24 พ.ย. 2021 เวลา 01:16 • ท่องเที่ยว
พระที่นั่งทักษิณาภิมุข .. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
“พระที่นั่งทักษิณาภิมุข” ... เคยเป็นที่ประทับในสมัยพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ .. ปัจจุบันเป็นห้องที่ใช้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ นาฏดุริยางค์ และเครื่องร้องรำทำเพลงจำนวนมากที่เล่าเรื่อง ‘มหรสพของหลวง’ อันเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก
ภายในพระที่นั่ง จัดแสดง เครื่องการละเล่น หุ่น หัวโขน หนังใหญ่ เครื่องแต่งกายละคร เครื่องกีฬาไทย หมากรุก ปิ๊กระเบื้อง ตัวหวย กอ ขอ รวมถึงตัวหนังใหญ่ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ทำด้วยหนังวัว
“ห้องนาฏดุริยางค์” ภายในพระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่นไทย ศิลปะไทยประเพณี มีหัวโขนและเศียรครูที่จัดแสดงอย่างโดดเด่นในตู้กระจกบานใหญ่ งดงามลงตัวทั้งการจัดวาง แสงไฟที่สาดส่องได้มุม พร้อมคำบรรยายไทย-อังกฤษที่อ่านง่าย
คอลเลกชันเด่นของห้องนี้คือ หนุมานหน้ามุก งานศิลปะเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ที่ทั้งเศียรทำจากเปลือกหอยมุก, หัวโขนชมพูพานที่มีใบหน้าเป็นหมี และหุ่นวังหน้าที่มีตัวละครน่ารักทั้งไทยและจีน
ในห้องนี้ยังจัดแสดง “หุ่นหลวง” หรือหุ่นใหญ่ ซึ่งเป็นหุ่นชักที่ใช้คนเชิด 1 คนต่อหุ่น 1 ตัว ตัวหุ่นยังใส่เสื้อผ้าสวยงามเหมือนคนรำละครจริงๆ อีกด้วย .. หุ่นหลวง ได้รับการซ่อมแซมโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
งานชิ้นเอกต้องยกให้กับหุ่นหลวงพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นงานฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2
อีกทั้งยังมี “หุ่นเล็ก” หรือหุ่นวังหน้า หุ่นไทยที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในสมัย ร.๕ ทรงคิดขึ้นใหม่ มีกรรมวิธีคล้ายหุ่นหลวง มีแขนขาเต็มตัว มีแกนไม้และชายใยคอยชักอวัยวะต่างๆให้เคลื่อนไหวแต่ตัวหุ่นมีขนาดเล็ก
สำหรับโรงการแสดง ปกติจะสร้างคล้ายๆโรงละครฝรั่ง .. ได้เคยใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรมาแล้วด้วย ในงานสมโภชน์ช้างเผือกที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2419
หัวโขน .. โขน เป็นมหรสพหลวงที่แสดงในพระราชพิธีสำคัญมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ผู้แสดงโบนในสมัยโบราณเป็นชายล้วน ทั้งตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ และลิง นักแสดงจะต้องสวมหัวโขน หรือ หน้าโขน ยกเว้นคนที่แสดงเป็นตัวนาง และใช้การแสดงด้วยการเต้นไปตามบทพากย์ การเจรจขาของผู้พากย์ และตามทำนองของบทเพลงหน้าพาทย์ ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์
เรื่องที่แสดงเป็นหลัก คือ เรื่องรามเกียรติ์ ..ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพต่างๆ ผู้ที่สวมบทบาทแสดงจึงต้องแสดงออกด้วยความเคารพ การแสดงโขนทุกขั้นตอนจึงประกอบด้วยขนบและพิธีกรรม
เครื่องโขนบรรดาศักดิ์ .. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เป็นยุคที่นาฏศิลป์ไทยเฟื่องฟู พระองค์โบรดเกล้าฯให้ตั้งกรมมหรสพ ซึ่งรวมเอากรมโขนหลวง กรมปี่พาทย์หลวง กรมช่างมหาดเล็ก และกองเครื่องสายฝรั่งหลวงไว้
ทั้งยังโปรดเกล้าฯให้ขุนนางและข้าราชการที่มียศ มีตำแหน่ง มาฝึกแสดงโขนเพื่อการกุศลจึงเรียกกันว่า “โขนบรรดาศักดิ์” .. เครื่องโขนละครบรรดาศักดิ์ เป็นชุดที่โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นพิเศษ เครื่องประดับสั่งทำจากยุโรป
เครื่องศิราภรณ์ .. ละครรำ เป็นศิลปะการร่ายรำที่เล่นเป็นเรื่องเป็นราว มีเอกลักษณ์ในการแสดงและการดำเนินเรื่อง ด้วยกระบวนลีลาท่าการร่ายรำ เข้ากับบทร้อง ทำนองเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์
การแต่งกายตัวละคร ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกายที่เลียนแบบมาจากเครื่องต้น หรือเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ทั้งชื่อเรียกชิ้นส่วนเครื่องแต่งกาย และรูปร่างลักษณะ
บนตั่งมีปี่พาทย์เครื่องใหญ่ขนาบซ้ายขวาตู้กระจกที่จัดแสดงเศียรครูจำนวน 32 เศียร ... จัดเรียงโดยคำนึงถึงลำดับศักดิ์ของแต่ละชิ้นงานเป็นหลัก เช่น หุ่นละครพระนางต้องอยู่คู่กันด้านใน และหุ่นละครยักษ์กับลิงวางขนาบด้านนอก .. ภัณฑารักษ์ ให้ความสำคัญว่าจะต้องให้ความสำคัญของตัววัตถุมาก่อนเสมอ
“หุ่นหลวง” มรดกล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
มีผู้เยี่ยมชมหลายท่านถามว่า เหตุใดผมถึงชอบหุ่น สะสมหุ่นอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็น Kennie Gallery จึงขอกล่าวถึงที่มาของการทำพิพิธภัณฑ์หุ่นสักเล็กน้อย ว่าตั้งแต่จำความได้ ผมก็มีความชอบในของโบราณ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆอยู่เสมอ ต่อมาผมมีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พบหุ่นหลวง หุ่นวังหน้า และหัวโขน ก็เกิดมีความประทับใจในความงามของศิลปะไทยเหล่านี้อย่างลืมไม่ลง โดยเฉพาะหุ่นหลวงนั้นทำให้ผมสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีกลไกที่สลับซับซ้อน สร้างขึ้นด้วยวัสดุอันมีค่า และฝีมืออันวิจิตรประณีต ตั้งแต่วันนั้นผมจึงพยายามศึกษาหาความรู้ ด้านศิลปะการสร้างหุ่น และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหุ่นไทย อีกทั้งสะสมหุ่นเท่าที่จะหาได้ โดยหวังว่าจะสืบสานให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าในมรดกไทยอันทรงคุณค่านี้ให้แพร่หลายสืบไปอีกแรงหนึ่ง
หุ่นหลวงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
หุ่นหลวงนับเป็นหุ่นไทยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะสืบค้นได้ โดยเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นมิอาจทราบได้ แต่สันนิษฐานว่า มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยปรากฏตำแหน่ง "หลวงทิพยนต์ช่างหุ่น" จากหลักฐานศักดินาหัวเมือง พศ.1919 และพบว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏการเล่นหุ่นเป็นละครนอกเพียงสองเรื่องคือ สังสินไช (สังข์ศิลป์ชัย) และ ไชยทัต สืบมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีการละเล่นหุ่นหลวงในงานออกพระเมรุของเจ้านาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ความนิยมในการแสดงหุ่นหลวงก็เริ่มลดลง
ประณีตทั้งนอกและใน
หัวและตัวหุ่นหลวงแกะด้วยไม้ทองหลางและไม้นุ่น มีการทำข้อต่อให้เคลื่อนไหวได้ทุกส่วน ว่ากันว่า หุ่นหลวงโบราณ ขยับได้แม้กระทั่งลูกตา หุ่นหลวงใช้สายยนต์กลไกจำนวนมาก ร้อยผ่านอวัยวะต่างๆลงมาที่แกนกลาง และผู้เชิดจะใช้นิ้วดึงจากด้านล่าง อีกทั้งการเขียนหน้า เครื่องทรง ตลอดจนภูษาอาภรณ์ ก็ประณีตงดงามอย่างที่สุด หุ่นหลวงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหุ่นอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ หุ่นวังหน้า ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (สมัย ร.5) สร้างหุ่นวังหน้าขึ้นโดยย่อส่วนจากหุ่นหลวง และหุ่นละครเล็ก ที่ครูแกร ศัพทวณิช ได้รับแรงบันดาลใจจากหุ่นหลวง
ยุคเสื่อมของหุ่นหลวง
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา การแสดงหุ่นหลวงก็ปรากฏน้อยมาก จนกระทั่งสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 หุ่นหลวงสมัยโบราณจำนวนมากได้สูญหายไป เนื่องจากรัฐบาลไม่สนับสนุนมหรสพและศิลปะไทย มีการยุบกรมมหรสพลงในที่สุดจนกระทั่งศิลปะโขนละครและหุ่นแทบจะหายสาปสูญ ว่ากันว่าในช่วงนี้ หัวหุ่นหลวงที่เคยเป็นของสูงค่ายังถูกทิ้งขว้าง บ้างให้เด็กนำมาเตะเล่นต่างลูกมะพร้าว หุ่นเก่าจำนวนน้อยที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันก็ถูกเก็บไว้ในสภาพทรุดโทรม
รื้อฟื้น คืนค่า สู่สายตาประชาชน
หุ่นหลวงสวยๆที่เห็นในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เป็นฝีมือการบูรณะของ อ.จักร์พันธ์ โปษยกฤต ในปี 2526-2529 นอกจากนั้นก็มีหัวหุ่นที่เหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีหัวหุ่นพระรามและพระลักษณ์ ที่เชื่อกันว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่2) มีข้อสังเกตคือสวมศิราภรณ์เป็นชฎา (ยอดสะบัด) ส่วนหุ่นพระรามพระลักษณ์สมัยรัชกาลที่4 จะสวมมงกุฎยอดแหลม นอกจากหุ่นหลวงที่บูรณะโดยอาจารย์จักรพันธ์ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแล้ว ปัจจุบันยังมีหุ่นหลวงที่รื้อฟื้นขึ้นมาใช้ในโอกาสสำคัญโดยคณะไก่แก้วของครูไก่ และหุ่นหลวงของอาจารย์กมล การกิจเจริญ อย่างไรก็ตามหุ่นหลวงเป็นสิ่งทีหาชมได้ยากยิ่ง เพราะมีวิธีการสร้างและการเชิดที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่าหุ่นประเภทอื่น....
หุ่นวังหน้า
วังหน้ามีการประดิษฐ์และเล่นหุ่นเช่นเดียวกับการละเล่นหุ่นหลวงของวังหลวง โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย พระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ ‘หุ่นเล็ก’ ขึ้นมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งเล็กกว่าหุ่นหลวงถึงครึ่งหนึ่ง แบ่งได้ 2 แบบ คือ หุ่นจีน หัวและหน้าเขียนสีต่างๆ สวมเครื่องแต่งกายแบบงิ้ว ใช้เล่นละครจีน เช่น ซวยงัก หรือสามก๊ก และอีกแบบคือ หุ่นไทย มีลักษณะเหมือนหุ่นหลวงทุกประการ ทั้งการแต่งกายและวิธีการชัก ใช้เล่นละคร รามเกียรติ์ แบ่งเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง
Ref : ขอบคุณบทความจาก Kennie Gallery
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา