22 พ.ย. 2021 เวลา 11:02 • ท่องเที่ยว
มุขเด็จด้านตะวันตก .. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
งานไม้จำหลัก .. เป็นหนึ่งในงานไม้สิบหมู่ของไทย ที่รวมไว้ซึ่งฝีมือช่างผู้มีความรู้ ความชำนาญ ความละเอียดประณีต สุนทรียะและความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ศาสตร์และศิลป์ หลากหลายแขนงในกระบวนการจำหลัก .. ทั้งการออกแบบชิ้นงาน การเลือกไม้ การเขียนลอดลายการเลือกใช้อุปกรณ์ และวิธีการเข้าไม้ เพื่อประกอบชิ้นไม้แต่ละส่วนเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงและสวยงาม
ช่างไม้จำหลักโบราณมักจะคิดวิธีการจำหลัก สร้างดัดแปลงเครื่องมือในการทำงานจำหลักแต่ละชิ้น .. ผลงานไม้จำหลักแต่ละชิ้นจึงมักมีเรื่องราว มีที่มา มีแรงบันดาลใจ ตลอดจนเทคนิคงานช่างจำหลักไม้ เฉพาะในผลงานจำหลักไม้ชิ้นนั้นๆ ซึ่งเป็นคุณค่าที่โดดเด่นในความเป็นงานหัตถศิลป์ และสะท้อนค่านิยมในสังคมในยุคสมัยต่างๆ
มุขเด็จด้านตะวันตก ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร .. เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก ทางเข้าอยู่หลังฉากของห้องจัดแสดงสัปปะคับ
เมืองไทยสมัยก่อนมีไม้อยู่ค่อนข้างมาก การก่อสร้างต่างๆในสมัยโบราณจึงใช้ไม้เป็นหลัก ส่วนงานจำหลักไม้ที่ต้องใช้ฝีมือและความปราณีตอย่างสูง เป็นงานประเภทประณีตศิลป์นั้น ก็มักจะเป็นเครื่องไม้จำหลักในพระพุทธศาสนาและเครื่องราชูปโภค
มุขเด็จด้านตะวันตก ในพิพิธภัณฑ์ฯพระนคร ... มีงานจำหลักไม้ชิ้นเด่นที่อยู่กลางห้อง นั่นคือ “ธรรมาสน์กลม” หรือที่นั่งสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศน์
.. แค่ยืนอยู่หน้าประตูห้องก็สามารถเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมาสน์กลมสร้างจากไม้ สูงเทียมเพดาน
“ธรรมาสน์กลม” .. เป็นศิลปะช่างสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามยิ่งของงานศิลปะช่างพุทธศตวรรษที่ 23-24 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับถวายจากวัดค้างคาว จ.นนทบุรี และพระราชทานให้จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
งานธรรมาสน์กลม .. เป็นรูปแบบของศิลปกรรมแบบพิเศษ เนื่องจากพบไม่มากในศิลปะงานเครื่องไม้ไทย มีเอกลักษณ์ในงานเข้าไม้ และลวดลายจำหลักแบบโบราณ ได้แก่ รูปเซียวกางคั่นด้วยนาคสามเศียรรอบฐาน
หลังคาเป็นทรงปราสาท จำลองเรือนยอดซ้อนสามชั้น
... งานชิ้นนี้โชว์ฝีมือช่างที่หลากหลาย ทั้งงานแกะไม้นูนต่ำ นูนสูง งานฉลุลาย งานประดับกระจก
อีกหนึ่งไฮไลท์ ที่อยู่ด้านหลังก็คือบานประตูวิหารหลวงวัดสุทัศน์ .. ประตูบานนี้ เดิมเป็นบานประตูกลางด้านหน้าพระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สร้างใน พ.ศ. 2365 สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทรงงานแกะสลักลวดลายด้วยพระองค์เองร่วมกับช่างหลวง ... เป็นแกะสลักจากไม้ขนาดใหญ่แผ่นเดียว ใช้การแกะสลักที่เรียกว่า “งานแกะล้วง” คือการสลักลงไปในผิวไม้ลึกลงไปจนลวดลายลอยตัวแบบ 3 มิติ
ในปี พ.ศ.2502 เกิดไฟไหม้บานประตู ชำรุดไปบางส่วน จึงได้มีการนำบานประตูใหม่มาใส่ไว้แทน และถอดเอาบานประตู๔เดิมมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร
บานประตูลงรักปิดทองนี้ .. มีการจำหลักลายนูนสูง เซาะเป็นร่องลึกลงไปเป็นลายพรรณพฤกษาเป็นพื้นลายลอยตัว แล้วแกะล้วงให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆเกี่ยวกวัดกับพรรณไม้ ดูอ่อนช้อย เคลื่อนไหวราวกับของจริง ... ขอบบานประตู จำหลักลายดอกพุดตานนูนต่ำต่อเนื่องกันไปโดยรอบ
ภาพด้านหลังของบานประตู ลบเลือนไปมาก
ไม้จำหลักลวดลายกินนร และกินนรี .. ปกติใช้ประดับทางเข้าศาสนสถาน เพื่อสื่อความหมายของป่าหิมพานต์ ชายแดนระหว่างสวนนค์และโลกมนุษย์
ประติมากรรมประดับบานประตูกำแพงแก้วพุทธนิเวศน์ พระบรมมหาราชวัง .. ขจำหลักเป็นรูปเทวดาในอิริยาบถกำลังก้าวเดิน ในพระหัตถ์ถือกระบองประดับดอกไม้พระหัตถ์อีกข้างชูกระบองเหนือพระเศียร ตกแต่งผิวโดยการลงรักและปิดกระจก
บานประตูไม้จำหลักลายป่าหิมพานต์ ..
บุษบกหลังคาทรงคฤห์ซ้อนชั้น ... เป็นบุษบกจำลองแบบอาคารวิหารโถง ใช้ประดิษฐานรูปเคารพหรือพระที่นั่ง ส่วนฐานซ้อนชั้นสูงเพรียว หลังคาทรงจั่ว ประกอบช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันแกะลวดลายใบเทศ
เจว็ด .. คือแผ่นไม้จำหลักรูปเทพารักษ์ ประดิษฐานในศาลพระภูมิหรือเทพาอารักษ์ แผ่นไม้เป็นรูปคล้ายใบเสมา เขียนหรือจำหลักรูปเทวดา เทพ อารักษ์ หรือรูปพระภูมิตามตำราภูมิ 9 องค์ (พระชัยมงคล พระนครราช พระเทเพน พระชัยสพ พระคนธรรพ์ พระธรรมโหรา พระเทวเถร พระธรรมิกราช พระธาตุธารา) ซึ่งแต่ละองค์มีความหมายและรูปลักษณ์แตกต่างกัน
พระปรางค์จำลอง .. ต้นแบบมาจาก วัดในจังหวัดสมุทรปราการ มีความงามของช่างฝีมือไทย เป็นหุ่นต้นแบบในการศึกษาสถาปัตยกรรมไทย
บุษบกจำลอง .. ใช้ประดิษฐานรูปเคารพขนาดเล็ก
แผงพระพิมพ์ไม้ ..
บุษบกยอดพรหมพักตร์ ... เป็นศาสนวัตถุที่พุทธศาสนิกชนสร้างถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ
บานประตูไม้จำหลักรูปทวารบาล ... บานประตูนี้เดิมเป็นบานประตูทางเข้าปราสาทพระเทพบิดร ภายหลังที่ปราสาทพระเทพบิดรเกิดไฟไหม้ ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ระหว่างช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ถังรัชกาลที่ 7 จึงนำบานประตูนี้มาเก็บรักษา
บนบานประตูจำหลักรูปนูนสูงเซี่ยวกาง หรือทวารบาลแบบจีน แต่ทรงเครื่องแบบเทวดาไทยยืนบนสิงโต ลงรักปิดทองประดับกระจก โดยมีอกเสาคั่นกลางประตู ส่วนล่างจำหลักเป็นรูปทิวทัศน์ ประกอบด้วยโขดหิน ต้นไม้ คน และสัตว์ ด้านหลังของประตูเขียนลายรดน้ำ ภาพมวลหมูสกุณาท่ามกลางพรรณพฤกษา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา