26 พ.ย. 2021 เวลา 02:29 • กีฬา
ปีแห่งความสุดยอดของเชลซี ที่ยิงกระจุยเกิน 100 ลูก นี่คือเรื่องราวคลาสสิคของทีมสิงห์บลูส์ ยุคคาร์โล อันเชล็อตติ
ตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร มี 1 ฤดูกาลเท่านั้น ที่เชลซียิงประตูได้เกิน 100 ลูกในเกมลีก ผลงานนั้นถูกสร้างด้วยทีมชุด 2009-10 ของคาร์โล อันเชล็อตติ
ความน่ากลัวของทีมชุดนั้น ถูกตั้งฉายาว่า Free-Scoring Chelsea นั่นคือ นักเตะยิงได้ทุกคน จะเจอทีมใหญ่ทีมเล็ก เชลซีไล่ยิงเละเทะหมด จนคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้อย่างสวยงาม
ถ้าพูดถึงแชมป์พรีเมียร์ลีกของเชลซี คนมักจะคิดถึงแชมป์ของโชเซ่ มูรินโญ่ หรือ ของอันโตนิโอ คอนเต้ แต่ถ้าไปดูรายละเอียดจริงๆ แล้ว ทีมชุดของอันเชล็อตติ เชียร์สนุกที่สุด ดูมันส์ที่สุด เพราะยิงกระจายมาก
ในซีซั่นนั้น การซัดได้ 5-6 ลูกต่อเกม ทำได้บ่อยจนดูเป็นปกติมากๆ
จุดเริ่มต้นที่อันเชล็อตติเข้ามาคุมเชลซี เกิดขึ้นหลังจากทีมสิงห์บลูส์ ไล่หลุยซ์ เฟลิเป้ สโคลารี่ ออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ด้วยความที่โรมัน อบราโมวิช ต้องการแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกเป็นอย่างมาก จึงทาบทามอันเชล็อตติ เจ้าของแชมป์ยุโรป 2 สมัย ที่ขณะนั้นเป็นเฮดโค้ชเอซี มิลาน มาคุมทีมในฤดูกาล 2009-10
อันเชล็อตติจริงๆ เหลือสัญญากับมิลานอีก 1 ปี แต่ด้วยความที่อิ่มตัวแล้วกับฟุตบอลอิตาลี เขาต้องการมูฟออน ไปหาความท้าทายใหม่ จึงตอบตกลงข้อเสนอของเชลซีในที่สุด
หลังจากไล่สโคลารี่ เชลซีไปดึงกุส ฮิดดิงค์ มาขัดตาทัพชั่วคราว แล้วพอจบฤดูกาลไปก็ไปคว้าอันเชล็อตติมา พร้อมกับบรูโน่ เดมิเคลิส ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีม
สิ่งที่อันเชล็อตติทำเป็นอย่างแรก หลังจากรับงานคุมเชลซี คือไปเรียนภาษาอังกฤษ เขาเรียน 8 โมงเช้า เลิก 2 ทุ่ม อยู่ซ้ำๆ เป็นสัปดาห์ เพื่อซึมซับภาษาให้เร็วที่สุด อย่างน้อยต้องอยู่ในระดับที่สื่อสารได้
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ มีนักข่าวมาทำข่าวมากถึง 200 คน อันเชล็อตติก็ทำเซอร์ไพรส์ ด้วยการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษไปเลย โอเค มันก็ไม่ได้สมบูรณ์ แต่ก็อยู่ในระดับที่สื่อสารได้
ภารกิจที่ 2 ที่เขาต้องทำ คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเตะในทีม อันเชล็อตติกล่าวว่า "การสร้างความเชื่อใจกับผู้เล่น ควรทำทันทีตั้งแต่คุณย้ายมาทำงาน เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบากต่อไปในอนาคต คุณจะได้มีตัวช่วยคอยซัพพอร์ทอยู่เบื้องหลัง"
ก่อนที่เขาจะโฟกัสเรื่องแท็กติกใดๆ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือเรื่องความสัมพันธ์กับผู้เล่นในทีม เขาต้องซื้อใจนักเตะให้ได้ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ใจดีเกิน จนนักเตะสามารถลูบคมเขาได้ด้วย
ซึ่งตอนนั้นบรรดานักเตะต่างพักผ่อนในช่วงปิดฤดูกาลกันอยู่ ปรากฏว่าเขาโทรหานักเตะทีละคน เพื่อแนะนำตัว ทั้งๆที่ความจริง เขาคือผู้จัดการทีม และไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้
ดิดิเยร์ ดร็อกบา กองหน้าซีเนียร์ของทีมเล่าว่า "การสนทนากันครั้งแรกของผมกับคาร์โล เกิดขึ้นเพราะเขาโทรไปหาผมช่วงซัมเมอร์ ก่อนเปิดฤดูกาล เขาโทรมาแนะนำตัว และบอกให้รู้ว่าอยากจะร่วมงานกับผมแค่ไหน ซึ่งมันน่าประทับใจมาก เพราะเขาไม่ต้องทำแบบนั้นเลย เขาสามารถรอจนถึงการซ้อมครั้งแรกเหมือนโค้ชทั่วๆไป แล้วค่อยคุยกันก็ได้ แต่เขาพยายามแสดงการให้เกียรตินักเตะในทีม มันทำให้ผมรู้สึกปลื้ม และรู้เลยว่านี่คือวิธีของโค้ชระดับโลก"
เช่นเดียวกับ กัปตันทีมจอห์น เทอร์รี่ ก็เล่าว่า อันเชล็อตติก็ชื่นชมเขาอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่ก่อนจะได้ซ้อมกันรอบแรกเสียอีก "เขาเคยบอกผมว่า ผมอยู่ในระดับเดียวกับเปาโล มัลดินี่, บิลลี่ คอสตาคูร์ต้า และ อเลสซานโดร เนสต้า ผมไม่รู้ว่าเขาพูดจริงแค่ไหน แต่มันก็ทำให้คุณรู้สึกดีนะ ที่โค้ชให้เครดิตคุณขนาดนั้น"
อันเชล็อตติ สานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้เล่นซีเนียร์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งปีเตอร์ เช็ก, แฟรงค์ แลมพาร์ด และ แอชลีย์ โคล ดังนั้นในช่วงออกสตาร์ตซีซั่นเขาจึงทำงานง่ายมากๆ
แต่แน่นอน ไม่ใช่ว่าเรื่องความสัมพันธ์จะราบรื่นไปหมด หลายครั้ง เขาเคยถูกทดสอบจากนักเตะของตัวเอง ตัวอย่างเช่น ในช่วงการซ้อม นักเตะเชลซีจะมีข้อบังคับให้ต้องติดเครื่อง GPS เอาไว้กับร่างกายด้วย เพื่อที่ฝ่ายวิจัยจะเอาข้อมูลไปแปลงผลต่อ
แต่มีผู้เล่นหนึ่งคนไม่ยอมติด เขาคือฟลอรองต์ มาลูด้า ระหว่างการซ้อม มาลูด้าถอด GPS ทิ้งเลย ซึ่งพอซ้อมเสร็จ อันเชล็อตติเดินไปถามมาลูด้าว่าทำไมถึงทำแบบนั้น
มาลูด้าตอบว่า "ผมเบื่อกับเครื่อง GPS บ้าบอนี่แล้ว มันเหมือนโดนเครื่องควบคุมอยู่ และผมไม่ชอบที่จะถูกควบคุมแบบนี้ ผมจะไม่ซ้อมกับไอ้เครื่องบ้านี่" แต่อันเชล็อตติสวนกลับไปว่า "จำเป็นต้องติด เพราะนั่นคือเงื่อนไขของสโมสร ทีมวิจัยจะได้เอาไปพัฒนาต่อ"
1
สุดท้ายมาลูด้าฮึดฮัด ยังไงก็ไม่ยอมใส่ อันเชล็อตติจึงพูดแรงๆ ใส่ว่า "ใส่มันซะ ไม่งั้นฉันจะฆ่านาย" สุดท้ายมาลูด้าก็เลยยอม
หรือดิดิเยร์ ดร็อกบา เคยมาประชุมทีมก่อนแข่ง 1 วัน สายไปครึ่งชั่วโมง อันเชล็อตติสั่งดร็อปเป็นสำรองทันทีในวันรุ่งขึ้นแล้วให้คนอื่นลงแทน คือส่วนใหญ่เขาจะใจดี แต่ถึงคราวบทเฮี้ยบก็ต้องเฮี้ยบให้เห็น
ณ เวลานี้ เรื่องนอกสนามถือว่าโอเคแล้ว เหลือเพียงแค่แท็กติกในสนามเท่านั้น ที่อันเชล็อตติ ต้องหาแผนการเล่นที่เหมาะที่สุด สำหรับเชลซีชุดนี้
แผนการเล่นที่อันเชล็อตติ เลือกใช้งานกับเชลซี ในช่วงแรกคือ 4-4-2 แบบไดอามอนด์
4-4-2 ไดอามอนด์ คือแผนที่จะเน้นเจาะตรงกลางเป็นหลัก ในไลน์อัพจะประกอบด้วย
- กองกลางตัวรับ 1 คน
- กองกลางตัวกลาง 2 คน
- กองกลางตัวรุก 1 คน
- กองหน้า 2 คน
อันเชล็อตติถนัดระบบนี้เป็นอย่างมาก อย่างตอนได้แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 2003 เขาใช้คู่หน้าคือ ฟิลิปโป้ อินซากี้ กับ อันเดร เชฟเชนโก้ โดยมีรุย คอสต้าเป็นกองกลางตัวรุก กองกลางตัวกลางใช้คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ กับ เจนนาโร่ กัตตูโซ่ ส่วนกองกลางตัวรับใช้ อันเดรีย ปิร์โล่ ยืนต่ำสุดคอยคุมจังหวะเกม
แต่ปัญหาคือพอย้ายมาเชลซีแล้ว นักเตะในทีมไม่คุ้นชินนักกับระบบ 4-4-2 เพราะทุกคนเล่น 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 มาตลอด ตั้งแต่ยุคอัฟรัม แกรนต์ มาจนถึงกุส ฮิดดิงค์
ถ้าจะถามว่าเชลซีในหน้าคู่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อาจต้องย้อนกลับไปในซีซั่น 2005-06 โน่นเลย ที่มูรินโญ่ จับเอาดร็อกบา กับเฮอร์นัน เครสโป ยืนคู่กันในหลายเกม แต่หลังจากนั้นมาเราไม่ค่อยเห็นนักที่เชลซีจะใช้ 4-4-2 อย่างจริงจังแบบนี้
แม้จะไม่ถนัดนัก แต่นักเตะก็สามารถเล่นได้ ในช่วงแรกทุกอย่างก็ดูโอเค ตำแหน่งคู่หน้า อันเชล็อตติใช้ดร็อกบายืนคู่กับนิโกลาส์ อเนลก้า ส่วนกองกลางตัวรุกใช้ แลมพาร์ด โดยมีโจ โคลสลับลงในบางเกม
ส่วนมิดฟิลด์ตัวกลางใช้ มิชาเอล บัลลัค เดโก้ และจอน โอบี มิเกล สลับกันเล่น ขณะที่กลางรับ อันเชล็อตติเคยยื่นขอซื้อปิร์โล่มาจากเอซี มิลาน แต่มิลานไม่ขาย เลยใช้มิกาแอล เอสเซียงยืนแทน คือโอเคว่า Vision ของเอสเซียงอาจจะไม่เลิศล้ำเท่าปิร์โล่ แต่ความขยัน ก็พอทดแทนกันได้อยู่
14 เกมแรก เชลซีชนะไป 12 นัด เก็บไป 36 แต้มนำเป็นจ่าฝูงแบบสวยๆ และมีสิทธิจะสปรินท์รวดเดียวคว้าแชมป์แบบม้วนเดียวจบ
ข้อเสียของการใช้ระบบ 4-4-2 แบบไดอามอนด์นั้น คือทีมจะขาดพลังในการโจมตีริมเส้นไป เพราะไม่มีปีกธรรมชาติ จริงอยู่ว่าดร็อกบา กับอเนลก้า ในฐานะกองหน้าก็ถ่างไปยืนด้านข้างได้ระหว่างเกม แต่ประเด็นคือ ถ้ากองหน้าไม่อยู่ในเขตโทษ แล้วใครจะยิงประตูล่ะ
อันเชล็อตติแก้จุดอ่อนนี้ ด้วยการใช้แบ็กจอมลุย ทั้งแอชลีย์ โคลทางฝั่งซ้าย และ โชเซ่ โบซิงวาทางฝั่งขวา เติมขึ้นสุดลงสุด ดังนั้นเกมรุกด้านข้างก็ยังพอมีความน่ากลัวอยู่
แต่ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคม เนื่องจากโชเซ่ โบซิงวา ที่เป็นตัวจริงทุกนัดตั้งแต่เริ่มฤดูกาล เจ็บหัวเข่ายาวต้องพัก 1 ปีเต็ม นั่นแปลว่า เชลซีต้องเอาบรานิสลาฟ อิวาโนวิช มายืนเป็นแบ็กขวาแทน
อิวาโนวิชเล่นแบ็กขวาได้ดี แต่เรื่องสปีดและความเร็วต้องยอมรับจริงๆว่า โบซิงวาเร็วกว่า และเหมาะกว่ากับระบบ 4-4-2 แบบไดอามอนด์มากกว่า เพราะสามารถเติมขึ้นไปได้เหมือนกับปีก
นั่นคือปัญหาแรก ส่วนปัญหาที่สอง เกิดขึ้นเพราะแฟรงค์ แลมพาร์ด เปิดเผยว่า เขาไม่ชอบยืนอยู่บนสุดของเหลี่ยมเพชร เขาไม่ชอบเล่นมิดฟิลด์ตัวรุก แต่ชอบเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางมากกว่า
จากนั้นเกิดปัญหาที่ 3 อีก เมื่อดิดิเยร์ ดร็อกบา และซาโลมง กาลู ต้องบินไปแข่งแอฟริกันเนชั่นส์คัพ ทำให้ทีมขาดกองหน้าไปถึง 2 คน ซึ่งขาดกาลูยังพอไหว แต่ขาดดร็อกบา ที่เป็นคีย์แมน ทำให้ทีมเกิดความระส่ำมากทีเดียว
เมื่อเจอปัญหารุมเร้า อันเชล็อตติจึงอยู่ในทางแยกของการตัดสินใจ แบบแรกเขายึดมั่นในแผนถนัดของตัวเองต่อไป 4-4-2 แล้วยัดเอานักเตะลงเล่นตามแผนที่เขาต้องการให้ได้ หรืออีกแบบหนึ่งคือ ดูศักยภาพของนักเตะ ว่าเหมาะกับการยืนตรงไหน แล้วปรับแผนตามคุณภาพของผู้เล่นแทน
ยึดแผนเป็นหลัก หรือ ยึดตัวนักเตะเป็นหลัก ที่เป็นทางที่อันเชล็อตติต้องคิดให้ดี เพราะแต้มในตารางคะแนนก็โดนแมนฯ ยูไนเต็ดไล่บี้มาเรื่อยๆ
