27 พ.ย. 2021 เวลา 10:17 • ประวัติศาสตร์
"รวมเรื่องแปลกจากพงศาวดารพม่า ภาค 2.2" เรื่องเล่าจากคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read
ในตอนที่แล้ว มีเรื่องแปลก ๆ แต่น่าสนใจจากการสวรรคตสุดเฮี้ยนของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ และเรื่องโค้ดลับเลข 1 เลข 2 ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับ พระเจ้าบุเรงนอง
คราวนี้มาดูเรื่องแปลกจากพงศาวดารพม่ากันต่อเลยครับ
รอดตายจากไฟเผาเพราะ “คุณพระช่วย” การกวาดต้อนพลเมืองจากเมืองผู้แพ้สงคราม ไปยังเมืองผู้ชนะสงครามนั้น ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดีเสมอไปนะครับเพราะถ้าจำนวนประชากรในเมืองมีเยอะเกินไป มันก็มีปัญหาตามมาภายหลังได้เช่นกัน อย่างในปี จ.ศ. 929 (ประมาณ พ.ศ. 2110) ช่วงนั้น พระเจ้าบุเรงนอง ทรงรบชนะบ้านโน้นเมืองนี้ไปทั่ว สามารถกวาดต้อนผู้คนกลับหงสาวดีเป็นกอบเป็นกํา แต่ดูเหมือนจะกวาดต้อนไปเยอะจนเกินพอดี เพราะ มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า บันทึกผลกระทบไว้ ดังนี้
“ในขณะนั้นที่กรุงหงษาวดีผู้คนมากเหลือที่จะพรรณาถึงกับเข้าแพงถังหนึ่ง 5 ชั่งเงิน...”
เห็นไหมครับคุณผู้ชม อะไรที่มันมากเกินความพอดี มันก็เกิดปัญหาได้ทั้งนั้น
เมื่อหงสาวดีมีประชากรมากเกิน ดีมานด์สูงขึ้น แต่ซัพพลายมันมีเท่าเดิมคือจํานวนมนุษย์มีเยอะขึ้น แต่ปริมาณอาหารมีเท่าเดิม มันก็ย่อมต้องเกิดการขาดแคลนอาหาร ข้าวยากหมากแพงขึ้นมาเป็นธรรมดา
แล้ว พระเจ้าบุเรงนองทรงแก้ปัญหาอย่างไร รู้ไหมครับ ?พระเจ้าบุเรงนอง ทรงสั่งให้ ภูกามมาง (เจ้าเมืองพุกาม) เป็นแม่ทัพ เกณฑ์ทหาร 20,000 ม้า 1,000 ช้าง 100 ยกไปตีเลียงเซียง (ล้านช้าง) เพื่อขนเสบียงอาหารกลับมาป้อนหงสาวดี !!!
แต่ปรากฏว่า ภูกามมางกระทําการด้วยความประมาท จึงโดนล้านช้างตีแตกยับเยิน แถมปลัดทัพก็ยังโดนล้านช้างจับตัวไว้ได้อีกต่างหากภูกามมาง (เจ้าเมืองพุกาม) หนีกระเซอะกระเซิงกลับมาเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่หงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองก็ได้พระราชทานรางวัลปลอบใจให้อย่างถึงขนาด ด้วยการสั่งจับตัวภูกามมาง กับเหล่าทหารที่รอดกลับมาทั้งหมด แล้วต้อนเข้าเล้า จุดไฟเผาทั้งเป็น !!!เดชะบุญ... มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 3 รูป เป็นพระพม่า 1 พระมอญ 1 พระลาวญวน 1 (น่าจะเป็นพระล้านนา) ได้ช่วยกันเข้าไปดับไฟช่วยชีวิตภูกามมางและเหล่าทหารออกมาได้ ก่อนจะพาตัวไปอยู่ที่วัดพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองเองก็ทรงเงียบ ไม่ได้ตรัสอะไร และก็ไม่ทรงกริ้วด้วยแบบนี้เรียกว่า รอดชีวิตมาได้เพราะ “คุณพระช่วย” ของแท้ !
กองทัพหนูบุกทําลายหงสา มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า บอกว่าในเดือน 6 จ.ศ. 958 (พ.ศ. 2139) สมัยพระเจ้านันทบุเรง เกิดการระบาดของหนูในหงสาวดีอย่างหนัก มีหนูข้ามจากฝั่งตะวันตกมาฝั่งตะวันออกเป็นจํานวนมาก
มางแรชะวาผู้เป็นมหาอุปราชในขณะนั้น (ขึ้นมาแทนมังสามเกียด ที่ขาดคอช้างในศึกยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศ) รับสั่งให้เหล่าทหารออกไปไล่ฆ่าหนู แต่ถึงแม้หนูจะโดนทหารไล่ฆ่าตายไปมากแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถกําจัดหนูให้หมดไปจากหงสาวดีได้สักที บรรดาหนูได้กัดกินข้าวในยุ้งฉางของประชาชนจนป่นปี้ ปริมาณข้าวในสต็อกของหงสาวดีลดฮวบลงจนถึงจุดวิกฤติ
มหาราชวงษ์บอกว่า ในปีนั้นราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ถึงขนาดถังละ 100 บาท ก็ยังไม่มีที่จะให้ซื้อ
และเหตุการณ์เดียวกันนี้ ในหนังสือ พระราชพงศาวดารพม่า พระนิพนธ์ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีเล่าไว้เหมือนกัน แต่ระบุเลขศักราช ไว้เป็น พ.ศ. 2138 ส่วนเนื้อหาก็จะคล้าย ๆ กับมหาราชวงษ์ เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปบ้างนิดหน่อย โดย พระราชพงศาวดารพม่า บอกว่า หลังจบศึกยุทธหัตถีเมื่อปี พ.ศ. 2135 แล้วพอถึงปี พ.ศ. 2137 พระเจ้านันทบุเรงได้ทรงแต่งตั้ง มินทร์ญีกะยอฉะวา พระราชโอรส ให้ขึ้นเป็น ยุวราชา หรือ พระมหาอุปราช แทนมังสามเกียดที่ขาดคอช้างไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2138 ในหงสาวดีเกิดมีหนูชุกชุมอย่างพิลึก หนูบุกมาจากทางทิศตะวันตก ทําให้ มินทร์ญีกะยอฉะวา ต้องคุมไพร่พลออกไล่ฆ่าหนูทั่วหงสาวดี แต่ไม่ว่าจะฆ่าไปมากมายแค่ไหน ปริมาณหนูก็ยังไม่หมดสิ้นไปสักที หนูได้เข้ารุมกินข้าวในยุ้งฉางชาวบ้าน และเข้ากัดกินต้นข้าวในท้องนาเสียหายเป็นจํานวนมาก หงสาวดีก็เลยเกิดข้าวปลาอาหารฝืดเคืองอย่างหนัก ราคาข้าวพุ่งขึ้นไปถึง สัดละ 100 ลาดดีบุก (ผมเองก็ไม่มีความรู้เหมือนกันว่า ข้าวราคาสัดละ 100 ลาดดีบุก ในพระราชพงศาวดารพม่า มันจะแพงขนาดไหน แต่ถ้าเป็นถังละ 100 บาท อย่างที่ในมหาราชวงษ์ว่าไว้ อันนี้ก็พอจะนึกออกว่า มันคงแพงมหาศาลสํารับยุคนั้นเลยทีเดียว)
ถึงตรงนี้ ผมมีความรู้แถมให้อีกหน่อยครับ...
คือเราจะเห็นได้ว่า เนื้อหาใน มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า กับ พระราชพงศาวดารพม่า พระนิพนธ์ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เนื้อหาโดยภาพรวมจะค่อนข้างสอดคล้องกัน นั่นก็เป็นเพราะว่า หนังสือ มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า นี้ หม่องต่อ (ชาวพม่าที่อ่านและเขียนไทยได้ดี ในสมัยรัชกาลที่ 5) ได้นําพงศาวดารฉบับหอแก้ว ของพม่า (Hmannan Mahayazawindawgi) มาเลือกแปลเป็นไทย โดยตัดตอนมาเฉพาะช่วงที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรสยาม
ส่วนหนังสือ พระราชพงศาวดารพม่า ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงใช้เอกสารอ้างอิงหลายเล่มทั้งของไทยและของพม่า โดยหนึ่งในเอกสารที่ทรงใช้อ้างอิงนั้นก็มี พงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า (Hmannan Mahayazawindawgi) รวมอยู่ด้วย นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เนื้อหาโดยภาพรวมของหนังสือ 2 เล่มนี้ จะพูดไปในทางเดียวกัน
ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่า สํานวนของหนังสือ พระราชพงศาวดารพม่า พระนิพนธ์ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นสํานวนแบบเล่าเรื่อง เหมือนเขียนจดหมายเล่าให้ผู้อ่านฟัง ก็เลยอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่ามหาราชวงษ์ ที่เป็นสํานวนแปลสมัยเก่า แต่ในอีกทางหนึ่ง มหาราชวงษ์ก็จะให้รายละเอียดต่างๆ ได้ดีกว่า เป็นรูปธรรมกว่าแต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดี หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ก็เป็นหนังสือสําคัญที่ควรค่าแก่การใช้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
โรคพิษสุนัขบ้า ระบาดหนักในหงสาวดี มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า เล่าไว้ว่า...
จ.ศ. 956 (ประมาณ พ.ศ. 2137) มางแรชะวา พระมหาอุปราชาในตอนนั้น ได้ก่อเรื่องวุ่นวายในบ้านเมืองจนชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว คือรับสั่งห้ามราษฎรทําไร่ทํานา และให้เกณฑ์ชาวมอญมาทําไร่ทํานาให้ตัวเอง แล้วก็ออกประกาศบังคับให้ทุกคน ไม่ว่าจะอดอยากขนาดไหน ก็ต้องมาซื้อข้าวจากพระองค์ ซ้ำยังห้ามไปซื้อจากพ่อค้าเจ้าอื่นด้วย
ตอนนั้นชาวเมืองก็อดอยากล้มตายกันมาก แล้วในปีเดียวกันนั้นก็ได้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในหงสาวดีอย่างหนัก จนมางแรชะวา ต้องสั่งทหารไล่ฆ่าหมาบ้าตายจนหมดเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนจะดีกว่าเมื่อครั้งโดนหนูบุกเมืองหน่อย ตรงที่อย่างน้อยก็สามารถกําจัดหมาบ้าได้จดหมดในเวลาไม่นานส่วนเรื่องที่มางแรชะวาไปสั่งห้ามชาวบ้านทําไร่ทํานา จนเกิดเรื่องวุ่นวายไปทั้งหงสาวดีนั้น พระเจ้านันทบุเรง ทรงทราบเรื่องเข้าก็ทรงพิโรธมางแรชะวา เป็นอันมาก รับสั่งให้ราษฎรที่มางแรชะวากวาดต้อนลงมาจาก 2 ฟากแม่น้ําอิระวดี ให้กลับบ้านเมืองเดิมของตนได้ ส่วนผู้คนที่ยังอดอยากและตกค้างอยู่ในหงสาวดี ก็ให้ทํามาหากินกันตามปกติต่อไปความจริงแล้ว เรื่องราวแปลกๆ ที่น่าสนใจในพงศาวดารพม่า ยังมีอีกมากทีเดียว เอาไว้ถ้ามีโอกาส ผมก็จะหยิบมาเขียนเล่าอีกครั้งนะครับ
::: อ้างอิง :::
มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า / นายต่อ แปล. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2562.การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ / ตรงใจ หุตางกูร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2561.พระราชพงศาวดารพม่า / กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2550
เรื่อง  : หอย อภิศักดิ์
โฆษณา