22 พ.ย. 2021 เวลา 08:43 • ธุรกิจ
ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนซื้อด้วยครับ
ปัจจุบันมีการหลอกลวงขายสินค้าที่ด้อยคุณภาพหรือสินค้าที่ไม่ตรงกับที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยตรง
โดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคไม่เห็นสินค้าที่แท้จริงเป็นการหลอกลวงที่ง่ายและมีมากที่สุดครับ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
เพราะการแสดงภาพของสินค้าซึ่งเป็นของดีและมีราคาแพง แต่เมื่อส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อ บางร้านค้าก็ได้ส่งสินค้าที่มีคุณภาพต่ำหรือบางรายก็ส่งของอย่างอื่นที่ไม่ใช่สินค้าที่สั่งซื้อ เรื่องทำนองนี้เป็นข่าวอยู่เนืองๆ
สำหรับวิธีการแก้ไขเพื่อให้ได้สินค้า “ตรงปก” หรือเหมือนกับรูปภาพที่ประกาศขายก็ต้องซื้อจากบริษัทหรือเอเย่นต์ที่มีชื่อเสียงและไว้ใจได้
 
ซึ่งมีไม่กี่เอเย่นต์ที่ประกาศว่าหากไม่พอใจให้ส่งสินค้าคืนภายในกำหนด ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน เป็นต้น แล้วจะคืนเงินให้
นั่นเป็นสินค้าที่ไม่เห็นของจริง แต่การขายสินค้าด้อยคุณภาพหรือหลอกลวงประชาชนชนิดที่เห็นสินค้าก็ยังมีอยู่ทั่วไป
แม้ว่าผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจะกระทำผิดกฎหมายแต่ผู้ที่กระทำเช่นนี้ไม่สนใจหรอกครับเพราะมีความเชื่อว่าราชการคงตามไม่ทัน
การขายสินค้าด้อยคุณภาพทำได้ง่ายครับ เพราะขายในราคาที่ต่ำกว่ารายอื่นได้ ผู้บริโภคที่สนใจเฉพาะราคาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพก็เสียค่าโง่ไป
หากสินค้านั้นซื้อมาใช้เองก็แล้วไป แต่ประเภทที่ซื้อมาแล้วขายต่อ ผลเสียก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภค
แล้วหลอกลวงกันอย่างไร เพราะอาหาร ยาหรือสารเคมีต่างๆ ต้องได้รับการรับรองจาก อย. แล้ว ไม่ใช่หรือ
พ่อค้าที่หลอกลวงย่อมทำได้ทุกอย่างครับ ซึ่งเท่าที่ทราบนั้น  กระทำได้๓ วิธี
วิธีแรก ใช้หมายเลข อย. ของสินค้าประเภทเดียวกันของบริษัทหรือร้านค้าอื่น
วิธีที่สอง ใช้หมายเลข อย. หลอกๆ เพราะผู้บริโภคหลายรายที่เห็นหมายเลข อย. แล้วก็เชื่อ โดยไม่คิดตรวจสอบนั้นมีเป็นจำนวนมาก
วิธีที่สาม ยื่นเรื่องของรับรองจาก อย. โดยยื่นเอกสารสำคัญประกอบการขึ้นทะเบียน คือผลทดสอบประสิทธิภาพ และผลวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญและได้รับ อย. มาแล้ว
ขอกล่าวเฉพาะวิธีแรกและวิธีที่สองก่อน ส่วนวิธีที่สามจะได้กล่าวถึงในตอนท้าย สองวิธีนี้ป้องกันได้โดยการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอย. จริงหรือไม่
ง่ายๆ ครับ ตรวจสอบได้ที่https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx
สมมติว่าต้องการตรวจสอบยาแผนโบราณสมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจรของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ท่านก็ใส่เครื่องหมายถูกหน้าสมุนไพรแล้วใส่เลข อย. คือ G 512/60 ลงในช่องว่างสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์
แล้วก็กด “ค้นหา” รายละเอียดผลการตรวจสอบก็ออกมาว่าได้รับ อย. จริงหรือไม่และผู้ใดเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์
หากไม่ถูกต้องตรงกันท่านก็ไม่ซื้อสินค้านั้น และท่านอาจเป็นพลเมืองดีโทรศัพท์ไปแจ้ง อย. ได้เพื่อไม่ให้หลอกลวงกับผู้อื่นต่อไป
ผู้เขียนไม่ทราบว่า อย. ให้รางวัลนำจับเหมือนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รางวัลนำจับกรณีกระทำผิดกฎจราจรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากแจ้ง อย. ท่านก็ได้สร้างบุญสร้างกุศลแล้วครับ
สำหรับวิธีที่สาม คงงงซิครับว่าได้รับ อย. แล้ว จะหลอกลวงผู้บริโภคได้อย่างไร
เพราะการกระทำดังกล่าวเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดีฐานหลอกลวงเป็นอย่างยิ่ง
วิธีการก็คือโฆษณาประชาสัมพันธ์กับลูกค้าว่าสินค้าของตนมีประสิทธิภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันกับของบริษัทอื่น แต่ขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่ามาก
เพื่อให้ลูกค้าเชื่อถือจึงลงทุนโดยการปลอมแปลงหนังสือของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้น หนังสือดังกล่าวแสดงว่าผลวิเคราะห์การทดสอบประสิทธิภาพของน้ำยามีประสิทธิภาพสูงมาก
ลูกค้าบางรายก็หลงเชื่อเพราะเข้าใจว่าได้ของดีราคาถูกไปใช้หรือไปขาย แต่ทราบมีลูกค้ารายหนึ่งสงสัย จึงส่งสำเนาหนังสือที่อ้างว่าเป็นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นให้ตรวจสอบ
ต้องชมสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นะครับที่แจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบว่าเป็นการปลอมแปลงหนังสือ
แต่ผู้เขียนไม่ได้ติดตามว่าส่วนราชการดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่ปลอมแปลงเอกสารทางราชการหรือไม่
หากยังไม่ได้ดำเนินการก็ขอได้โปรดดำเนินการด้วยนะครับ เพื่อเป็นการลงโทษบริษัทที่หลอกลวงผู้บริโภคให้หมดไป
และทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่ดีและมีคุณภาพต่อไปด้วย
พุธทรัพย์ มณีศรี
โฆษณา