24 พ.ย. 2021 เวลา 07:14 • การตลาด
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน
ความพยายามของค่ายรถญี่ปุ่นในการต่ออายุเครื่องยนต์สันดาป
ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกหลายราย เช่น Mercedes-Benz, Ford, GM, Volvo, Volkswagen ประกาศว่าจะเลิกขายรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (รถใช้น้ำมัน ดีเซล เบนซิน ก๊าซธรรมชาติ) จะหยุดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในตลาดยุโรป โดยเปลี่ยนขายแต่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และจะตามมาด้วยตลาดในสหรัฐอเมริกา และจีนภายในปี 2035-2040
เหตุผลหลักมาจากการที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเนื่องมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่สูงมาก นับวันจะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของการที่ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มีปริมาณสูงขึ้นทุกปีมาจากรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะเดียวกันผู้บริโภคทั่วโลกก็มีความเข้าใจปัญหา Climate Change มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนมาสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มากขึ้น
2
จะเห็นได้จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงถึง 160% โดยมียอดขาย 2.6 ล้านคัน
ดังนั้นบรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายค่ายจึงประกาศช่วงเวลาที่ชัดเจน ในการเลิกขายรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคต่อรถยนต์ไฟฟ้า ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกปี นี่ส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาดของ Tesla ผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกขึ้นไปสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
3
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายักษ์ใหญ่รถยนต์ค่ายตะวันตกหลายรายจะประกาศชัดเจนถึงเวลาที่จะเลิกขายรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาป ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลในตลาดโลกที่คิดต่างออกไป
โดยทาง Toyota ได้มีการจับมือผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย ได้แก่ Yamaha Motor, Kawasaki Heavy Industries, Mazda, Subaru เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ได้จากชีวมวล
Toyota มีความเชื่อว่า แม้ว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไฮโดรเจน นั้นเป็นเรื่องยากทางเทคโนโลยี แต่การบรรลุเป้าหมายนี้จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ยังสามารถสนับสนุนระบบซัพพลายเชนสำหรับรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมถึงคนงานหลายแสนคนที่อาจต้องออกจากงานเนื่องจากอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
Akio Toyoda ประธานบริษัท Toyota กล่าวว่า "ศัตรูคือคาร์บอน ไม่ใช่เครื่องยนต์สันดาปภายใน”
ความคิดของ Toyota ที่จะนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในรถเครื่องยนต์สันดาปภายในนั้น ยังมีข้อสงสัยว่าจะทำได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่ยากต่อการผลิต การขนส่ง รวมทั้งยังต้องผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน หรือมีเทนซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ใช้ไฟฟ้าแยกไฮโดรเจนจากน้ำ ก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล แม้จะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานจากแสงอาทิตย์ และลมก็ตาม แต่เป็นเรื่องของอนาคตอันไกล เพราะตอนนี้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ
เมื่อประกอบกับความต้องการใช้งานรถยนต์ใช้พลังงานสะอาดอย่างรถยนต์ไฟฟ้า ของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายประเทศทั่วโลกที่เป็นตลาดใหญ่สำหรับรถยนต์ รวมทั้งญี่ปุ่นก็กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนในการเลิกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า Toyota และพันธมิตรจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฮโดรเจนสีเขียวเพื่อใช้กับเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีความความคุ้มค่าในการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันเวลากำหนด และทันต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หรือไม่
2
แต่อย่างไรก็ตาม Toyota ก็ลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเงินลงทุนไม่น้อยเช่นกัน Toyota มีแผนจะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า 15 รุ่นภายในปี 2025 และลงทุน 13.5 พันล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า เพื่อขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ ไปพร้อมกับกำลังพัฒนายานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน
ท่ามกลางคลื่นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าชองผู้บริโภค ที่กำลังถาโถมจากทุกสารทิศ ก็ต้องรอดูว่า เทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจะทันและคุ้มค่าพอที่จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่รอดหรือไม่ หรือที่สุดแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอุตสาหกรรมหลักเพียงหนึ่งเดียวในตลาดรถยนต์ของโลก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น Toyota อาจเสียเปรียบยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทุ่มเงินมหาศาลกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นได้
โฆษณา