สุดท้ายอันเชล็อตติ ตัดสินใจว่า เขายึดที่ตัวนักเตะเป็นหลักก่อนจะดีกว่า
"ผมคิดถึงตอนคุมปาร์ม่า ในปี 1996 ตอนนั้นผมชอบเล่นระบบ 4-4-2 แบบมีปีกซ้ายขวา และใช้กองหน้าคู่ตัวใหญ่ 2 คน แผนของผมไม่มีนักเตะเบอร์ 10 ในทีมด้วย ตอนนั้นเรามีจานฟรังโก้ โซล่า ที่เล่นกองหน้าตัวต่ำได้เก่ง แต่ในแผนของผมเราไม่มีตำแหน่งนั้นอยู่ ผมเลยจับเขาไปเล่นปีกขวาแทน แล้วใช้กองหน้าเป็นเฮอร์นัน เครสโป กับ เอ็นริโก้ เคียซ่า"
"โซล่าไม่มีความสุข และเขาตัดสินใจย้ายไปเชลซี การตัดสินใจของผม ทำให้ผมเสียนักเตะที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย"
กับกรณีนี้ก็เช่นกัน อันเชล็อตติมองว่า เขาไม่จำเป็นต้องยึดมั่นแต่ 4-4-2 ไดอามอนด์ ทั้งๆ ที่ด้วยศักยภาพทีม เล่นแผนอื่นอาจจะเวิร์กกว่าก็ได้
นั่นทำให้อันเชล็อตติปรับมาใช้ 2 แผน คือ 4-3-2-1 แบบต้นคริสต์มาสแทน ในช่วงที่ดร็อกบาไม่อยู่ จากนั้นพอดร็อกบากลับมาจากแอฟริกันเนชั่นส์คัพ ก็เปลี่ยนมาใช้แผน 4-3-3 แทน
14 เกมสุดท้ายของฤดูกาล เชลซีใช้แผน 4-3-3 เต็มตัว ดร็อกบาจะยืนหน้าเป้า ปีกซ้าย-ขวา จะใช้กาลูหรือมาลูด้า กับอเนลก้า ส่วนมิดฟิลด์จะมีแลมพาร์ด กับบัลลัคยืนพื้น ส่วนอีกหนึ่งตำแหน่งก็จะโรเทชั่นตามสถานการณ์
ด้วยแผนนี้ ทำให้ทุกคนแฮปปี้หมด แบ็กซ้าย-ขวา ก็ไม่ต้องเติมเกมขึ้นลงอย่างบ้าคลั่งจนเกินจำเป็น อย่างแอชลีย์ โคล ก็โฟกัสที่เกมรับได้เน้นๆ โดยไม่เหนื่อยเหมือน 4-4-2 ไดอามอนด์
แลมพาร์ดได้เล่นในตำแหน่งที่ตัวเองชอบ ส่วนดร็อกบาการยืนเป็นหน้าเป้าตัวเดียว ทำให้เขาปล่อยของได้มากกว่ายืนหน้าคู่
ผลลัพธ์คือ เชลซีช่วงปลายฤดูกาลยิงประตูเละเทะ ยิงพอร์ทสมัธ 5-0, ยิงแอสตัน วิลล่า 7-1, ยิงสโต๊ค 7-0
ในเกมสุดท้ายของฤดูกาล เชลซีเจอวีแกนในบ้าน ถ้าหากเชลซีหลุดเสมอ หรือแพ้ ขึ้นมา แล้วอีกสนาม แมนฯยูไนเต็ดชนะสโต๊คที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด จะทำให้ทีมปีศาจแดงพลิกสถานการณ์คว้าแชมป์ทันที
ในครึ่งฤดูกาลแรก เชลซีเคยใช้ 4-4-2 ไดอามอนด์ เจอวีแกน แล้วแพ้มา 3-1 แต่คราวนี้พอเปลี่ยนมาใช้ 4-3-3 เชลซีถล่มกระจาย 8-0 ทำให้คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกไปครองอย่างยิ่งใหญ่จริงๆ ที่สำคัญหยุดยั้งแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ให้คว้าแชมป์ลีก 4 สมัยติดต่อกันได้ด้วย
ชัยชนะ 8-0 ถือเป็นสกอร์ที่ขาดลอยที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร และในซีซั่นนั้นเชลซียิงได้ 103 ลูก เป็นทีมแรกในรอบ 46 ปี ของฟุตบอลอังกฤษ ที่ยิงได้เกิน 100 ลูก
ดร็อกบา ยิง 29 ลูก คว้าดาวซัลโว ส่วนแลมพาร์ด ยิง 22 ลูกกับทำ 16 แอสซิสต์ เป็นปีที่แลมพาร์ดทำผลงานได้ดีที่สุดในชีวิต แม้แต่ฟลอรองต์ มาลูด้า ที่มีดราม่ากับอันเชล็อตติตอนต้นฤดูกาล ยังยิงได้ 12 แอสซิสต์ 10 เป็นสถิติที่สวยหรูมาก
หลังจบฤดูกาลมีนักข่าวไปถามอันเชล็อตติว่า ทำไมเขาถึงสร้างเชลซีที่เล่นเกมบุกขนาดนี้ ทั้งๆที่ สมัยเขาคุมเอซี มิลาน ก็ไม่ได้บุกอย่างบ้าคลั่งเต็มสูบ ยิงคู่แข่ง 7-8 ลูกแบบนี้ ซึ่งอันเชล็อตติอธิบายว่า
"ตอนที่ผมคุยกับโรมัน อบราโมวิชครั้งแรกสุด เขาบอกผมว่า ต้องการผู้จัดการทีมที่จะสร้างเชลซี ให้มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง เขาบอกว่าบาร์เซโลน่าและแมนฯ ยูไนเต็ด มีสไตล์ฟุตบอลที่เป็นเอกลักษณ์ อยากให้เชลซีสร้างความรู้สึกแบบนั้นบ้าง"
เมื่ออบราโมวิชต้องการแบบนั้น อันเชล็อตติก็จัดเลย อยากให้คนจำได้ใช่ไหม ได้เลย งั้นเราเล่นเกมบุกเต็มรูปแบบ แค่ชนะไม่พอ แต่ต้องชนะอย่างมีสไตล์ด้วย ปีนั้นดร็อกบา ยิงแฮตทริกได้ 3 หน อันเชล็อตติสนับสนุนให้ขยี้คู่แข่งให้กระจุยทุกนัดที่ลงเล่น อย่าปรานี
ถึงวันนี้ แชมป์ในซีซั่น 2009-10 ของเชลซี ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นแชมป์ที่น่าประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในยุคพรีเมียร์ลีก เพราะเชลซีเสริมทัพน้อยมาก (มาติช, สเตอร์ริดจ์, เชียร์คอฟ และเป็นสำรองทั้ง 3 คน) แต่กลับคว้าแชมป์ได้อย่างยิ่งใหญ่ขนาดนี้
นอกจากนั้นดราม่าในทีมเชลซีปีนั้นยังน้อยมาก บรรยากาศในทีมกลมเกลียวกันสุดๆ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า การจัดการที่ดีของอันเชล็อตตินั้นมีผลมากจริงๆ
หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก อันเชล็อตติ ได้อยู่กับเชลซีต่ออีก 1 ปี ก็โดนปลดจากตำแหน่ง เพราะไปไม่ถึงเป้าหมายแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อย่างที่อบราโมวิชหวังไว้
อย่างไรก็ตาม การสร้างเชลซีของเขาให้ยิงประตูกระจุยเกินร้อยลูก แน่นอนว่าจะอยู่ในความทรงจำของแฟนๆ สิงห์บลูส์ไปอีกนานเลยทีเดียว
#FREESCORING
โฆษณา