25 พ.ย. 2021 เวลา 11:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Deflation: อาการป่วยเรื้อรังที่นำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ทศวรรษที่สูญหาย
หากถามว่าในปัจจุบัน ใครเป็นคู่หมัดคู่มวยที่สมน้ำสมเนื้อในการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าหนีไม่พ้นประเทศพี่ใหญ่จากฟากฝั่งตะวันออกอย่างจีน
เพราะในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้เติบโตอย่างมาก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี จนสามารถก้าวจากหนึ่งในประเทศที่ยากจน มาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก และพร้อมที่จะก้าวเป็นมหาอำนาจแซงหน้าสหรัฐฯ ในเร็ววัน
แต่เชื่อหรือไม่ ถ้าเราลองมองย้อนกลับสักสี่สิบปีก่อนหน้า ประเทศที่เคยยืนในจุดที่จีนกำลังยืนอยู่ในขณะนี้ก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตอย่างปาฏิหาริย์ จนก้าวจากประเทศที่โดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณูและแพ้สงคราม มาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี
และทำให้มีคนจำนวนมากเคยคาดการณ์เช่นเดียวกัน ว่าจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกแซงสหรัฐฯ ในไม่ช้า
1
แต่ทว่า ความฝันนั้นก็จบไป เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เผชิญกับโรคทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ภาวะเงินฝืด” หรือ “Deflation” จนทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สองทศวรรษที่สูญหายและเข้าสู่สภาวะซบเซาจนถึงทุกวันนี้
แล้วคำถามคือ ภาวะเงินฝืด หรือ Deflation ที่ว่าคืออะไรกันแน่
📌 ภาวะเงินฝืด (Deflation) คืออะไร?
หลายคนที่มีโอกาสได้อ่านบทความของ Bnomics ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงคุ้นกับคำว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” หรือ “Inflation” เป็นอย่างดี ซึ่งหมายความถึงภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยรวมเพิ่มขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การที่อำนาจซื้อของคนลดลงจากการที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
แต่กลับกัน สำหรับภาวะเงินฝืดนั้นหมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยรวมลดลง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่อุปสงค์ภายในประเทศหดตัว ความต้องการซื้อหดตัว หรือการที่ปริมาณเงินในระบบมีน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อความต้องการ
แม้ว่าฟังดูผิวเผินน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เนื่องจากสินค้าถูกลง แต่ความจริงแล้ว กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว การที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลง ก็หมายถึงผู้ผลิตต่างๆ ก็ได้กำไรลดลง ซึ่งก็จะนำไปสู่การใช้จ่ายลงทุนที่น้อยลงอีก
นอกจากนี้ ในฝั่งของคนทั่วไปเอง ก็มีโอกาสได้รับค่าจ้างและรายได้ที่ลดลง หรืออาจโดนปลดจากงาน เนื่องจากภาคธุรกิจมีกำไรลดลง และหากยิ่งใครที่เป็นลูกหนี้ เป็นผู้กู้ยืมเงินอยู่ การที่รายได้ลดลงเช่นนี้ ก็หมายความว่าภาระหนี้ก็ดูจะเพิ่มมากขึ้นเสียด้วย และทำให้มีเงินเหลือเพื่อไปใช้ในการจับจ่ายใช้สอยลดลงเข้าไปอีก ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจหดตัวและอยู่ในภาวะเงินฝืด (Deflationary spiral) ไปอย่างต่อเนื่อง
📌 จากการเติบโตอย่างปาฏิหาริย์สู่สองทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น
และนี่คือ ภาวะที่ญี่ปุ่นเผชิญตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา โดยหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างตัวเองจากประเทศผู้เคยพ่ายแพ้สงคราม ผ่านนโยบายที่ใช่ของภาครัฐ มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตอบโจทย์ มีระบบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็ง และภาคธุรกิจจำนวนที่ตัดสินใจย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในญี่ปุ่น และเป็นโรงงานการผลิตของโลกได้
จนทำให้ญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่กว่าสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี จนพลิกกลับมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสาม รองจากสหรัฐฯ​ และสหภาพโซเวียด จนท้ายที่สุด แซงหน้าสหภาพโซเวียดไปเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้ในที่สุด
และแน่นอน ประวัติศาสตร์ก็มักจะซ้ำรอยเสมอ เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าวนั้นก็ทำให้พี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างมากที่ได้เห็นประเทศอย่างญี่ปุ่นตีตื้นมาเช่นนี้
อีกทั้งยังขาดดุลทางการค้ากับญี่ปุ่นอย่างมากในแต่ละปี ทำให้คนอเมริกันต้องตกงานจำนวนมาก จนทำไปสู่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980
และสุดท้าย ทำให้ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมลงนามด้วยกันในข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) โดยมีวัตถุประสงค์ในการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่สัญญาอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าดังกล่าว และบรรเทาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ผลที่ตามมาก็คือ ว่าข้อตกลงดังกล่าวทำให้สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างมาก จากเดิมอยู่ที่ 250 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักของญี่ปุ่นมาโดยตลอดไม่ทำงานอีกต่อไป และทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะหดตัว
ต่อมา รัฐบาลและธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังมาขยายตัวได้เช่นเดิม ทั้งการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับต่ำ
ผลที่ตามมาก็คือ ว่าเศรษฐกิจก็กลับมาขยายตัวได้เช่นเดิม แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจนั้นกลับมาขยายตัวได้ดีจนเกินไป หรือร้อนแรงจนเกินไป ก่อตัวเป็นฟองสบู่ในภาคตลาดการเงิน ในภาคอสังหาริมทรัพย์
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1989 เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นได้มองเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินไป จึงอยากเข้ามาแตะเบรกก่อนที่จะนำไปสู่วิกฤติ จึงได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แต่ปรากฏว่าการแตะเบรกในครั้งนั้น กลับทำให้ฟองสบู่ที่ก่อตัวขึ้นแตกตัวลง และนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้กินเวลายาวนานอย่างยิ่ง กลายเป็นประเทศที่เติบโตต่ำหรือแทบไม่โตเลย และติดอยู่ภาวะเงินฝืดไปเรื่อยๆ เป็น Deflationary spiral ดั่งอาการป่วยเรื้อรัง จนถูกขนานนามว่าเป็น สองทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น หรือ Japan’s two lost decades
📌 สาเหตุของ Japan’s Lost Decades
สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะเติบโตต่ำและเงินฝืดเป็นดั่งวงจรอุบาทว์เช่นนี้ก็มาจากหลายประการ ทั้งในเชิงนโยบายที่ผิดพลาดและโครงสร้างประเทศเอง
หนึ่งก็คือ นโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลและธนาคารกลางที่ตัดสินใจเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปในช่วงหลังลงนามข้อตกลงพลาซา ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้แย่ขนาดนั้น จนทำให้ฟองสบู่ก่อตัวจนแตกลงในที่สุด
สองคือ นโยบายที่ผิดพลาดในช่วงหลังฟองสบู่แตกที่มีการให้ความช่วยเหลือมากเกินความจำเป็น เข้าไปอุ้มบริษัทและธนาคารต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนทำให้กลายเป็น Zombie firms กล่าวคือ อยู่รอดได้ แต่ไม่ได้มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป เป็นดั่งโซ่ตรวนที่รั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอาไว้
สามก็คือ ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรศาสตร์เองที่ญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมสูงวัย มีคนแก่เพิ่มขึ้นทุกปี และประชากรวัยทำงานน้อยลงทุกปี กำลังหลักในการบริโภคจึงหดหายไปอย่างมาก
อีกทั้งยังทำให้งบประมาณรัฐจำนวนมากที่ต้องถูกจัดสรรมาเพื่อดูแลผู้สูงอายุ แทนที่จะเอาไปช่วยลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ อีกคำอธิบายก็คือ ว่าบรรดาบริษัทและผู้บริโภคในญี่ปุ่นก็ได้ออมเงินไว้เป็นจำนวนมาก เกินความจำเป็น
ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวอยู่เพียงแค่เล็กน้อยหรือแทบไม่โตเลย และก็ยังประสบกับภาวะเงินฝืดเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย
ทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่นได้เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เรียนรู้และพยายามหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ตกไปอยู่ในสภาพเดียวกับญี่ปุ่นให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ที่ในปัจจุบัน กำลังพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งเช่นญี่ปุ่น จนทำให้ความฝันในการก้าวเป็นมหาอำนาจของโลกสลายไปจนได้
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ว่าในช่วงที่ญี่ปุ่นจะพลาดพลั้งก่อนเข้าทศวรรษที่สูญหาย ขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นคิดเป็นราวๆ 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนั้น และในตอนนี้ ขนาดเศรษฐกิจจีนก็คิดเป็นราวๆ 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
ถ้าจีนพลาดท่าเหมือนเช่นญี่ปุ่นในอดีต ก็เป็นไปได้ว่าจีนอาจจะต้องลาจากความฝันในการแซงหน้าสหรัฐฯ และก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกยุคใหม่เช่นเดียวกับญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
#Deflation #ภาวะเงินฝืด #วิกฤตขาดแคลน #LostDecade #วิกฤตขาดแคลนน้ำมัน #เศรษฐกิจญี่ปุ่น
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา