22 พ.ย. 2021 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ทำไม หลายๆ บริษัท ถึงเลือกทำ M&A หรือ ควบรวมกิจการ
4
หนึ่งในวิธีขยายกิจการ ที่หลายๆ บริษัทเลือกใช้
ก็คงหนีไม่พ้น การเข้าซื้อกิจการอื่นๆ หรือ การควบรวมกิจการ (Mergers and acquisitions : M&A)
แล้วทำไมหลายๆ บริษัทจึงเลือกใช้วิธีนี้ ?
ข้อดีของการเข้าซื้อกิจการ หรือที่คนไทยมักเรียกสั้นๆ ว่าการทำ M&A คืออะไร
วันนี้ THE BRIEFCASE จะมาสรุปให้ฟัง
ประโยชน์ข้อแรก ที่หลายคนมักจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือคำว่า “Synergy”
หรือแปลว่าง่ายๆ ว่า 1+1 มากกว่า 2
 
หมายความว่า ประโยชน์ที่เกิดจากการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการนั้น
ต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่า การที่ทั้งสองบริษัทแยกกันดำเนินกิจการ
ตัวอย่างของกรณีศึกษานี้ ก็อย่างเช่น กรณีของค่ายรถยนต์ Volkswagen ที่ทยอยเข้าซื้อแบรนด์รถต่างๆ อาทิ Audi, Bentley และ Porsche เพื่อประโยชน์ในด้านการลดต้นทุน (Cost Synergy)
การได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของแบรนด์ดังกล่าว และยังได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของแต่ละแบรนด์ด้วย
หนึ่งในตัวอย่าง Synergy ที่ได้จากการเข้าซื้อกิจการแบรนด์รถอื่นๆ เช่น การพัฒนาพื้นตัวถัง MSB รุ่นใหม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในรถ Bentley Continental GT และ Porsche Panamera
ประโยชน์ข้อต่อมา คือ การสร้างความแข็งแกร่งของ Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน
ซึ่งในกรณีนี้จะเกี่ยวข้องกับบริษัทที่เข้าซื้อกิจการอื่นๆ แบบแนวตั้ง หรือที่เรียกว่า Vertical Merger
โดยบริษัทจะทำการเข้าซื้อกิจการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น ซัปพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านค้าต่างๆ ทำให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนได้ เช่น ซื้อวัตถุดิบได้ถูกลง หรือ ลดค่าจัดส่งสินค้าได้มากขึ้น ทำให้สามารถทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง..
ตัวอย่างของกรณีศึกษานี้ อาจเห็นได้ในบ้านเราอย่างเช่น CP Group
ที่มีธุรกิจตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ อาหารสัตว์ ปศุสัตว์ ไปจนถึงช่องทางจัดจำหน่าย อย่างร้าน CP Freshmart, เซเว่น อีเลฟเว่น, ห้างขายส่ง Makro และล่าสุดอย่าง Tesco Lotus ที่ประกาศซื้อไปเมื่อปีที่ผ่านมา
และประโยชน์ที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือ การลดคู่แข่ง..
นอกจากจะช่วยในเรื่องของการสร้าง Synergy แล้ว
การทำ M&A ยังเปรียบเสมือนการทยอยลดคู่แข่งในตลาดไปในตัว และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตเบียร์ AB InBev ที่ทยอยเข้าซื้อแบรนด์อย่าง Bud Light, Budweiser, Corona (นอกสหรัฐอเมริกา), SABMiller เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเบียร์ทั่วโลก ทำให้ปัจจุบัน AB InBev ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยครองส่วนแบ่งยอดขายเบียร์ทั่วโลกกว่า 30% ในปี 2019
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการทำ M&A ซึ่งก็มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ
และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายๆ บริษัทเลือกใช้ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ที่หลายๆ บริษัท เริ่มหันมาทำ M&A กันมากขึ้น โดยมีบริษัทชื่อดังหลายแห่งที่ใช้วิธีนี้ เช่น เครือแบรนด์หรูอย่าง LVMH และ Kering หรือ เครือเครื่องสำอางอย่าง L’Oreal และ Estée Lauder
เพราะนอกจากจะช่วยขยายกิจการ ทำให้บริษัทมีโอกาสสร้างยอดขายมากขึ้นแล้ว
ยังช่วยให้บริษัทได้เปรียบ ทั้งเรื่องของการแข่งกัน การลดต้นทุน ทำให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น
และที่สำคัญก็คือ การได้ลดจำนวนคู่แข่งในตลาด ได้อีกด้วย..
References
โฆษณา