21 พ.ย. 2021 เวลา 15:09 • สุขภาพ
[บทความยาว แต่มีคุณค่าต่อชีวิต]
จุลินทรีย์ศึกษา : หมอเซมเมลล์ ไวส์ ผู้ริ่เริ่มการล้างมือ โดนไล่ออกจากงานและถูกกระทืบตายในโรงพยาบาลบ้า
ทุกวันนี้ เราต่างรู้ดีว่า การล้างมือช่วยฆ่าเชื้อโรค ทุกคนต่างปฏิบัติตามเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
แต่รู้หรือไม่ว่า
กว่ามนุษย์จะมาถึงจุดนี้ได้ มีความยากลำบากมาก จนหมอคนหนึ่งกลายเป็นคนบ้า
เรามาย้อนเวลาเพื่อศึกษาเรื่องนี้กัน
ณ ปี ค.ศ. 1840 ที่โรงพยาบาลประจำเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย
โรงพยาบาลประจำเมืองเวียนนา ในช่วงปี 1840 ถือเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดในยุโรป มีการบริการทางการแพทย์ทันสมัยที่สุด โรงพยาบาลใหญ่ที่สุด ใครอยากได้รับการรักษาที่ดีที่สุดก็ต้องมาที่นี่
แผนกทำคลอดของที่นี่ ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน จนโรงพยาบาลต้องเพิ่มหอพักผู้ป่วยแผนกสูตินารีแพทย์เป็น 2 หลัง
แต่จู่ๆ ไม่กี่ปีก่อนหน้าปี ค.ศ. 1846 ก็เกิดเรื่องประหลาดขึ้น
เมื่อหญิงที่มาคลอดที่หอผู้ป่วย 1 นั้น กว่า 32% ตายด้วยภาวะไข้หลังคลอด
ในขณะที่หญิงที่คลอดที่หอผู้ป่วย 2 มีอัตรการตายด้วยโรคเดียวกันเพียง 2%
เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นข่าวลือว่า มีอะไรก็ตามอยู่ในหอผู้ป่วย 1 รอเอาชีวิตแม่และเด็กที่มาคลอดอยู่ หากจะมาคลอดที่นี่ ให้ทำทุกอย่างเพื่อใ้ห้ได้คลอดที่หอผู้ป่วย 2
อาการภาวะไข้หลังคลอด คือ หลังจากคุณแม่คลอดบุตรแล้ว จะมีอาการไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง แค่สะกิดโดนผิวหนังเบาๆ ก็จะปวดท้องมาก ท้องป่องขึ้น มีน้ำสีขุ่นๆ กลิ่นเหม็น ไหลออกจากช่องคลอด
เมื่อเกิดอาการภาวะไข้หลังคลอดขึ้น ในสมัยนั้น หมอแทบทำอะไรไม่ได้เลย ส่วนใหญ่คนไข้จะเสียชีวิต อาจเป็นแม่ที่ไม่ได้กลับบ้าน หรือทั้งแม่และเด็ก
แม้จะมีอัตราการตายสูง แต่หมอก็ไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ ทำให้มีหญิงเสียชีวิตหลังคลอดบุตรเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งคืนหนึ่ง ก่อนจะเข้าเวรกลางดึก หมอเซมเมลล์ไวส์ ซึ่งเป็นหมอประจำแผนกสูตินารีเวชของโรงพยาบาล ได้พบหญิงท้องแก่ใกล้คลอดคนหนึ่ง นั่งรออยู่หน้าโรงพยาบาล อากาศในกรุงเวียนนาช่วงกลางคืนในหน้าหนาวนั้นหนาวเหน็บ หมอได้พยายามบอกให้เธอเข้าไปในโรงพยาบาล แต่เธอก็ยืนยันจะไม่ยอมเข้าไป จนกว่าจะเลยเที่ยงคืนเสียก่อน
นั่นเป็นเพราะว่า ช่วงเที่ยงคืนเป็นช่วงเปลี่ยนกะ เมื่อเลยเที่ยงคืนไปแล้ว หญิงที่มาคลอดจะได้เข้าทำคลอดที่หอผู้ป่วย 2 นั่นเอง
เมื่อเห็นเช่นนั้น หมอเซมเมลล์ไวส์จึงได้เริ่มศึกษาเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดภาวะไข้หลังคลอดอย่างจริงจัง
หมอพบว่า ผู้ทำคลอดในหอผู้ป่วย 1 นั้น เป็นแพทย์และนักเรียนแพทย์
ส่วนหอผู้ป่วย 2 นั้น ทำคลอดโดยพยาบาลและนักเรียนพยาบาล
ส่วนปัจจัยอย่างอื่นของทั้ง 2 หอผู้ป่วยนั้นเหมือนกัน
แพทย์และนักเรียนแพทย์นั้น ปกติแล้วมีความรู้เรื่องการแพทย์มากกว่าพยาบาลและนักเรียนพยาบาล ผลการทำคลอด จึงน่าจะทำให้หญิงที่มาคลอดมีชีวิตรอดมากกว่า ทำไมผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐาน ที่บ่งชี้ว่าหมอทำคลอดด้วยวิธีที่ผิด จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
วันหนึ่ง หมอเซมเมลล์ไวส์ได้รับข่าวร้ายว่า หมอที่เป็นเพื่อนสนิท โดนมีดบาดมือขณะผ่าศึกษาศพหญิงที่เสียชีวิตด้วยภาวะไข้หลังคลอด และเกิดเป็นไข้ อาการหนักจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ในขณะนั้น หมอเชื่อว่า ภาวะไข้หลังคลอด เป็นโรคที่เกิดกับหญิงที่พึ่งทำคลอดมาเท่านั้น ด้วยความสงสัย หมอเซมเมลล์ไวส์จึงผ่าตัดชันสูตรศพเพื่อนด้วยตนเอง และพบว่า สภาพอวัยวะภายในของศพเพื่อนหมอคนนี้ เหมือนกับหญิงที่เสียชีวิตด้วยภาวะไข้หลังคลอดไม่มีผิด เป็นไปได้อย่างไร เพราะเพื่อนหมอคนนี้ไม่ได้ท้องหรือพึ่งผ่านการคลอดมา
ในเวลานั้น หมอและนักศึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลเวียนนา ต้องผ่าศพผู้ป่วยเพื่อศึกษา การผ่าศพในสมัยนั้น หมอจะไม่ใส่ถุงมือใดๆ หลังจากผ่าตัดเสร็จ ก็เพียงแต่ใช้ผ้าเช็ดมือที่เปื้อนเลือดเท่านั้น ไม่มีการล้างมือฆ่าเชื้อโรคแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็ไปทำอย่างอื่นต่อ รวมทั้งการตรวจรักษาคนไข้หรือทำคลอด
หมอเซมเมลล์ไวส์จึงคิดว่า อาจมีสิ่งที่อยู่ในเลือดของหญิงที่เสียชีวิตด้วยภาวะไข้หลังคลอดถูกถ่ายทอดผ่านรอยแผลที่โดนมีดบาดของหมอที่ชันสูตรศพ จนทำให้เกิดโรคภาวะไข้หลังคลอดขึ้น แม้ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือพึ่งผ่านการคลอดมาก็ตาม
ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสได้ด้วยมือ
หมอเซมเมลล์ไวส์จึงเริ่มการทดลอง โดยให้หมอและพยาบาลในแผนกสูตินารีเวชของโรงพยาบาล ล้างมือด้วยคลอรีน เพื่อให้มือสะอาดก่อนและหลังทำการรักษาผู้ป่วยทุกครั้ง
ผลการทดลองในช่วงแรก ปรากฎว่า ได้ผลดี เพราะหมอเซมเมลล์ไวส์ คอยกำกับหมอและพยาบาลในแผนกให้ล้างมือด้วยตนเอง
แต่ว่านี่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ....ของหมอเซมเมลล์ ไวส์
แม้โรงพยาบาลเวียนนา จะเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในยุโรป แต่ในขณะนั้น ก็ยังไม่มีหมอคนไหนรู้จัก “จุลินทรีย์”
เมื่อไม่รู้จักจุลินทรีย์ จึงไม่รู้ว่า เชื้อโรคนั้นเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคติดต่อผ่านการสัมผัสได้
แม้ว่าการล้างมือ จะทำให้มีอัตราการเกิดภาวะไข้หลังคลอดลดลง เหลือเพียง 1.27% และในบางเดือน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ในแผนกสูตินารีเวชเลย
แต่หมอส่วนใหญ่ ก็ยังไม่เชื่อในเรื่องที่ว่า
มือที่เปรอะเปื้อนของตนนั้น ทำให้เกิดโรคได้
จะล้างมือไปเพื่ออะไรหนักหนา?
เอาอะไรออกจากมือหมอ ?
มือหมอเหล่านี้ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยให้หายดีมามากมาย
สิ่งที่ฆ่าผู้ป่วย จะมาจากมือหมอได้อย่างไรกัน
เมื่อถูกบังคับให้ล้างมือ โดยไม่มีคำอธิบายทางวิชาการที่ชัดเจน
นานวันเข้า หมอคนอื่นๆ จึงไม่ชอบในสิ่งที่หมอเซมเมลล์ไวส์บอกให้ทำ
เพราะบรรดาหมอเคยชินกับการไม่ล้างมือมานาน หมอบางรายไม่แม้กระทั่งซักทำความสะอาดชุด เพราะคิดว่า ชุดทำงานที่เลอะเปื้อนเลือดนั้น ทำให้ดูเป็นหมอที่ทำงานหนัก
แม้กระทั่งเจ้านายของหมอเซมเมลล์ ไวส์ ก็ไม่ชอบสิ่งที่เขาทำ
แต่เมื่อถูกร้องเรียน หมอเซมเมลล์ไวส์ ก็ทำได้เพียงยืนกรานว่า
การล้างมือด้วยคลอรีน ทำให้ลดการเกิดภาวะไข้หลังคลอดได้
พิสูจน์ได้ด้วยสถิติการเกิดโรคที่ลดลง
แต่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้ ไม่สามารถชี้ชัดว่า อะไรที่อยู่ในมือหมอ ที่ฆ่าแม่และเด็กหลังคลอด
จนเกิดการโต้เเย้งกันในวงกว้างขึ้น
เพราะโรงพยาบาลเวียนนา เป็นโรงพยาบาลชื่อดังในยุโรป
และภาวะไข้หลังคลอดนั้น ก็เป็นโรคระบาดที่เกิดในเกือบทุกๆโรงพยาบาล
การกระทำของ หมอเซมเมลล์ไวส์ เป็นการบอกโดยนัยว่า
มือหมอคือผู้นำความตายมาสู่คนไข้
และหมอส่วนใหญ่ก็รับไม่ได้กับเรื่องนี้
ฝ่ายที่ต่อต้านหมอเซมเมลล์ไวส์ จึงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนในที่สุด หมอเซมเมลล์ไวส์ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง
หมอเซมเมลล์ไวส์เสียใจมาก หลังตกงานได้ย้ายกลับไปทำงานที่แผนกสูตินารีเวช ท่ีโรงพยาบาลบ้านเกิด ประเทศฮังการี และยังคงมั่นใจในการล้างมือ วิธีการทำงานของเขาช่วยลดอัตราการเกิดภาวะไข้หลังคลอด ทำให้อัตรการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลังคลอดในแผนกสูตินารีเวชที่เขาทำงานอยู่ มีเพียง 0.1%เท่านั้น
เขาได้เขียนบทความเผยแพร่เรื่องการล้างมือ สถิติต่างๆ ว่าการล้างมือด้วยคลอรีนได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้มากมายแค่ไหน ความทุ่มเทพยายามของเขา ได้รับการตอบรับอย่างดี ที่กรุงบูดาเปส ประเทศฮังการีบ้านเกิดเท่านั้น
แต่ไม่ได้รับความสนใจจากหมอในกรุงเวียนนา รวมทั้งประเทศอื่นๆในยุโรปมากนัก
หมอเซมเมลล์ไวส์พยายามเข้าไปบรรยายในมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างที่ควรได้รับในฐานะแพทย์
แม้กระทั่งวารสารทางการแพทย์ของกรุงเวียนนาชื่อ Wiener Medizinische Wochenschrift ก็ได้เขียนโจมตีผลงานหมอเซมเมลล์ไวส์ว่า ถึงเวลาหยุดทำเรื่องเหลวไหลอย่างการล้างมือด้วยคลอรีนได้แล้ว
การที่ไม่สามารถโน้มน้าวให้หมอส่วนใหญ่คล้อยตามได้ ทำให้หมอเซมเมลล์ ไวส์เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลาหลายปี
 
คืนหนึ่งภรรยาของหมอเซมเมลล์ ไวส์ ได้พาหมอขึ้นรถไฟมาที่กรุงเวียนนา
เพื่อรักษาอาการทางจิต
ในสมัยนั้นสถานพยาบาลทางจิต ยังห่างไกลจากโรงพยาบาลจิตเวชในปัจจุบันมาก วิธีการรักษาดูจะเป็นการทรมานคนไข้เสียมากกว่า ใครก็ตามหากถูกส่งเข้าไปเป็นคนไข้โรคจิตแล้ว มักจะไม่ได้กลับออกมา
หมอเซมเมลล์ไวส์ก็เช่นกัน ในรายงานของโรงพยาบาลพบว่า หมอเซมเมลล์ ไวส์ถูกรุมกระทืบ และมือขวาเกิดแผลติดเชื้อเข้ากระแสเลือด จนเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 47 ปี...
เชื้อโรคที่พรากชีวิตหมอนั้น ก็คือชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดภาวะไข้หลังคลอด
เชื้อโรค... ที่หมอเซมเมลล์ไวส์พยายามต่อสู้มาทั้งชีวิต
หากหมอในสมัยนั้น รู้ว่ามีเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสอาศัยอยู่รอบตัวเรา และสามารถทำใ้ห้เกิดโรคร้ายแรงถึงชีวิตได้ ชีวิตของหมอเซมเมลล์ ไวส์คงไม่จบลงเช่นนี้
กว่าผู้คนจะเข้าใจว่า สิ่งที่อยู่ในมือหมอที่ฆ่าแม่และเด็กไปมากมายนั้น คือเชื้อจุลินทรีย์ที่เล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ หมอเซมเมลล์ไวส์ก็นอนแน่นิ่งอยู่ในหลุมศพนานหลายปีแล้ว
เพื่อสดุดี
Dr. Ignaz Phillip Semmelweise
หมอ อิกนาซ ฟิลิป เซมเมล์ไวส์
เกิด 1 ก.ค. 1818 กรุงบูดาเปส ประเทศฮังการี
เสียชีวิต 13 ส.ค. 1865 กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ผู้ริเริ่มการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค
Owlcation.com
เผยแพร่ครั้งแรก ที่ Blockdit
โดย w.m.thailand
ผู้ผลิตน้ำอะโวคาโดบริสุทธิ์ ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย บำรุงผิวให้ชุ่มชื่น
โฆษณา