26 พ.ย. 2021 เวลา 14:41 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
■ มองญี่ปุ่นผ่านละครโทรทัศน์ชิ้นเอก "โอชิน" (ตอนที่ 1)
ผู้รับบท"โอชิน"ในแต่ละช่วงวัย
สำหรับผู้อ่านที่มีความรักและสนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงผู้ที่เป็นคอละครซีรีย์เอเชียนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าท่านคงเคยรับชม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเคยได้ยินได้เห็นชื่อเรื่องผ่านหูผ่านตามาบ้าง กับละครโทรทัศน์ยอดฮิตเรื่องนี้ "โอชิน"
ซึ่งใช้ชื่อเรื่องในไทยว่า "สงครามชีวิตโอชิน" ออกอากาศในญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่ 4 เมษายน ค.ศ.1983 จนถึง 31 มีนาคม ค.ศ.1984 รวมทั้งสิ้น 297ตอน มีบันทึกสถิติยอดเรตติ้งของละครเรื่องนี้สูงสุดอยู่ที่62.9% (โดยยอดเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 52.6%)
เอาล่ะ ถึงตอนนี้ก็ขอทำความเข้าใจกันก่อนสำหรับผู้ที่เคยได้รับชมละครเรื่องนี้แล้ว รวมถึงผู้ที่ยังไม่มีโอกาสได้รับชม นั่นก็คือละครเรื่องโอชินเป็น "เรื่องที่แต่งขึ้น" โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก "เค้าโครงเรื่องจริง" ของผู้บริหารกิจการเครือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาหลายแห่งทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
การที่อยากเขียนถึงละครเรื่องนี้เพราะว่าโอชินนอกจากจะเป็นละครญี่ปุ่นเรื่องยาวเรื่องแรกที่ผู้เขียนมีโอกาสได้รับชมและประทับใจกับตัวละครหลักในเรื่องแล้ว ยังเป็นปีที่แฟนละครโอชินได้สูญเสียผู้เขียนบทละครเรื่องนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ นั่นคือคุณฮาชิดะ สุงาโกะ (เสียชีวิต 6 เมษายน พ.ศ.2564 อายุ95ปี)
ฮาชิดะ สุงาโกะ
ผู้เขียนจึงอยากที่จะแสดงความอาลัยย้อนหลังแด่คุณฮาชิดะ สุงาโกะอีกครั้ง ด้วยการพาผู้อ่านไปรู้จักมิติของประเทศญี่ปุ่นผ่านผลงานของท่าน
โอชินเป็นเรื่องราวของเด็กสาวผู้เกิดมาในครอบครัวชาวนายากจน(เช่าที่นาคนอื่นเพื่อทำนา) และมีชีวิตเติบโตอย่างแข็งแกร่งผ่านยุคสมัยต่างๆของญี่ปุ่น ทั้งยุคเมจิ ยุคไทโช และยุคโชวะ
ของกินที่โอชินและคนที่บ้านพอจะหาทานได้สำหรับทุกคนในครอบครัวก็คือข้าวหุงกับหัวไชเท้า(ละครเรื่องนี้ทำให้คนญี่ปุ่นเรียกเมนูนี้ว่า "ข้าวโอชิน") เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณให้อิ่มท้อง โอชินไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่น จุดสูงสุดของความยากจนทำให้โอชินต้องออกจากบ้าน(เป็นการลดจำนวนคนในบ้านเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายนั่นเอง) เพื่อมาทำงานรับจ้างเลี้ยงเด็กที่ร้านค้าส่งไม้ในขณะที่ตัวเองเพิ่งอายุได้แค่7ขวบ โดยได้ค่าจ้างเป็นข้าวสารหนึ่งมัดใหญ่เพื่อส่งให้ทางบ้าน ตอนทำงานเป็นลูกมือช่วยเขาโอชินไม่มีโอกาสได้เจอกับแม่ การโต้ตอบทางจดหมายก็ทำไม่ได้อีก เพราะพ่อแม่อ่านเขียนไม่เป็น ส่วนการคุยผ่านโทรศัพท์นั้นคงไม่ต้องพูดถึง
เด็กอายุเพียงแค่7ขวบก็ต้องถูกโยนลงมาสู่โลกของผู้ใหญ่ ที่ที่เธอรับจ้างทำงานนั้นมีความเข้มงวดมากโดยไม่มีการลดโทษแม้แต่กับเด็ก7ขวบ เรื่องราวที่โอชินได้ดำเนินชีวิตโดยพบเจอทั้งอุปสรรคและความทุกข์ใจนานานั้น สำหรับคนที่ได้ดูละครแล้วมันช่างบีบหัวใจ ซึ่งเพียงการอ่านจากบทความนี้คงไม่เข้าใจความรู้สึกนั้น แต่จะรู้สึกอินมากขึ้นเมื่อดูภาพจากทีวี
มีคำพูดของโอชินที่พูดไว้ในละครตอนหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการประสบกับความทุกข์ยากของตัวเธอและครอบครัว
" ยกโทษให้หนูด้วย บ้านเราเป็นชาวนาที่ยากจน ต่อให้ทำงานหนักขนาดไหนก็ยังได้กินแต่ข้าวหุงหัวไชเท้า แม้สักนิดนึงหนูก็อยากทำให้พ่อและแม่สุขสบายขึ้น ถ้าหากหนูกลับไปทำงานก็จะได้ข้าวสารหนึ่งมัดใหญ่ หนูต้องกลับไป ยังไงก็อย่าห้ามหนูเลย "
บทพูดที่ยาวและสื่ออารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ที่ออกจากปากของเด็กอายุ7ขวบราวกับจะพุ่งกระแทกไปหายังผู้ใหญ่
สิ่งนี้ช่างโดนใจผู้ชม และเมื่อได้เห็นดวงตาสีดำของโคบายาชิ อายาโกะ ผู้รับบทโอชินในวัยเยาว์เปล่งประกายระยิบระยับด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนดูเกิดความประทับใจกระตุกอารมณ์ขึ้นไปอีก
โคบายาชิ อายาโกะ กับบทโอชินในวัยเยาว์
ปัจจุบันในญี่ปุ่น คิดว่าคนที่มีชีวิตวัยเด็กอย่างเช่นโอชินคงจะไม่มีแล้ว
เพราะทุกวันนี้ ญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาปรับปรุงประเทศและประชากรต่างก็สัมผัสได้ถึงความอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้ไม่ขัดสน
ตามปกติแล้ว มีคนจำนวนมากที่กล่าวว่า "ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์แต่พวกเขากลับไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ" ความจริงแล้วเหตุผลที่พวกเขาไม่รู้สึกถึงความอุดมสมบูรณ์ได้นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ นั่นเพราะในสังคมญี่ปุ่นโดยรวม ทุกคนถูกทำให้รู้สึกถึงความอุดมสมบูรณ์ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวเหมือนกันหมด
1
หลังสงครามเรื่องทั้งหมดนี้ได้ถูกวางแนวทางไว้สำหรับการเริ่มปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เหตุนี้เองที่ส่งผลให้ประชากรญี่ปุ่นมีการทำงานกันอย่างแข็งขันและต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มด้วยความพร้อมเพรียง เมื่อมองภาพโดยรวมจึงทำให้เห็นว่าทุกๆคนนั้นก็อยู่ดีกินดีและต่างก็มีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์เป็นหนึ่งเดียวกัน และได้กลายมาเป็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยแบบเมื่อก่อน ลดน้อยลงไปมาก
ดูไปแล้วมันก็ควรเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ตรงนี้อาจเกิดปัญหาใหญ่ เพราะการจะกล่าวว่าตนเองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์หรือไม่นั้น มันไม่ได้ดูกันที่เงินเก็บสะสมหรือรายได้พื้นฐาน แต่จะดูโดยการเปรียบเทียบกับอดีต หรือนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
กล่าวคือ จะรู้ได้ถึงความอยู่ดีมีสุขนั้นก็ด้วยการเปรียบเทียบกับเรื่องอะไรสักอย่างอยู่เสมอเป็นประจำ อย่างเช่น "ตอนนี้รู้สึกว่ากำลังมีชีวิตที่ดี หากเทียบกันกับเมื่อก่อนที่มีฐานะยากจน" หรือ "ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว ก็รู้สึกว่าตนเองกำลังมีชีวิตที่ดีมีความสุขตามประสา" อะไรแบบนี้เป็นต้น
เมื่อมองจากประวัติศาสตร์ในอดีตและมองจากประเทศอื่น แม้ว่าคนญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้กำลังใช้ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์อย่างฟุ่มเฟือยเหลือใช้(จนอาจมากเกินไป) อยู่แท้ๆ
แต่ก็กลับมีคนที่ไม่สามารถจะรู้สึกถึงการใช้ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ของตนได้ ทั้งนี้เหตุผลก็เพื่อเป็นการไม่ให้ผู้คนที่มีชีวิตยากลำบากอัตคัดมาอยู่ใกล้ตัวและมาเปรียบเทียบได้นั่นเอง
ในญี่ปุ่นจึงมีการย้ำเสมอ ว่าเมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตทำไมมันแย่มันลำบากขนาดนี้ ในตอนนั้นก็ให้ลองเปรียบเทียบกับอดีตดู ว่าการใช้ชีวิตของตนเองในปัจจุบันนี้มันเยี่ยมวิเศษกว่ากันอย่างไร
ขณะที่คนญี่ปุ่นบางคนถือว่าตัวละครโอชินได้สอนให้เห็นถึงเรื่องที่ดูปกติธรรมดาแต่บ่งบอกได้ถึงความอยู่ดีมีสุขอุดมสมบูรณ์ที่แท้จริงแล้วแก่คนญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันที่กำลังมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่บ้านหลังนึงมีรถถึง2คัน มีโทรศัพท์มีแฟกซ์ โน๊ตบุ๊ค ทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เป็นต้น
และกับคนญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่อาจจะถูกสื่อสารมวลชนทำให้เกิดความสับสนให้คิดไปเองว่า"พวกเราไม่ได้กำลังใช้ชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์กันอยู่" จะได้ตาสว่างว่านั่นเป็นความคิดที่ผิด จากการที่ดูเรื่อง"โอชิน"
ละครเรื่องนี้ได้ใช้ความจริงที่ว่านี้กระตุ้นเตือนคนญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้สึกถึงการมีชีวิตที่อุดมสมบูณ์แล้ว ทั้งๆที่ตอนนี้ดีกว่าแต่ก่อนมาก
และในขณะเดียวกัน การแสดงความขอบคุณต่อบรรพบุรุษที่สร้างสังคมมาได้จนถึงปัจจุบันอย่างที่เป็นอยู่นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ
เพราะคนที่คิดและเชื่อว่าตนเองจะมีชีวิตที่ดี คนที่รู้สึกดีที่ได้เกิดมาในญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน คนเหล่านี้กำลังยึดพื้นที่ส่วนมากไว้นั่นเอง
เพราะอุตส่าห์ได้มามีชีวิตในโลกที่ดี(ญี่ปุ่น)ขนาดนี้ พวกเราจะไม่คิดอยากมีชีวิตที่ได้เห็นได้รับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์มากกว่านี้กันหรือ?
โฆษณา