Lineman Kitchen ในปั๊มน้ำมันปตท.
2
หรือ บริษัท กลุ่ม Central ที่ในปี 2563 ได้เปิด Every Food Cloud Kitchen ร่วมกับครัวคุณต๋อย โดยรวบรวมร้านอาหารชื่อดังไว้ในแหล่งเดียวกันและได้ต่อยอดโดยนำร้านอาหารในเครือ CRG ร่วมให้บริการผ่าน Grab Kitchen by Every Food
2
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในระดับนานาชาติก็มีดีลของทาง Food Panda ที่ได้ประกาศความร่วมมือกับ Rebel Foods หนึ่งในสตาร์ทอัพยูนิคอร์น Cloud Kitchen ของอินเดีย โดยมีแผนเปิดแบรนด์ Virtual Restuarant หรือแบรนด์ร้านอาหารที่ขายผ่านออนไลน์อย่างเดียว จำนวน 10 แบรนด์และขยายสาขากว่า 2,000 แห่งใน 5 ปี
2
ทั้งนี้ Rebel Foods ก็มีแบรนด์ร้านอาหารที่ขายผ่าน Food Panda ในประเทศไทยแล้ว ในปัจจุบัน โดย Rebel Foods จะนำระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการครัวและการปรุงอาหารของตนไปเชื่อมโยงกับกลุ่มร้านอาหารและ Cloud Kitchen ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ Food Panda ที่มีพื้นที่ทำครัวอยู่แล้วให้สามารถรับผลิตอาหารประเภทอื่นๆ ของแบรนด์ของ Rebel Foods หรือพาร์ทเนอร์ของ Rebel Foods โดยต่อยอดจากครัวเดิมที่มี
1
📌 สูตรความสำเร็จของ Rebel Foods
Rebel Foods เริ่มจากความพยายามของเจ้าของที่ต้องการสร้างแบรนด์เชนร้านอาหารในอินเดียในปี 2010 แต่ได้หันมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน Cloud Kitchen ตั้งแต่ปี 2014 เนื่องจากเห็นว่าหนึ่งในปัญหาของการสร้างแบรนด์ คือ การหาสถานที่เช่าและการตกแต่งร้าน และการหาพื้นที่ที่ได้มาตรฐานของแบรนด์และสะดวกต่อผู้บริโภคนั้นทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายค่าเช่าต่อรายได้อยู่ในระดับที่สูง ในขณะเดียวกันสัดส่วนของการสั่งอาหารของ Rebel Foods กว่า 75% เป็นการสั่งผ่านทางออนไลน์และ 73% ของลูกค้าที่สั่งอาหารนั้นไม่เคยมาทานที่ร้าน Rebel Foods จึงได้ปรับธุรกิจมาเป็น Cloud Kitchen เช่นอย่างเต็มตัว
1
Rebel Foods ได้สร้างร้านอาหารที่มีเฉพาะพื้นที่ครัว แต่ไม่มีพื้นที่หน้าร้าน และได้พัฒนาระบบ Cloud Kitchen ให้เป็นมากกว่าการแบ่งพื้นที่ครัว เพื่อให้ร้านต่างๆ เข้ามาทำอาหาร โดย Rebel Foods ได้วางกระบวนการปฏิบัติงาน(Standard Operating Procedures) รวมทั้ง เครื่องมือ เครื่องใช้ และระบบการจัดการภายในทั้งหมดเพื่อให้ร้านอาหารแบรนด์ต่างๆของ Rebel Foods ของสามารถใช้พื้นที่ครัวและอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน
3
ความสามารถดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนของแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ ของตนได้ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและตรวจคุณภาพอาหาร การจัดการระบบครัว และพัฒนาระบบการจัดการซัพพลายเชน ในการจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบและการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งสินค้า
1
นอกจากนี้ ด้วยการที่ Rebel Foods ไม่ได้ให้บริการลูกค้าผ่านทางหน้าร้าน บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพของบริการในจุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการเฉพาะของลูกค้า การให้ความมั่นใจในคุณภาพสินค้า เป็นต้น โดย Rebel Foods ได้พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าและระบบการเสนอแนะสินค้า ที่สามารถเสนอเมนูอาหารที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าตั้งแต่ต้น และสามารถเสนอแพ็คเกจอาหารโดยเฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละรายเช่น รายการอาหารไดเอ็ต โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าแต่ละคน เป็นต้น
2
ในการสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความสะอาดของอาหาร Rebel Foods มีระบบให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โดยลูกค้าเพียงสแกน QR Code ที่ติดไปกับกล่อง ก็จะรู้ได้ว่าคนปรุงอาหารมีอุณหภูมิร่างกายเท่าไหร่ อาหารผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อและมาตรฐานความปลอดภัยอะไรบ้าง รวมไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบมาจากแหล่งใด เป็นต้น ขณะเดียวกันในด้านแพ็คเก็จจิ้ง ทาง Rebel Foods ก็ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการใช้แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
4
ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีของ Rebel Foods ทำให้บริษัทฯ สามารถนำความสามารถดังกล่าวไปรับบริหาร Cloud Kitchen ให้แบรนด์อื่นๆ เช่น แบรนด์ Wendy’s เองก็ได้ร่วมมือกับ Rebel Foods และให้ Rebel Foods ช่วยพัฒนาระบบจัดการ Cloud Kitchen และขยายสาขา 250 แห่งในอินเดีย
2
ในขณะเดียวกันด้วยระบบจัดการคลาวด์คิทเช่นของ Rebel Foods บริษัทสามารถนำแบรนด์ต่างๆของ Rebel Foods ไปเปิดร้าน Virtual Restaurant ร่วมกับร้านอาหารอื่นๆ ที่มีพื้นที่และอุปกรณ์ครัวอยู่แล้วในปัจจุบัน
1
ด้วยความสามารถดังกล่าวทำให้ Rebel สามารถสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วในต้นทุนที่ต่ำกว่าเชนร้านอาหารทั่วไป โดยบริษัทฯสามารถเปิดร้านอาหาร 35 ร้านใน 7 สัปดาห์ และ 500 ร้านใน 10 เดือน
1
ซึ่งหากใช้วิธีการขยายสาขาร้านอาหารแบบดั้งเดิมอาจจะใช้เวลานับ 10 ปี ซึ่งปัจจุบัน Rebel Foods มี Cloud Kitchen 350 สาขาใน 45 เมืองใน 6 ประเทศ และมีแผนที่จะขยายสาขามากกว่า 1,000 สาขาทั่วโลก โดยแต่ละสาขามีร้านอาหารกว่า 30 ร้าน ซึ่งจะทำให้ Rebel Foods มีร้านอาหารกว่า 30,000 ร้านทั่วโลกซึ่งจะเกือบเท่ากับร้านอย่างแมคโดนัลด์ที่มีอยู่ประมาณ 39,000 ร้าน
1
📌 ความเสี่ยงและโอกาสของร้านอาหาร
Cloud Kitchen จะเพิ่มจำนวนผู้เล่นในตลาด และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ทำให้การแข่งขันในธุรกิจด้านอาหารสูงมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะเปิดโอกาสให้ร้านอาหาร สามารถขยายแบรนด์อย่างรวดเร็วมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
1
Cloud Kitchen จะเปิดโอกาสโดยเชนแบรนด์ร้านอาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่ สามารถขยายร้านไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับแบรนด์รายย่อยนั่นหมายถึง การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับความพร้อมทางเทคโนโลยีและมาตรฐานการให้บริการที่สูง ซึ่งอาจทำให้มาตรฐานความต้องการของผู้ซื้อเพิ่มสูงขึ้นด้วย
1
สำหรับร้านอาหารรายย่อย Cloud Kitchen จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการ ทดลองไอเดียใหม่และออกผลิตภัณฑ์และแบรนด์ Virtual Restaurant ใหม่ที่แตกต่างจากแบรนด์เดิม โดยสิ้นเชิงและสามารถทดลองตลาดได้ง่ายมากขึ้นและในต้นทุนที่ต่ำลง
นอกจากนี้ Cloud Kitchen ยังเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการอาจจะหาพาร์ทเนอร์แบรนด์ที่จะวางระบบทำ Cloud Kitchen ร่วมกันในการลดต้นทุนของสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ และสำหรับร้านที่มีความพร้อมของครัวแต่ยังไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่อาจยังสามารถเข้าร่วมกับแบรนด์ Cloud Kitchen ต่างๆ ในการเปิด Virtual Restaurant และใช้ครัวที่มีในการหารายได้เพิ่มเติมจากการผลิตและขายอาหารของแบรนด์ร้านอาหารของ Cloud Kitchen เจ้าใหญ่ต่างๆ
2
ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดและการเติบโตของ Food Delivery Cloud Kitchen จะนำมาทั้งความเสี่ยงในด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสใหม่สำหรับแบรนด์ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในการขยายแบรนด์ ขยายสาขา อย่างรวดเร็ว
2
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Tech & Innovation Advisor, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
[ Blockdit เป็นแหล่งรวมสรุปข้อมูลเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ความรู้ทางธุรกิจ โดยเล่าเรื่องยากๆ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อคนที่สนใจอยากพัฒนาตัวเองอย่างคุณ เพียงแค่มีแอพพลิเคชั่น Blockdit ไว้ แล้วสาระดีๆ จะติดตามคุณไปทุกที่ ]
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Reference :
โฆษณา