25 พ.ย. 2021 เวลา 18:25 • ประวัติศาสตร์
จักรวรรดิรัสเซียกำเนิดขึ้นได้อย่างไร
จักรวรรดิรัสเซียกำเนิดขึ้นได้อย่างไร
จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งรัสเซียทรงมีพระนามว่า...
“พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ โดยพระหรรษทานแห่งพระเป็นเจ้า พระผู้ทรงเป็นพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดและปกครองรัสเซียทั้งมวล อันมีมอสโคว์ เคียฟ วลาดิเมียร์ นอฟโกรอด พระเจ้าซาร์แห่งคาซาน พระเจ้าซาร์แห่งแอสตราคาน พระเจ้าซาร์แห่งซิบีร์ (ไซบีเรีย) องค์อธิปัตย์แห่งพัสคอฟ เจ้าชายใหญ่แห่งสโมเลนสค์ ตเวียร์ ยูกอร์ส เพิร์ม วัตกา บัลแกเรีย (โบราณ) และองค์อธิปัตย์แห่งดินแดนอื่นๆ เจ้าชายใหญ่แห่งนิจนีย์ นอฟโกรอด เชอร์นิฮิฟ รยาซาน รอสตอฟ ยาโรสลาฟล์ เบโลเซเรส เขตอูดอร์สกี้ คอนด้า (คอนเดีย) องค์อธิปัตย์ในดินแดนตอนเหนือทั้งหมดและพระผู้เป็นใหญ่เหนือราชอาณาจักรไอบีเรีย (โบราณ) ราชอาณาจักรคาร์ตลี (จอร์เจีย) และพระมหากษัตริย์จอร์เจียทั้งปวง (ราชอาณาจักรคาร์ตลี – คาเคติหรือจอร์เจีย) ดินแดนคาบาร์เดีย เซอร์คัสเซียและภูเขา (ภูเขาใหญ่คอร์เคซัส)
เจ้าชายแห่งราชรัฐอื่นๆ ทั้งปวงทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก พระผู้ทรงเป็นองค์อธิปัตย์และเจ้าผู้ปกครอง”
พระองค์ทรงเป็นเจ้าผู้ปกครองพระองค์แรกและทรงยกรัสเซียขึ้นเป็นจักรวรรดิอย่างเป็นทางการ โดยพระองค์ทรงสถาปนาจักรวรรดินี้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. ๑๗๒๑ (พ.ศ. ๒๒๖๔) หรือเมื่อ ๓๐๐ ปีที่แล้ว หลังจากสนธิสัญญานีสตัด โดยเป็นสนธิสัญญาสันติภาพสุดท้ายในสงครามทะเลเหนือกับจักรวรรดิสวีเดน โดยพระองค์ทรงยกสถานะของรัสเซียจากอาณาจักรซาร์ซึ่งเป็นพระอิสริยยศของเจ้าผู้ปกครองของชาวสลาฟและรัสเซียอันได้รับอิทธิพลมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ ขึ้นเป็นจักรวรรดิอย่างชัดเจน แม้จะมีนักวิชาการหลายคนโต้แย้งว่ารัสเซียนั้นมีสถานะเป็นจักรวรรดิมาตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าอีวานที่ ๓ แล้ว โดยข้อมูลที่โต้แย้งนั้นกล่าวว่าอีวานที่ ๓ ทรงสถาปนาจักรวรรดิมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๔๗๘ (พ.ศ. ๒๐๒๐)
หลังจากการพิชิตเวลิกี นอฟโกรอด แต่ก็ยังมีบางมุมมองที่กล่าวว่ารัสเซียแม้จะมีสถานะเป็นอาณาจักรซาร์ในช่วงก่อนที่จะมีการสถาปนาจักรวรรดิรัสเซียก็จริง แต่ต้องเข้าใจว่าคำว่า “ซาร์” (รัสเซีย: царь) ซึ่งเป็นพระอิสริยยศของเจ้าผู้ปกครองในดินแดนบอลข่านและรัสเซียนั้น มาจากคำว่า “ซีซาร์” ซึ่งเป็นเจ้าผู้ปกครองอาณาจักรโรมัน ซาร์นั้นอาจหมายความว่าเป็นทั้งกษัตริย์และเป็นทั้งพระจักรพรรดิก็ได้ ไม่ได้เจาะจงถึงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเป็นพิเศษ สถานะของรัฐที่มีซาร์ปกครองหรือที่เรียกว่าอาณาจักรซาร์ (รัสเซีย: Царство) นั้น อาจมีสถานะเป็นจักรวรรดิซึ่งเป็นรัฐจักรพรรดิหรือราชอาณาจักรอันหมายถึงรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ได้ คำว่าอาณาจักรซาร์นั้นใช้หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าซาร์อีวานที่ ๔ วาซิลเยวิชหรือเรามักจะรู้จักพระองค์ว่าอีวานผู้โหดเหี้ยม
ในปี ค.ศ. ๑๕๔๗ (พ.ศ. ๒๐๙๐) แม้รัสเซียจะสถาปนาเป็นจักรวรรดิในอีกเกือบสองร้อยปีถัดมา แต่ถึงกระนั้นเมื่อรัสเซียยกสถานะของตนเป็นจักรวรรดิแล้ว คำว่าอาณาจักรซาร์ก็ยังเป็นคำที่ใช้ร่วมสมัยอยู่ แม้แต่พระอิสริยยศของจักรพรรดิรัสเซียก็ยังเรียกว่า “พระเจ้าซาร์” กันอยู่ ดังเช่นเอกสารทางไทยที่เรามักเรียกพระจักรพรรดิรัสเซียพระองค์สุดท้ายว่า “พระเจ้าซาร์นิโคลัส” ดังเช่นเอกสารเรียกพระนามของพระประมุขแห่งรัสเซียในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้รัสเซียจะสถาปนาจักรวรรดิและใช้พระอิสริยยศพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิ แต่คำว่า “ซาร์” ก็ยังเป็นคำที่ติดปากและยังเป็นคำที่ใช้เรียกเจ้าผู้ปกครองรัสเซียดังเดิมตามถนัดปาก
พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ ทรงเสวยราชย์เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๘๒ (พ.ศ. ๒๒๒๕) พระองค์ทรงมีบทบาทที่สำคัญต่อรัสเซียเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงรัสเซียซึ่งเป็นรัฐที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนให้มีความเป็นยุโรปมากขึ้น พระองค์ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยาม ในเวลานั้นแม้พระองค์จะทรงปกครองพระราชอาณาเขตอย่างมโหฬาร แทบจะเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น อันเป็นผลมาจากการขยายอำนาจของรัสเซียไปยังดินแดนไซบีเรีย จนมีอาณาเขตจรดมหาสมุทรแปซิฟิกและจักรวรรดิจีน แต่ถึงกระนั้นรัสเซียกลับมีประชากรเพียง ๑๔ ล้านคนซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่แล้วถือว่าประชากรเบาบางมาก ตรงกันข้ามกับหลายรัฐในยุโรปเช่นฝรั่งเศส แม้ฝรั่งเศสจะมีอาณาเขตน้อยกว่ารัสเซียมาก แต่กลับมีประชากรมากถึง ๑๙.๗ ล้านคน
ในช่วงเวลาของพระองค์นั้นชนชั้นหลักๆ ของรัสเซียคือ “โคลอป” (รัสเซีย: холоп) ซึ่งมีสถานะใกล้เคียงกับทาสหรืออาจจะเป็นทาสเลยด้วยซ้ำ ยังคงเป็นชนชั้นทางเศรษฐกิจที่รัสเซียในช่วงพระเจ้าปีเตอร์มหาราชต้องการอยู่ นอกจากนี้ประชากรของรัสเซียนั้นส่วนมากไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่
นอกจากนี้พระองค์ก็ทรงต้องการทำการสงครามกับรัฐออตโตมันอันประเสริฐหรือตุรกี กับขยายพระราชอาณาเขตในดินแดนยุโรป เนื่องจากรัสเซียมีดินแดนในเอเชียมากพอแล้ว ความต้องการของรัสเซียคือต้องการเป็นยุโรป และพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ ได้ทรงหันเหความสนใจไปทางเหนือคือจักรวรรดิสวีเดนด้วย ซึ่งในช่วงนั้นสวีเดนเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจและอาณาเขตมากโดยมีอาณาเขตจรดปกคลุมทั้งทะเลบอลติกเกือบทั้งหมด การที่สวีเดนมีอำนาจคร่อมทั้งทะเลบอลติกจึงทำให้กองทัพเรือของรัสเซียเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ แม้รัสเซียจะมีอาณาเขตติดกับทะเลเป็นจำนวนมาก
แต่ทางทิศเหนือนั้นเต็มไปด้วยความหนาวเย็น ประชากรเบาบางทำให้แทบจะไม่มีเรือไหนแล่นหากไม่จำเป็น ส่วนทางทิศตะวันออกซึ่งติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและจีนนั้น บริเวณดินแดนตรงนั้นก็ไม่ใช่แก่นรัฐอีกทั้งศูนย์กลางความเจริญก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งการเดินทางไปอีกฟากหนึ่งซึ่งหนาวเหน็บและมีประชากรเบาบางใช้เวลาแรมปี จึงไม่มีประโยชน์ที่รัสเซียจะไปเน้นกองทัพเรือบริเวณทิศตะวันออก แต่ในยุโรปนั้นเป็นที่ตั้งของหลายอาณาจักรซึ่งมีความเจริญหรือไม่ก็อาจจะเป็นคู่แข่งของรัสเซีย ดังเช่นตุรกีหรือสวีเดนดังที่กล่าวไป การที่สวีเดนปกครองคร่อมทั้งทะเลบอลติกจึงทำให้รัสเซียพยายามอย่างยิ่งเพื่อทำสงครามกับสวีเดน
เพื่อที่รัสเซียจะได้มีทางออกไปสู่ยุโรปต่อไปทั้งยังเป็นการพัฒนากองทัพเรืออีกด้วย ด้วยเหตุนี้ท่าเรือเก่าของรัสเซียซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญๆ ที่มักจะถูกปิดเป็นเวลานานถึง ๙ เดือน ทำให้เกิดปัญหาอยู่มากต้องจบลง เนื่องด้วยความทะเยอทะยานของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชในการทำสงครามกับสวีเดนในมหาสงครามเหนือ โดยทรงเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิโปแลนด์หรือประเทศโปแลนด์ – ลิทัวเนีย กับจักรวรรดิเดนมาร์กซึ่งในเวลานั้นมีอำนาจเหนือนอร์เวย์ด้วย จนในที่สุดสวีเดนต้องยอมพ่ายแพ้ทั้งยังสูญเสียดินแดนของตนบางส่วนให้รัสเซีย คือบริเวณ ๔ จังหวัดในอ่าวฟินแลนด์ ซึ่งช่วยให้รัสเซียเข้าถึงทะเลได้ และเป็นเหตุให้สวีเดนเสื่อมจากอำนาจจากการที่เป็นชาติมหาอำนาจลำดับต้นๆ และกลายเป็นมหาอำนาจระดับรองของยุโรปในที่สุด ทั้งยังทำให้จักรวรรดิรัสเซียเข้ามาผงาดแทนที่
เมื่อพระองค์ทรงได้ดินแดนจากสวีเดนแล้ว พระองค์จึงสร้างมหานครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยเป็นดินแดนเดิมที่ได้จากสวีเดน และสถาปนาให้เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของจักรวรรดิรัสเซีย แทนที่มอสโคว์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของรัสเซียมาช้านาน ทั้งนี้จากการวิเคราะห์โดยนักวิชาการหลายคนมองว่าการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ในการที่จะแสดงให้เห็นว่ารัสเซียนั้นเป็นยุโรป มิใช่เอเชียดังที่ยุคก่อนคิด สถาปัตยกรรมสำหรับเมืองใหม่นั้นได้รับอิทธิพลจากศิลปะอิตาลีเป็นหลัก จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๗๒๒ (พ.ศ. ๒๒๖๕)
พระองค์ทรงหันเหความสนพระทัยในดินแดนไปยังทะเลแคสเปียนแทน ซึ่งในเวลานั้นทะเลนี้อยู่ติดกับเปอร์เซียหรือที่เราเรียกกันปัจจุบันว่าอิหร่าน โดยพระองค์ทรงพัฒนาเมืองอัซตราฮันนีหรือแอสตราคานซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกับทะเลแคสเปียนให้กลายเป็นเมืองใหญ่และอู่ต่อเรือ เพื่อให้อำนาจของรัสเซียครอบครองทะเลนี้และกำจัดอิทธิพลของเปอร์เซียออก ทั้งนี้ในเวลาต่อมาไม่นานเกิดความวุ่นวายในเปอร์เซีย ทำให้เปอร์เซียต้องอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โฮตักซึ่งเป็นราชวงศ์ของอัฟกานิสถานในเวลาต่อมา และรัสเซียเองก็ได้ทำการผนวกดินแดนเปอร์เซียทางตอนบนเป็นการชั่วคราว ในสนธิสัญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ค.ศ. ๑๗๒๓ (พ.ศ. ๒๒๖๖) แต่เมื่อพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ สวรรคตทำให้รัสเซียต้องคืนดินแดนดังกล่าว
นอกจากนี้พระองค์ทรงปฏิรูปรัฐรัสเซียให้เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมบูรณ์แบบ ดินแดนต่างๆ ล้วนจัดการปกครองใหม่ทั้งจังหวัด อำเภอ ทั้งยังทรงปฏิรูปการจัดเก็บภาษีซึ่งถือว่าทำได้ดีและทางรัสเซียสามารถเก็บภาษีได้สูงถึง ๓ เท่าตลอดรัชกาล นอกจากนี้แม้รัสเซียจะเป็นรัฐใหญ่แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงพยายามทำลายอำนาจของขุนนางท้องถิ่นไป ส่วนการศาสนานั้นพระองค์ก็ทรงปฏิรูปคริสตศาสนานิกายออร์โธดอกซ์ซึ่งเป็นศาสนาหลักของรัสเซีย โดยการดึงศาสนาให้มาอยู่ภายใต้รัฐมากขึ้น พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลาสี่สิบกว่าปีจึงทรงสวรรคตในปี ค.ศ. ๑๗๒๕ (พ.ศ. ๒๒๖๘)
ทำให้รัชสมัยต่อมาคือพระนางเจ้าเอกาเจรีนาที่ ๑ ต้องเป็นพระจักรพรรดินีรัสเซียพระองค์ต่อไป โดยพระองค์นั้นทรงครองราชย์อยู่เพียง ๒ ปีก็เสด็จสวรรคต และรัชสมัยถัดมาคือพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ ก็ทรงครองราชย์อยู่เพียง ๒ ปีกว่าก็เสด็จสวรรคต รวม ๒ รัชกาลนั้นกินเวลาเพียง ๕ ปี ทำให้ทรงไม่มีผลงานและพระคุณูปการด้านใดที่โดดเด่นนัก หลังจากนั้นจึงเป็นรัชสมัยของพระจักรพรรดินีแอนนาซึ่งกินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๓๐ – ๑๗๔๐ (พ.ศ. ๒๒๗๓ – ๒๒๘๓) โดยกินระยะเวลา ๑๐ ปี แม้จะไม่ได้นานนักแต่ได้ถือว่าไม่ได้สั้น กลับกันในรัชสมัยของพระองค์กลับถูกมองว่าเป็นยุคมืด ทำให้ในช่วงนี้การปฏิรูปของรัสเซียนั้นเริ่มช้าลง แต่ในขณะเดียวกันความสนใจของรัสเซียก็มุ่งไปยังทะเลดำและคาบสมุทรไครเมียแทน ซึ่งบริเวณคาบสมุทรไครเมียนั้นเป็นที่ตั้งของรัฐข่านไครเมียอันเป็นประเทศราชของจักรวรรดิออตโตมัน
ความสนใจของรัสเซียต่อภูมิภาคนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐประเทศราชของจักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีเสื่อมอำนาจลง ทั้งยังสร้างความบาดหมางระหว่างตุรกีและรัสเซียเป็นเวลาหลายร้อยปี
หลังจากนั้นรัสเซียถูกปกครองโดยพระนางเยลิซาเวียยตตาหรือพระนางเอลิซาเบธ พระองค์ทรงสนับสนุนงานศิลปะและสิ่งต่างๆ มากมาย เช่นการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในมอสโคว์ แต่พระองค์กลับปล่อยผ่านการปฏิรูปบ้านเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ
รายการอ้างอิง
(๑) Williams, Beryl (1 December 1994). "The concept of the first Duma: Russia 1905–1906". Parliaments, Estates and Representation. 14 (2): 149–158. doi:10.1080/02606755.1994.9525857
(๒)Geoffrey Swain (2014). Trotsky and the Russian Revolution. Routledge. p. 15. ISBN 9781317812784. Archived from the original on 19 September 2015. Retrieved 20 June 2015. The first government to be formed after the February Revolution of 1917 had, with one exception, been composed of liberals.
(๓) Brian Catchpole, A Map History of Russia (1974) pp 8–31; Martin Gilbert, Atlas of Russian history (1993) pp 33–74.
***บทความของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔
โฆษณา