26 พ.ย. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” กับประโยคในตำนาน “ให้พวกเขากินเค้กสิ”
1
ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) กลุ่มคณะปฏิวัติได้กล่าวอ้างว่า “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” ราชินีแห่งฝรั่งเศส ได้เอ่ยประโยคที่จะเป็นตำนาน และติดตัวพระองค์มาจนถึงทุกวันนี้
“ให้พวกเขากินเค้กสิ”
โดยได้มีการกล่าวอ้างว่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ตได้ตรัสประโยคนี้ เมื่อมีผู้ทูลพระองค์ว่าเหล่าชาวนากำลังอดอยาก และในฝรั่งเศสก็ไม่มีขนมปังเหลือให้พวกชาวนาอีกแล้ว
มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)
ในช่วงเวลานั้น เค้กนั้นมีราคาแพงกว่าขนมปัง และคณะปฏิวัติก็ใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างของความน่าสมเพชขององค์ราชินี และแสดงให้เห็นว่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ตเป็นผู้ที่โง่เขลา ไม่ประสีประสาเลยว่าผู้คนในประเทศกำลังอดอยากแค่ไหน ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเค้กนั้นราคาแพงกว่าขนมปัง
ภายหลังจากที่พระองค์ถูกตัดพระเศียร นักประวัติศาสตร์ก็เริ่มจะมองไปถึงเหตุผลอื่นที่พระองค์ถูกประหาร
นั่นก็คือพระองค์ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส พระองค์เป็นเจ้าหญิงจากออสเตรีย ผู้ที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับองค์รัชทายาทแห่งบัลลังก์ฝรั่งเศส ก่อนที่พระองค์จะได้ขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศส
คณะปฏิวัตินั้นเกลียดพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เนื่องจากพระองค์เป็นชาวต่างชาติ และคณะปฏิวัติก็คิดว่าวิถีชีวิตที่หรูหราของพระองค์ เป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสตกต่ำ
แม้แต่ก่อนการปฏิวัติ พระองค์ก็ทรงถูกโจมตีว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
แต่ถึงอย่างนั้น ในเวลาต่อมา นักประวัติศาสตร์บางรายก็คิดว่าอันที่จริง พระองค์นั้นทรงรักประชาชนและพยายามจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
แต่สำหรับประโยค “ให้พวกเขากินเค้กสิ” พระองค์ตรัสจริงหรือไม่? ลองไปหาคำตอบกันครับ
นักประวัติศาสตร์ต่างถกเถียงกันว่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงมีรับสั่งประโยคนี้จริงหรือไม่ และก็มีคำถามอื่นตามมา
“ใครเป็นผู้กล่าวประโยคนี้กันแน่? และไปเกี่ยวข้องกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ตได้อย่างไร?”
จากการศึกษา พบว่าในดินแดนอื่น ก็มีเรื่องเล่าคล้ายๆ กับประโยคนี้ โดยจากตำนานในศตวรรษที่ 16 ของเยอรมนี ก็มีเรื่องเล่าว่าได้มีหญิงสูงศักดิ์ผู้หนึ่ง คิดว่าทำไมคนจนถึงยอมกินขนมปังหวาน ทั้งๆ ที่ไม่ได้น่ากินเลย
ตำนานหรือเรื่องเล่าเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มชนชั้นสูงนั้นมีชีวิตที่ต่างจากคนธรรมดา ไม่ได้เห็นถึงความทุกข์ยากของคนยากจน
ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่กล่าวถึงประโยคคล้ายคลึงกันนี้ คือ “ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau)” นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส
ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau)
รูโซเคยเขียนประโยคคล้ายคลึงกันนี้ในหนังสือของตนในปีค.ศ.1767 (พ.ศ.2310)
ในขณะที่รูโซได้เขียนประโยคที่คล้ายคลึงกันนี้ พระนางมารี อ็องตัวแน็ตยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุเพียงแค่ประมาณ 12 พรรษา อีกทั้งยังไม่ได้อยู่ในฝรั่งเศสในเวลานั้น จึงทำให้คิดได้ว่ากลุ่มคณะปฏิวัติได้เอาประโยคที่รูโซเคยเขียนเมื่อนานมาแล้ว มาโยงเข้ากับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เพื่อโจมตีพระองค์
และจากการสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่บ่งบอกว่าพระนางมารี อ็องตัวแน็ตเคยตรัสประโยคนี้
ก็น่าจะเป็นที่ชัดเจนว่าประโยคอันโด่งดังนี้ พระนางมารี อ็องตัวแน็ตไม่ได้ตรัส หากแต่ประโยคนี้ก็ยังคงประทับอยู่กับพระองค์จนถึงทุกวันนี้
1
โฆษณา