27 พ.ย. 2021 เวลา 06:34 • ท่องเที่ยว
ยลความวิจิตร ของราชรถ ในงานพิธี ที่ โรงราชรถ พิพิธภัณฑ์ พระนคร
“ราชรถ” .. หมายถึง รถหลวง หรือรถของพระราชาในที่นี้หมายถึง รถลากมีรูปลักษณะคล้ายเกวียน หรือพัฒนารูปแบบจากเกวียนมีการตกแต่งให้วิจิตรงดงาม และอาจมีขนาดสูงใหญ่มากขึ้น มีทั้งที่มีเครื่องหลังคาและไม่มีเครื่องหลังคา
ราชรถแบบไม่มีเครื่องหลังคา เรียก ราชรถโถง คือราชรถโล่งนั่นเอง เช่น ราชรถในภาพลายรดน้ำผนังตู้ ในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์เป็นลักษณะงานช่างสมัยรัชกาลที่ 1
ราชรถแบบมีเครื่องหลังคา เรียก ราชรถวอบ้าง ราชรถวิมานบ้าง หรือราชรถยอด หากหลังคามีเครื่องยอด เช่น ราชรถบุษบก เป็นต้น
ราชรถทั้งสองประเภทนี้ มีการขับเคลื่อนสองวิธี คือ หากเป็นราชรถขนาดใหญ่ มีลวดลายวิจิตร มีซุ้มเครื่องยอดสูงใหญ่ มีน้ำหนักมากมักใช้คนลากทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เรียก พลชัก ฉุด เนื่องจากต้องการให้เคลื่อนที่ไปอย่างนิ่มนวล และสามารถเคลื่อนที่หรือหยุดได้อย่างนิ่มนวลด้วย เพื่อป้องกันการชำรุดของลวดลายและมีความสง่างามในลีลาที่เคลื่อนไป
 
อีกวิธีหนึ่งใช้สัตว์มีม้าเป็นต้นเป็นกำลังชักลากและมีด้านหน้าด้านเดียว เนื่องจากส่วนมากเป็นราชรถขนาดเล็กถึงมีเครื่องหลังคาหรือซุ้มก็ไม่สูงใหญ่ มีน้ำหนักไม่มาก เมื่อเวลาจะหยุดรถไม่ต้องฉุดด้านหลังจึงมักใช้ม้าลาก ส่วนฐานานุศักดิ์ของราชรถนั้นมีลักษณะคล้ายกับฉัตร คือมีมากมายหลายประเภทแต่ละประเภทก็มีฐานะหรือลำดับชั้นต่างๆกัน จากขนาดของรถบ้าง รูปริ้วขบวนบ้าง ตลอดจนรูปลักษณ์รายละเอียดขององค์ราชรถ
เรื่องฐานานุศักดิ์ของราชรถนี้ ในปัจจุบันไม่ปรากฏหรือระบุฐานะชั้นยศของราชรถไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือกฎเกณฑ์ใดๆ อย่างตายตัว คงใช้ตามประเพณีที่เคยเห็น เคยใช้ต่อๆ กันมาเป็นสำคัญ
ลักษณะของราชรถที่ใช้ในราชการจริง เช่น ใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชทานเพลิงพระศพในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เท่าที่ปรากฏหลับฐานทางวัตถุ
ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปชมความงดงามวิจิตรของราชรถหลวงได้อย่างใกล้ชิด ด้วยมีการเปิด “โรงราชรถ” ให้ชมที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร .. นอกจากราชรถแล้ว ยังมี ราชยาน และคานหาม ที่ใช้จริงในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ รวมถึง พระโกศจันทน์ และพระจิตกาธาน อีกด้วย
อาคารโรงราชรถเป็นอาคารหลังสีขาว หากมองภายนอกก็จะเห็นว่าทำเป็นประตูสูงจรดหลังคา เพื่อให้สามารถนำราชรถออกมาจากอาคารได้โดยสะดวก แต่ทางด้านหน้าโรงราชรถจะไม่ได้สร้างถนนไว้ ในยามปกติก็จะเป็นสนามหญ้าธรรมดา ส่วนกำแพงด้านหน้าโรงราชรถก็ไม่ได้ทำประตูทางออกไว้ เป็นเพียงรั้วกำแพงธรรมดา เพราะมีความเชื่อว่าราชรถไม่ควรพร้อมใช้งาน เนื่องจากงานที่ต้องใช้ราชรถอัญเชิญจะเป็นงานอวมงคล การที่ไม่มีถนนและประตูให้ราชรถออกไปได้ ก็เป็นเคล็ดที่เปรียบว่าจะไม่มีพระราชวงศ์องค์ใดสิ้นอีก (ยามที่ต้องใช้ราชรถในพิธีหรือพระราชพิธี จึงค่อยทำถนนและทุบกำแพงเพื่อให้สามารถนำราชรถออกไปได้ โดยเมื่อเสร็จงานแล้วก็จะก่ออิฐปิดให้เป็นกำแพง และรื้อถนนออก)
โรงราชรถในยามปกตินั้น ก็จะจัดแสดงราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพ อาทิ อาทิ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย ฯลฯ และนอกจากนี้ก็ยังมีพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพ
พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2338 มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ความยาวรวมงอนรถ 18.00 เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.70 ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก 216 นาย
เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2339
หลังจากนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2342 ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้ง และนับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อ ๆ มา
พระมหาพิชัยราชรถ ใช้ทรงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเป็นพระองค์แรก และทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระองค์ล่าสุดในปี 2560 จนถึงปัจจุบันได้มีการเชิญพระมหาพิชัยราชรถในงานพระบรมศพและพระศพต่าง ๆ แล้วจำนวน 24 ครั้ง (ไม่นับครั้งที่เชิญพระเวชยันตราชรถใช้งานแต่ให้ออกนามว่าพระมหาพิชัยราชรถในหมายกำหนดการ) นอกจากนี้ พระมหาพิชัยราชรถยังเคยใช้เชิญพระโกศประกอบพระอิสริยยศของพระราชวงศ์ที่พระศพไม่ได้ประทับในพระโกศอีกด้วย
ภายหลังการเชิญออกประดิษฐานพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็มิได้เชิญออก แม้จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการเพิ่มล้ออีก 1 ล้อ เพื่อรับน้ำหนัก และซ่อมแซมเพื่อความสวยงาม โดยมีการเชิญพระเวชยันตราชรถออกใช้การแทน แต่ให้ขนานนามราชรถตามหมายกำหนดการว่าพระมหาพิชัยราชรถ จนกระทั่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในปี พ.ศ. 2539 จึงได้มีการบูรณะพระมหาพิชัยราชรถครั้งใหญ่โดยกรมสรรพาวุธทหารบกและเชิญออกใช้การอีกครั้งหนึ่ง
พระมหาพิชัยราชรถ สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตกแต่งด้วยชั้นเกรินประดับกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกรินและรูปเทพพนมโดยรอบ
การบูรณะพระมหาพิชัยราชรถครั้งใหญ่ ได้มีการประดับกระจกพระมหาพิชัยราชรถใหม่ทั้งองค์ ปิดทองในส่วนที่ชำรุด รวมทั้งยังมีการจัดสร้างฉัตร ผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายประจำงอนราชรถ และผ้าวิสูตรใหม่ เพื่อให้ราชรถมีความงดงาม
“พระยานมาศสามลำคาน”... เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน
พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นครั้งแรก
“เวชยันตราชรถ” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 คราวเดียวกันกับพระมหาพิชัยราชรถ มีความกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.20 เมตร หนัก 12.25 ตัน สำหรับใช้เป็นราชรถสำรองในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และเป็นราชรถทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูง
เมื่อแรกเริ่มพระเวชยันตราชรถได้ใช้เป็นรถพระที่นั่งรองในงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในปี พ.ศ. 2339 มีศักดิ์เป็นชั้นที่ 2 รองจากพระมหาพิชัยราชรถ ต่อมาได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่พระโกศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุท้องสนามหลวงคราวเดียวกัน พ.ศ. 2342
หลังจากนั้นจึงได้ใช้ราชรถองค์นี้เป็นราชรถรองในงานออกพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้มีการใช้พระเวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า "พระมหาพิชัยราชรถ" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแก่พระบรมศพตามราชประเพณี
ทั้งนี้ พระเวชยันตราชรถได้อัญเชิญออกใช้ในราชการครั้งล่าสุดเมื่อคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2528
พระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลบเดช บรมนาถบพิตร ..
ประดิษฐานบนพระแท่นจิตกาธาน เบื้อล่างมีท่อนฟืนไม้จันทน์ลงรักปิดทองจำนวน 24 ท่อน ล้อมรอบด้วยเทวดวยืนและนั่งถือตาลิปัตรบังเพลิง พร้อมด้วยยอดพระจิตกาธาน รูปพรหมพักตร์
พระจิตกาธาน (เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นเพื่อเผาศพ และคำว่า จิตกาทาน ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์) งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี .. ทำเป็นรูปทรงบุษบก ฐานเรือนไฟทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่า พื้นทาสีชมพูอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ ชั้นบนสุดเป็นพานพุ่ม
พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 .. มีลักษณะเป็นโกศแปดเหลี่ยม ทำจากไม้จันทน์ทั้งองค์ สามารถถอดออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนองค์ และส่วนยอด
พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระโกศจันทน์ทรงพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากับยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา