19 พ.ย. 2021 เวลา 13:50 • ท่องเที่ยว
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร .. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
“พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร” จัดแสดงเครื่องราชยาน คานหาม สัปคับ เสลี่ยงกง เสลี่ยงหิ้วและสีวิกา
พระที่นั่งราเชนทรยาน .. เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างจากไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง .. ครุฑยุดนาคซึ่งประดับที่ฐานที่ 14 ตัวประดับไว้รอบฐาน แสดงถึงความเป็นองค์สมมุติเทพของพระมหากษัตริย์
พระที่นั่งองค์นี้มีคานหาม 4 คาน ใช้พนักงานหามรวม 56 คน ..การประทับจะต้องนั่งห้อยพระบาท ความสูงจากฐานถึงยอดสูง ราว 4.15 เมตร กว้าง 103 ซม. ยาว 191 ซม.พระที่นั่งราเชนทรยานนี้สร้างคู่กับพระวอสีวิกากาญจน์
พระที่นั่งราเชนทรยานใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียร ไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนั้นแล้วยังใช้ในการเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวังด้วย
ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในความดูแลของกรมศิลปากร ... ในปี พ.ศ. 2527 ได้เชิญออกมาซ่อมบูรณะ และต่อมาปี พ.ศ. 2539 เชิญมาใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับสู่พระบรมมหาราชวัง ในปี 2551 พระที่นั่งราเชนทรยานยังได้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์..
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย .. สำนักช่างสิบหมู่ จัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบนมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2560 เป็นพระราชยานสำหรับอัญเชิญพระผอบพระราชสรีรางคาร จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยยึดรูปแบบการจัดสร้างมาจากพระที่นั่งราเชนทรยาน และปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างให้เหมาะสม
พระยานมาศ .. ศิลปะอยุธยา ราวพุทะศตวรรษที่ 23-24 .. เป็นราชยานที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งที่ยังคงเหลือในปัจจุบัน เป็นยานมาศ 2 คานหาม มีพนักพิง และมีกงหรือที่วางแขนรูปวงโค้ง สร้างจากไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ฐานสิงห์สองชั้นอ่อนโค้ง ตามแบบของศิลปะอยุธยา
ราชยานองค์นี้ เดิมอยู่ที่วัดสนามไชย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ต่อมาย้ายมาอยู่ที่อยุธยาพิพิธภัณฑ์สถาน ก่อนจะย้ายมาที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
พระเสลี่ยง ไม้จำหลักลาย ลงรักปิดทอง ประดับมุกและกระจก ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เดิมอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระเสลี่ยงอย่างเจ้านายทรงกรม ถ่านไม้จำหลักประดับกระจกสีอย่างลายยา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้แก้เป็นธรรมาสน์ถวายวัดบวรนิเวศวิหารพระอารามที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นใหม่
พระวอสีวิกากาญจน์ (พระวอช่อฟ้า) .. เป็นพระราชยานแบบประทับราบ สำหรับเจ้านายฝ่ายใน (หญิง) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรง นอกจากนี้ ยังใช้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารจากพระเมรุมาศ สู่พระบรมมหาราชวัง
พระวอสีวิกากาญจน์ สร้างจากไม้ จำหลักลาย ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก เครื่องบนทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาเป็นผ้าปิดลายทอง มีพนักพิง ราวกั้น และผ้าม่านโดยรอบ .. การหามใช้วิธีผูกเชือกเป็นสาแหรกกับคานน้อย
พระวอ .. สร้างจากไม้ จำหลักลาย ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก หลังคาทรงไทยลดชั้นทำจากหวาย หรือไผ่สาน หุ้มด้วยรักหุ้มด้วยผ้า .. กรอบหน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ จำหลักลายเหราคายนาค หน้าบันปั้นลายก้านขดด้วยรักกระแหนะ กลางหน้าบันจำหลักลายพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑยุดนาค
จากรูปแบบของพระวอ หน้าบันที่มีลายพระนารายณ์ทรงครุฑ และการประดับตกแต่ง ปิดทองทุกส่วน .. สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระวอสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือพระมเหสี
***รับมาจาก หม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ สุขประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ.2479
พระที่นั่งอุตราภิมุข ... พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
“พระที่นั่งอุตราภิมุข” ... จัดแสดงผ้าในราชสำนัก รวมถึงชุดไทยแบบพระราชนิยม
พระที่นั่งอุตราภิมุขนี้ .. เต็มไปด้วยเครื่องแต่งกายและผ้าลายเก่าแก่ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุที่เคยใช้งานในราชสำนัก พื้นที่ในห้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือผ้าฝ่ายหน้า ฉลองพระองค์ และผ้าฝ่ายใน
ชิ้นเด่นที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่คือฉลองพระองค์ทรงยุโรปสีครีมของรัชกาลที่ 4 ประดับลายใบและลูกโอ๊ก และฉลองพระองค์ครุยกรองทองของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ หรือ ‘ฝ่ายหน้า’ ปักด้วยดิ้นทองของจริงทั้งตัวที่หาชมได้ยากเต็มที และทั้งหมดนี้จัดแสดงภายในตู้กระจก
ผ้าปักดิ้นเงิน ดิ้นทอง และเครื่องประดับ
ผ้าที่เราชอบ คือ ผ้าลายอย่าง ซึ่งเป็นผ้าพื้นที่ใช้เทคนิคพิมพ์ลายบนผืนผ้า สั่งทำจากอินเดีย ใช้เป็นเครื่องทรงของขุนนางชั้นต่างๆ คนทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ถ้าไม่ได้รับพระราชทานยศจากพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ยังมี ผ้าเขียนทอง ผ้าสมปักผืนจริงที่ตกทอดมาจากปลายสมัยอยุธยา .. ซึ่งทุกชิ้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ และยังคงเห็นรายละเอียดความงดงามของการทอผ้าและพิมพ์ลาย
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา