22 พ.ย. 2021 เวลา 05:12 • ท่องเที่ยว
พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข .. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สัปคับ ในวิถีชีวิตไทย .. เป็นยานพาหนะอันเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของผู้ใช้งาน จึงมีการสร้างสรรค์และประดับตกแต่งอย่างงดงาม อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์งานประณีตศิลป์ของไทย และความชำนาญในทักษะเชิงช่างอย่างสูง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ขึ้นโครงสร้าง และการตกแต่งลวดลาย
การสร้างสัปคับในอดีต .. ต้องอาศัยความชำนาญ เชียวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ในทักษะเชิงช่างอย่างมาก เริ่มจากพืจารณาการใช้งาน ว่าเป็นพาหนะในการเดินทาง ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ หรือใช้ในการรบ และจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการเลือกช้างให้เหมาะสมด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวและรูปลักษณะ แล้วจึงจะออกแบบสับปะคับให้ถูกต้อง เหมาะสมกับการใช้งาน
“พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข” .. จัดแสดงเครื่องสัปคับ หรือที่นั่งบนหลังช้างสำหรับการออกศึกการเดินทางไปในที่ต่างๆ หรือใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ซึ่งแยกออกเป็นพระที่นั่งและกูบ ซึ่งมีดีไซน์ที่ต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน
สัปคับที่จัดแสดง .. ชิ้นที่พิเศษคือ พระที่นั่งบนหลังช้างสร้างจากงาช้างสีขาวทั้งหมด ฝีมือช่างล้านนา ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษาครบ 20 พรรษา
.. ประกอบจากงาช้างจำหลัก พนักด้านนอกกลึงงาเป็นซี่คล้ายลูกมะหวด แผ่นหลังจำหลักแผ่นงาเป็นลายสัตว์มงคล สิงห์ นกยูง ไก่ฟ้า ประกอบลายพรรณพฤกษาเป็นดอกเล็กๆ ละเอียดมาก กลางพนักจำหลักเป็นรูปบุคคล
.. สัปปะคับนี้เคยใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในงานยกช่อฟ้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 7
สัปคับเขน .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 ประกอบจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ที่นั่งประดับใบปรือแผ่นไม้จำหลักรูปทรงคล้ายกระจัง สันนิษฐานว่าใช้กำบังอาวุธ มุมที่นั่งยังมีเสาตั้งสำหรับวางศาสตราวุธ สัปคับเขนนี้จึงใช้ในการออกรบ ทำศึกสงคราม หรือประกอบในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสงคราม
สัปคับพร้อมกูบทรงกระโจม .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 ประกอบจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก กูบเป็นทรงกระโจม ทำด้วยไม้ไผ่สาน เปิดโล่งสี่ด้าน กรอบซุ้มโค้งเขียนลายก้านแย่ง ด้านบนเป็นลายดอกประจำยามก้านแย่ง
.. สันนิษฐานว่า เป็นของเจ้านาย หรือพระสงฆ์ ใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ
สัปคับพร้อมกูบทรงกระโจม .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 ประกอบจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก กูบเป็นทรงกระโจม ทำด้วยไม้ไผ่สาน เปิดโล่งสี่ด้าน กรอบซุ้มโค้งเขียนลายรดน้ำ ลายดอกพุดตานใบเทศ ด้านบนเป็นลายดอกประจำยามก้านแย่ง พนักจำหลักเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน ใต้แท่นด้านหน้าจำหลักไม้เป็นรูปครุฑ
.. สันนิษฐานว่า เป็นของเจ้านายฝ่ายใน พระโอรสและพระธิดา ทรงใช้ในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
สัปคับพร้อมหลังคาทรงจั่ว .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 ส่วนหลังคาทำจากโลหะผสม เขียนลายทองบนพื้นสีแดงเป็นลายดอกไม้ร่วง สัปปะคับประกอบจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงฉลุไม้โปร่งเป็นลายดอกพุดตานลายเทศ ใต้แท่นด้านหน้าฉลุไม้โปร่งเป็นลายดอกพุดตานลายเทศ ช่วงล่างบุด้วยแผ่นสังกะสีเขียนลายใบไม่ร่วงสีทองบนพื้นสีแดง มุมทั้งสี่มีเสาสำหรับรองรับหลังคา สันนิษฐานว่า เป็นสัปปะคับของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่
สัปปะคับพร้อมกูบ ... ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25
.. เจ้าอินวโรรสสุริยวงศ์ ถวายเป็นเครื่องประกอบพระอิสรินยศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในชบวนแห่รับเสด็จเข้าเมืองครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2448
สัปปะคับ .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 ประกอบจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก พนักจำหลักลายแก้วชิงดวงในกรอบประแจจีน แผ่นไม้ใต้แท่นด้านหน้าจำหลักลายพรรณพฤกษา ในกรอบประจำยามครึ่งซี่
สัปปะคับ .. ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างล้านา พุทธศตวรรษที่ 24-25 สันนิษฐานว่า เป็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
.. ประกอบจากไม้ลงรักปิดทองประดับทองเหลืองบุดุน ทาสีทองประดับกระจก พนักประกอบด้วยซี่งากลึงคล้ายลูกมะหวด แผ่นไม้ด้านหน้าจำหลักลายกรอบหน้าบัน กลางพนักประดับไม้จำหลักลายเมฆ ขอบพนักและขาของสัปปะคับตกแต่งลายเมฆไหล เอกลักษณ์ของช่างล้านนา มีความหมายถึงคงวามร่มเย็นเป็นสุข
ในห้องนี้ยังมีฉากขนาดใหญ่ที่ลอกลวดลายจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ซึ่งเป็นภาพการชนช้าง ซึ่งทำให้เราได้เห็นการใช้ภาพงานของสัปคับด้วย
.. ภาพเล่าเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ และอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ เขียนโดยพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม เป็นภาพการชนช้างระหว่างพระเจ้ามหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย และพระเจ้าสิริราชบุตร แสดงการใช้งานสัปปะคับในยามศึกสงคราม เป็นสัปปะคับที่มีใบปรือ หรือแผ่นไม้คล้ายกระจัง ปักอยู่บริเวณด้านข้างและด้านหลัง ใช้เป็นที่กำบังอาวุธ .. ด้านข้างมีเสาวางศาสตราวุธ เช่น ง้าว หอก
ด้านหลังของฉาก .. จำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดช่องนนทรี .. สันนิษฐานว่า เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นภาพทศชาติชาดก ฉากขบวนพยุหยาตราสถลมารค .. ในภาพตอนพระนารทพรหมชาดก แสดงภาพบุษบกบนหลังพระคชาธาร ที่สะท้อนการใช้งานสัปปะคับ ในพระราชพิธีสำคัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา