3 ธ.ค. 2021 เวลา 12:30 • สัตว์เลี้ยง
ยังจำได้ไหมว่าตอนเด็กๆ เราอยากเป็นอะไร
มารู้จักกับอาชีพของเหล่าน้องหมาทั่วโลกกันว่า เมื่อพวกเขาโตแล้วสามารถเลือกไปเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง รวมไปถึงข้อมูลของแต่ละอาชีพที่อาจจะทำให้เราต้องทึ่งว่าน้องหมาสามารถช่วยเหลือพวกเราได้มากมายถึงขนาดนี้เลยเหรอ
มาชมความอดทนพยายามสู่หนทางแต่ละอาชีพของเหล่าน้องหมาที่กว่าจะก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพได้นั้นบอกเลยว่าไม่ง่ายและต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา แต่พวกเขาก็กัดฟันสู้โดยไม่เคยคิดท้อถอยเลย
พออ่านจบแล้ว บางที...เราอาจจะได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง
ที่ทำให้มุมมองต่องานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เปลี่ยนไป
ภาพประกอบ : ชาพีช
สุนัขล่าเหยื่อ หรือ Hunting Dog
ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มต้นประวัติศาสตร์ สุนัขก็เป็นคู่หูที่คอยอยู่เคียงข้างมาก่อนแล้ว
อาชีพในฐานะสุนัขล่าเหยื่อ หรือ Hunting Dog ถือว่าเป็นอาชีพแรกของสุนัขเลยก็ว่าได้ เพราะในขณะที่มนุษย์เริ่มต้นล่าสัตว์ก็ได้มีการเลี้ยงสุนัขเป็นผู้ช่วยในการล่ามาตั้งแต่ 20,000 ปีก่อนแล้ว แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์ทำการเกษตรและปศุสัตว์เอง เหล่าสุนัขนักล่าก็ได้กลายเป็นสุนัขต้อนฝูงปศุสัตว์แทน
จนกระทั่งการล่าเริ่มกลายมาเป็นงานเชิงกีฬา สุนัขเลยได้กลับมาทำหน้าที่เป็นสุนัขล่าเหยื่ออีกครั้ง โดยทำหน้าที่ดมกลิ่นหาเหยื่อและคอยช่วยต้อนเหยื่อให้กับมนุษย์
ในยุคเริ่มแรกสุนัขล่าเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นสุนัขสายพันธุ์ Pointer, Shepherd, Mastiff, Greyhound และ Wolf Breed จากหลักฐานภาพเขียนภายในถ้ำ จนกระทั่งได้มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้สายพันธุ์ใหม่ออกมามากมาย แต่สุดท้ายแล้วในปัจจุบันสายพันธุ์ที่นิยมให้เป็น Hunting Dog มีอยู่ 5 สายพันธุ์ดังนี้
.
1. Retriever : เป็นสุนัขที่ฝึกง่าย มีสมาธิสูง เชื่อฟังและฉลาด โดยส่วนใหญ่มักจะใช้สุนัขพันธุ์นี้ในการล่านกน้ำ เช่น นกเป็ดน้ำ เพราะ Retriever มีเท้าที่เป็นพังผืดทำให้ช่วยให้สามารถว่ายน้ำได้ดี
2. Pointer : สุนัขกลุ่มนี้มีจุดเด่นคือท่ายืนที่เหมือนชี้ไปยังจุดที่เหยื่ออยู่ ในการล่า Pointer ได้ชื่อว่าเป็นสุนัขที่ทุ่มกำลังสุดตัว มีความจมูกไวในการตามหาเหยื่อ และเมื่อเจอเหยื่อแล้ววจะยืนเอาตัวชี้ไปยังเหยื่อเพื่อบอกให้นักล่ารู้ตำแหน่ง อีกทั้งพวกเขายังได้ชื่อว่าเป็นสุนัขที่ฉลาดและมีความสามารถปรับตัวหลากหลาย เหมาะกับนายพรานที่มีเทคนิคมาก
3. Setter : เป็นสุนัขที่ได้ชื่อเรื่องความอดทนในการล่า โดยเริ่มจากค่อยๆ การดมกลิ่นหาเหยื่อ เมื่อเจอแล้วจะไม่โจมตีทันที แต่จะหมอบเข้าไปใกล้แล้วไล่เหยื่อตามสัญญาณของนายพรานเพื่อให้เหยื่อติดกับ Setter เกิดขึ้นมาจากการผสมสายเลือดที่ดีที่สุดของ Retriever และ Pointer ทำให้สืบทอดคุณสมบัติทั้งความแข็งแรง รวดเร็ว มุ่งมั่น สามารถออกล่าได้เป็นเวลานานๆ
4. Spaniel : เป็นสุนัขล่าเหยื่อที่ตัวเล็กที่สุด ด้วยขนาดตัวกะทัดรัดและขนที่หนา ทำให้สุนัขกลุ่มนี้สามารถลุยพุ่มไม้รกได้ดี Spaniel ถือว่าเป็นสุนัขที่ฉลาด คล่องตัว และเชื่อฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังมีความสามารถที่เรียกว่า Soft Mouth (ปากนุ่ม) แบบเดียวกับ Retriever ทำให้คาบเหยื่อได้โดยไม่ทำให้เหยื่อมีรอยฟันหรือแผล
5. Hound : มักใช้โดยตำรวจและหน่วยหาหลักฐาน มีความสามารถด้านการมองเห็นและการดมกลิ่นที่โดดเด่น ทำให้สุนัขกลุ่มนี้เก่งมากในการตามหาหลักฐานและเหยื่อต่างๆ
อาชีพนักล่าของสุนัขเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นอย่างดีว่า ไม่ว่าเวลาผ่านมานานแค่ไหน พวกเขาก็ยังคอยเคียงข้างพวกเรามาเสมอ แม้เวลาผ่านมาเกือบ 20,000 ปีมาแล้ว
แต่พวกเขาก็ยังคงคอยช่วยเราด้วยความห้าวหาญเช่นเดิมตลอดมา
สุนัขต้อนฝูงปศุสัตว์หรือ Herding dog
หากกล่าวถึงอาชีพของสุนัขแล้ว อาชีพที่เก่าแก่เป็นลำดับที่ 2 ที่สุนัขได้รับหน้าที่มอบหมายมาตั้งแต่สมัยโบราณเลยก็คือการช่วยต้อนและปกป้องฝูงปศุสัตว์ให้กับมนุษย์นั่นเอง
ต้นกำเนิดของเหล่าสุนัขต้อนฝูงปศุสัตว์หรือ Herding dog เริ่มต้นมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน เมื่อมนุษย์อย่างเราเริ่มทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เอง ก็ได้มีการเลี้ยงสุนัขเพื่อปกป้องฝูงแกะและวัวจากเหล่าหมีและหมาป่า จากนั้นเมื่อมีการพัฒนาการเกษตรมากขึ้น มีการล้อมรั้ว ทำให้ภัยจากเหล่าสัตว์ป่านักล่าเริ่มลดลง เหล่าสุนัขก็ได้มาทำหน้าที่คอยต้อนฝูงปศุสัตว์แทน
กล่าวกันว่าสุนัขต้อนฝูงปศุสัตว์พันธุ์แรกของโลกถูกเรียกว่า Peat Dog ซึ่งมีขนาดประมาณสุนัขพันธุ์ Splitz อาศัยอยู่กับกลุ่มคนก่อนยุคประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Pile Dweller
จากนั้นเมื่อประมาณ 2500 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าเร่ร่อน Nomad ได้เข้ารุกรานอังกฤษผ่านทางฝรั่งเศสและประเทศข้างเคียง จึงนำวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ ทั้งเรื่องของปศุสัตว์ เช่น แกะ แพะ รวมไปถึงสุนัขต้อนปศุสัตว์อย่าง Peat Dog เข้ามาด้วย และเมื่อเวลาผ่านไปเหล่า Peat Dog ก็ได้แตกย่อยมาเป็นเหล่าสายพันธุ์สุนัขคุมฝูงปศุสัตว์อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
จริงๆ แล้วความสามารถในการคุมฝูงสัตว์ของสุนัขนั้นถือว่าเป็นศิลปะแห่งการเรียนรู้ที่น่าทึ่ง เพราะคือการผสมผสานกันระหว่างสัญชาตญาณนักล่าและสัญชาตญาณของการคุมฝูงไว้อย่างลงตัว หลายคนอาจคิดว่าสุนัขต้อนฝูงปศุสัตว์ใช้วิธีเหมือนกันทุกพันธุ์ แต่จริงๆ แล้วสุนัขแต่ละสายพันธุ์มีวิธีการคุมฝูงที่ไม่เหมือนกันเลย
อาทิเช่น สุนัขพันธุ์ Australian Cattle Dog และ Welsh Corgi ใช้วิธีงับที่ส้นเท้าของวัวเพื่อบังคับให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ส่วน Border Collie จะใช้วิธีวิ่งไปข้างหน้าและทำสายตาแข็งกร้าว (Strong Eye) เพื่อให้เหล่าปศุสัตว์ไม่กล้าเดินแตกฝูงออกมา หรือบางสายพันธุ์อย่าง Australian Kelpie ก็ใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน
สำหรับในสุนัขพันธุ์ New Zealand Huntaway ใช้วิธีเห่าเสียงดังเพื่อควบคุมฝูงแกะ และสุนัขพันธุ์ Belgium Shepherd, German Shepherd และ Briards จะคุมฝูงโดยคอยอยู่ข้างๆ ของฝูงในระหว่างที่ต้อนฝูงสัตว์ผ่านเขตพืชผลทางเศรษฐกิจไปยังทุ่งหญ้า ทำหน้าที่คล้ายรั้วมีชีวิต ป้องกันไม่ให้ปศุสัตว์มาแทะเล็มพืชผลที่มีค่าไปในระหว่างเดินทาง
แม้ในวันนี้การใช้สุนัขต้อนฝูงปศุสัตว์จะเริ่มลดลงตามเวลา แต่สายพันธุ์สุนัขที่ทำหน้าที่เหล่านี้ก็ยังคงพร้อมยินดีรับใช้เคียงข้างพวกเรา ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในทุ่งหญ้าเหมือนแต่ก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปสำหรับพวกเขาเลย
นั่นคือไม่ว่าอย่างไร...พวกเขาก็คือเพื่อนที่ดีที่สุดของเราเสมอมา
Therapy Dog หรือสุนัขเยียวยาจิตใจ
ในวันที่อ่อนแอ...เรายิ่งต้องการความรักและความเข้าใจ
Therapy Dog หรือสุนัขเยียวยาจิตใจ ถือว่าเป็นสุนัขที่ถูกฝึกเพื่อมอบความรักให้แก่คนที่บาดเจ็บทางด้านจิตใจโดยเฉพาะ พวกเขาพร้อมที่จะมอบความอ่อนโยนอบอุ่นให้กับผู้ป่วยทุกคนอย่างไร้เงื่อนไข
ในประเทศไทยอาจยังไม่มีการใช้ Therapy Dog มากนัก แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้มีการใช้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้าสูง เช่น โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา ศูนย์อพยพ และพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
แนวคิดเรื่องการใช้สุนัขบำบัดจิตใจ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1976 โดยพยาบาลชื่อ Elaine Smith สังเกตเห็นว่าคนไข้มีสภาพจิตใจดีขึ้นหลังจากได้รับการตรวจเยี่ยมจากอนุศาสตราจารย์คนหนึ่งที่มาพร้อมกับสุนัขพันธุ์ Golden Retriever เป็นประจำ จากนั้นเธอก็ได้ค่อยๆ เริ่มทำโปรแกรมฝึกสุนัข Therapy Dog ขึ้นมา และเริ่มมีการใช้สุนัขเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ป่วยในโรงพยาบาล
อาชีพนี้ต่างกับอาชีพของสุนัขอื่นๆ ที่มักต้องใช้สายพันธุ์เฉพาะ แต่ Therapy Dog นั้นสามารถใช้สุนัขพันธุ์ไหน ขนาดตัวเท่าใดก็ได้ ขอเพียงแค่เป็นสุนัขที่มีความอ่อนโยน ไม่ดุร้ายเท่านั้น เพราะกิจกรรมหลักที่เหล่า Therapy Dog ต้องไปปฏิบัติการคือเยี่ยมสถานที่ต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล สถานพักฟื้น บ้านพักคนชรา โดยให้ผู้ป่วยได้ลองอ่านหนังสือให้สุนัขฟัง ได้ลองเล่นกับน้องหมา ได้จับและสัมผัสพวกเขา ซึ่งการสัมผัสและปฏิสัมพันธ์กันนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและจิตใจสงบลงได้
มีรายงานทางวิทยาศาสตร์บอกว่าการได้เล่นหรือสัมผัส Therapy Dog จะทำให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ซึ่งสิ่งนี้เองจะช่วยให้สมองลดการหลั่ง Cortisol ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียด และเพิ่มการหลั่ง Oxytocin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเชื่อใจออกมามากขึ้น นอกจากนี้ในแง่ของจิตวิทยาแล้ว จิตแพทย์หรือแพทย์ที่มาพร้อมกับสุนัขจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและเป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยพร้อมเปิดใจและมีความสัมพันธ์กับแพทย์ดีขึ้นอีกด้วย
ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอไม่ว่าจะถูกมอบให้โดยใครและในแง่มุมใดก็ตาม เหมือนกับเหล่า Therapy Dog ที่พร้อมมอบความรักให้กับทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นอย่าลืมเปิดใจรับความรักจากพวกเขา แล้วบางทีเราอาจจะได้รู้ว่า....
ความรักที่ค้นหามานาน...อยู่ใกล้แค่นี้เอง
Service Dog : สุนัขนำทาง
เพราะไม่มีใครที่เกิดมาสมบูรณ์พร้อม เราจึงต้องช่วยเหลือกัน
หลายครั้งที่คนพิการหรือมีความบกพร่องทางร่างกายมักถูกจำกัดความสามารถเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าสิ่งที่พวกเขาทำได้มีน้อย แต่จริงๆ แล้วแม้จะมีสิ่งที่ขาดหายไป แต่พวกเขาก็มีความสามารถบางด้านที่เหนือกว่าคนธรรมดา ขอเพียงแค่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถออกมาเท่านั้นเอง
เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป จึงได้มีการฝึกฝนเหล่าสุนัขช่วยเหลือคนพิการขึ้นมา บางคนอาจคิดว่าสุนัขช่วยเหลือคนพิการทำหน้าที่แค่ช่วยคนพิการทางสายตา แต่จริงๆ แล้วสุนัขเหล่านี้ถูกฝึกมาเพื่อช่วยคนพิการในด้านต่างๆ มากมาย
โดยหลักๆ แล้ว จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. Guide dog หรือสุนัขช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2. Hearing dog หรือสุนัขช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน และ 3. Service dog หรือสุนัขที่ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางร่างกายและจิตใจแบบต่างๆ
Guide dog : ถือเป็นสุนัขช่วยเหลือคนพิการที่เรามักคุ้นหน้าคุ้นตากันที่สุด พวกเขาทำหน้าที่นำทาง หลบ และหยุดให้กับคนพิการทางสายตา รวมไปถึงหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางและดูสัญญาณไฟจราจรอีกด้วย โดยผู้พิการทางสายตาจะเป็นคุมทิศทาง ส่วนสุนัขจะเป็นคนที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ถ้าเห็นว่าตรงหน้าไม่ปลอดภัยสุนัขจะไม่ยอมรับคำสั่งนั้น โดยปกติ Guide dog ใช้เวลาฝึกพื้นฐาน 1 ปี จากนั้นฝึกพิเศษอีก 4-6 เดือนก็สามารถออกปฏิบัติหน้าที่ได้
1
Hearing dog : เป็นสุนัขที่คอยช่วยเหลือคนที่พิการทางการได้ยิน โดยหน้าที่หลักคือรับฟังเสียงหรือคำสั่งจากภายนอก เช่น เสียงคนเรียก เสียงเคาะประตู เสียงโทรศัพท์ดัง เสียงเด็กร้องไห้ แล้วจะเอาอุ้งเท้าแตะเท้าเจ้าของพร้อมพยักเพยิดจมูกตามตำแหน่งเสียงเพื่อให้เจ้าของรู้ตัว หรือพาไปที่แหล่งต้นกำเนิดเสียงก็ได้
Service Dog : เป็นสุนัขที่ช่วยเหลือคนพิการด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านการมองเห็นและได้ยิน สุนัขประเภทนี้จะถูกฝึกพิเศษให้มีความสามารถเฉพาะตัวหลากหลายรูปแบบ เช่น ในกรณีคนเป็นโรคเบาหวาน ชัก หรือเป็นโรคหัวใจ เมื่อผู้ป่วยแสดงอาการหรือสลบ สุนัขเหล่านี้จะรับรู้และสามารถวิ่งไปคาบยามาให้หรือเรียกคนมาให้ช่วยได้ทันที หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและเคลื่อนไหว ก็มีสุนัขที่สามารถรับคำสั่งไปคาบของหรือเปิดปิดไฟให้ในบ้านได้เช่นกัน
ถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเกิดมาพร้อมกับความไม่สมบูรณ์พร้อม แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ เราจึงต้องช่วยเหลือเพื่อที่จะเติมเต็มซึ่งกันและกัน สุนัขช่วยเหลือคนพิการก็เช่นกัน พวกเขามาเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของคนพิการในบางแง่มุมที่ขาดไป เหมือนกับตัวต่อจิ๊กซอว์ที่เมื่อชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบเข้าด้วยกันแล้ว
ก็กลายเป็นภาพใหญ่ที่สวยงาม
สุนัขดมกลิ่นหรือ Detection Dog
หนึ่งในความสามารถของสุนัขที่โดดเด่นมากคือเรื่องของการดมกลิ่น
ดังนั้นจึงอย่าแปลกใจที่เราได้เห็นสุนัขทำหน้าที่คอยดมกลิ่นตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งอาชีพสุนัขดมกลิ่นหรือ Detection Dog นั้นเป็นอาชีพที่เรียกได้ว่าน้องหมาได้โชว์ศักยภาพด้านการดมกลิ่นออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ
จริงๆ แล้วสุนัขมีจมูกที่ไวมาก เพราะโพรงจมูกสุนัขมีเซลล์รับกลิ่นเยอะกว่าในมนุษย์มาก ทำให้สุนัขดมกลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ถึง 20-40 เท่า นั่นจึงทำให้สุนัขจึงทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจจับกลิ่นได้อย่างดีเยี่ยม สุนัขดมกลิ่นทำหน้าที่หลักๆ คือ คอยดมกลิ่นหาวัตถุระเบิด ยาเสพย์ติด และสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ
โดยออกปฏิบัติการทั้งในเขตชุมชนที่มีคนหนาแน่น เช่น จัตุรัสกลางเมือง หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น รัฐสภา รวมไปถึงในสนามบิน และอีเว้นต์ใหญ่ต่างๆ เช่น ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็มีการใช้สุนัขดมหาระเบิดด้วยเช่นกัน
1
แม้จะฟังดูเป็นงานง่าย แต่จริงๆ แล้วสุนัขดมกลิ่นจำเป็นต้องถูกฝึกอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากสุนัขตำรวจเลย โดยสุนัขดมกลิ่นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 1-3 ปี มีนิสัยเข้มแข็งและไม่ตื่นตระหนกเมื่อเจอเสียงดัง โดยหลักๆ แล้วสุนัขดมกลิ่นยาเสพย์ติดและสุนัขดมกลิ่นระเบิดจะมีวิธีการฝึกที่แตกต่างกันดังนี้
สุนัขดมกลิ่นระเบิดจะถูกฝึกให้รู้จักและจดจำกลิ่นวัตถุระเบิด จากนั้นก็จะให้สำรวจและฝึกว่าหากในกล่องหรือพื้นที่ใดมีระเบิดให้นั่งลง เมื่อทำตามขั้นตอนถูกต้องแล้วก็จะได้รับขนมหรือของเล่นเป็นรางวัล โดยฝึกซ้ำๆ หลายร้อยครั้ง จนกระทั่งสุนัขเกิดความชำนาญ
ส่วนการฝึกสุนัขดมกลิ่นยาเสพย์ติดนั้นใช้วิธีซ่อนยาเสพย์ติดไว้โดยใช้ผ้าเช็ดตัวสีขาวห่อ จากนั้นครูฝึกจะใช้ผ้าเช็ดตัวสีขาวนี้เล่นชักคะเย่อกับสุนัข ซึ่งเป็นสิ่งที่สุนัขชอบมาก แล้วสุนัขก็จะเริ่มจดจำว่ากลิ่นยาเสพย์ติดในผ้าเช็ดตัวคือกลิ่นของเล่นชิ้นโปรด จากนั้นครูฝึกก็จะซ่อนผ้าเช็ดตัวที่มีกลิ่นยาเสพย์ติดให้สุนัขได้ลองหา แล้วสุนัขก็จะเข้าใจว่าการหายาเสพย์ติดคือการตามหาของเล่นชิ้นโปรดของพวกเขานั่นเอง
สายพันธุ์สุนัขที่เหมาะกับการเป็นสุนัขดมกลิ่นคือสุนัขพันธุ์ Labrador Retriever, German Shepherd, Malinois และ Vizsla เพราะนอกจากจมูกดีแล้ว ยังคุ้นชินกับคนโดยธรรมชาติ มีความกระตือรือร้นเรียนรู้ได้ไว และไม่เสียโฟกัสง่ายเหมือนสุนัขพันธุ์อื่น
นอกจากระเบิดและยาเสพย์ติดแล้ว สุนัขดมกลิ่นยังสามารถฝึกเพื่อดมกลิ่นสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมไปถึงอวัยวะสัตว์ป่าหายาก เช่น งาช้าง นอแรด หรือในบางที่ของต่างประเทศก็มีบริษัทบางแห่งใช้สุนัขเพื่อตรวจจับไรฝุ่นหรือตัวเรือดอีกด้วย
เรียกได้ว่าสมกับความสามารถของพวกเขาที่โดดเด่นในทางด้านดมกลิ่นนี้จริงๆ
สุนัขทหารหรือ War Dog
สุนัขทหารถือเป็นฮีโร่แห่งสนามรบที่เราควรยกย่อง
ในสงครามแต่ละปีนอกจากมนุษย์แล้ว ได้มีการใช้สุนัขทหารหรือ War Dog ร่วมรบในพื้นที่ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มีการใช้สุนัขทหารกว่า 3,000 ตัว เพื่อลาดตระเวนป้องกันการก่อการร้าย
มีการใช้สุนัขสงครามเป็นครั้งแรกในตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยประเทศเยอรมันนีใช้สุนัขเพื่อส่งสารหรือเครื่องมือปฐมพยาบาลให้กับทหารในสนามรบ จากนั้นก็เริ่มมีการฝึกมากขึ้นก่อนที่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทางสหรัฐอเมริกาได้มีการใช้สุนัขทหารในสงครามเกาะกวมและสงครามเวียดนามเป็นจำนวนมาก
สายพันธุ์ที่โด่งดังและเป็นดั่งตัวแทนของสุนัขทหารคือสุนัขพันธุ์ German Shepherd นอกจากนี้หลายประเทศก็นิยมฝึกสุนัขพันธุ์ Doberman รวมไปถึง Labrador Retriever และ Belgian Malinois โดยสิ่งสำคัญที่สุดของเหล่าสุนัขทหารคือความเงียบและการเชื่อฟังคำสั่ง เพราะในสนามรบ ความผิดพลาดเล็กๆ เพียงนิดเดียวก็อาจหมายถึงชีวิตได้
ในการฝึกสุนัขทหารนั้นจะเป็นการฝึกแบบจับคู่ระหว่างครูฝึกและสุนัข โดยจะอยู่ด้วยกัน ออกกำลังกายร่วมกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้เกิดสายสัมพันธ์และเชื่อใจกันอย่างแน่นแฟ้น จากนั้นจึงเริ่มฝึกพวกชุดคำสั่งและสัญญาณมือ รวมไปถึงการเผชิญหน้ากับวัตถุระเบิด สุนัขทหารที่ดีต้องสามารถรู้จักควบคุมตัวเอง สุนัขทหารจะเงียบ ไม่จู่โจมนอกคำสั่ง และตัดสินใจเข้าโจมตีได้อย่างเหมาะสม
ในปัจจุบัน สุนัขทหารยังมีโปรแกรมฝึกพิเศษจนสามารถทำได้แม้กระทั่งกระโดดร่มจากเครื่องบินพร้อมคนบังคับ หรือถูกฝึกให้ขนส่งไปพร้อมกับยานสะเทินน้ำสะเทินบกก็ได้
เมื่ออยู่ในสนามรบแล้วสุนัขทหารเกิดบาดเจ็บ ผู้บังคับสุนัขซึ่งได้ถูกฝึกให้มีความรู้ทางสัตวแพทย์ จะเป็นผู้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ถ้าบาดเจ็บหนักก็จะถูกลำเลียงกลับไปยังโรงพยาบาลทหารที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการรักษาต่อไป
ในสหรัฐอเมริกา สุนัขทหารที่บาดเจ็บหนักไม่ว่าทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ จะถูกส่งกลับไปที่ Holland Working Dog Veterinary Hospital ที่ San Antonio รัฐเท็กซัส เพื่อรักษาร่างกาย หรือพบจิตแพทย์สัตว์เพื่อบำบัดอาการป่วยทางจิต สุนัขทหารส่วนใหญ่มักจะหายใน 2-3 สัปดาห์ และกลับไปสู้ต่อในสนามรบได้
หลังจากที่ออกปฏิบัติการประมาณ 4-5 ครั้ง สุนัขทหารเมื่ออายุได้ประมาณ 8-9 ปี จะถูกปลดประจำการ ส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักจะดุเกินกว่าให้คนธรรมดาเลี้ยงได้ เลยมักถูกส่งไปทำงานที่สถานีตำรวจหรือเป็นหนึ่งในหน่วยรักษาความปลอดภัย หรือไม่แล้ว...ท้ายที่สุดผู้บังคับสุนัขหลายคนก็ตัดสินใจเลี้ยงสุนัขทหารเหล่านั้นไว้เองเพราะความผูกพันที่แน่นแฟ้น
นี่อาจเป็นการบอกเราว่า หากพวกเขาได้ใช้ความกล้าหาญปกป้องสันติภาพให้กับเราแล้ว จากนี้ไปก็ถึงเวลาที่พวกเราจะต้องเป็นฝ่ายที่ปกป้องพวกเขาคืนบ้างแล้วเช่นกัน
Police Dog : สุนัขตำรวจ
หากสุนัขทหารคือเหล่าสุนัขที่ออกต่อสู้ในสนามรบเพื่อปกป้องประเทศจากข้าศึกแล้ว
สุนัขที่คอยทำหน้าที่ดูแลความสงบในประเทศก็คือสุนัขตำรวจนั่นเอง เราน่าจะเคยเห็นสุนัขตำรวจกันมาบ้างตามในข่าวต่างๆ หน้าที่หลักๆ ของสุนัขตำรวจคือการลาดตระเวนและคอยดมกลิ่นเพื่อค้นหาสิ่งของหรือบุคคลหลากหลายประเภท มีทั้งช่วยตามหาคน ค้นหาวัตถุระเบิด หรือแม้แต่ค้นหาหลักฐานคดีอาชญากรรมต่างๆ เรียกได้ว่าสุนัขตำรวจเป็นเหมือนกับหน่วยผสมระหว่างสุนัขกู้ภัยและสุนัขดมกลิ่นนั่นเอง
สุนัขที่นำมาเป็นสุนัขตำรวจนั้นส่วนใหญ่เป็นสุนัขตัวผู้และไม่ทำหมัน เพื่อให้มีสัญชาตญาณการต่อสู้และคงความดุดันไว้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ดุจนควบคุมไม่ได้ เพราะความดุจะถูกควบคุมโดยการฝึกอีกทีหนึ่ง โดยสายพันธุ์ที่นิยมนำมาฝึกคือสุนัขพันธุ์ German Shepherd, Labrador Retriever และ Belgian Mallinois
สิ่งสำคัญของการเป็นสุนัขตำรวจเหมือนกับสุนัขทหาร คือ สุนัขตำรวจทุกตัวจะถูกฝึกให้ทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด และยอมให้เจ้าหน้าที่สั่งหยุดหรือควบคุมได้ เพื่อไม่ให้สุนัขลงมือกับผู้ต้องสงสัยรุนแรงเกินไป
มีเรื่องเล่าว่าสุนัขตำรวจที่มาจากยุโรปส่วนใหญ่จะถูกฝึกให้รับคำสั่งเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ทำให้บางคนเชื่อว่าเป็นการฝึกเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขจู่โจมเมื่อได้ยินคนที่ไม่เกี่ยวข้องเผลอพูดคำว่า attack ออกมา แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น เพราะมีการยืนยันว่าที่เป็นเช่นนี้แค่เพราะง่ายต่อการออกคำสั่งของครูฝึกต่างหาก
สุนัขตำรวจจะถูกฝึกทั้งความอึดและความว่องไว รวมไปถึงการออกปฏิบัติการท่ามกลางฝูงคนจำนวนมากได้โดยที่ไม่ตื่นตกใจ สุนัขตำรวจที่ดีจะไม่แสดงอาการตระหนกเมื่อพบเจอคนแปลกหน้า และสุดท้ายเมื่อสุนัขตำรวจฝึกพื้นฐานเรียบร้อย ก็จะถูกฝึกทักษะเฉพาะทาง เช่น การดมหาระเบิด การดมหายาเสพย์ติด หรือการค้นหาคนหาย
ในการทำงานจริง ตำรวจผู้บังคับสุนัขและสุนัขตำรวจจะอยู่ด้วยกัน 24 ชม. ทุกวัน ในสหรัฐอเมริกาจะมีคู่หูตำรวจ-สุนัข แบ่งเวรกันไปเดินลาดตระเวนเป็นประจำทุกวัน รวมไปถึงทำหน้าที่ประจำวันตามคำสั่ง เช่น ดมหายาเสพย์ติดในโรงเรียน หรือบางวันก็อาจต้องขึ้นศาลเพื่อชี้แจงในกรณีที่ผู้ต้องหากล่าวหาว่ามีการใช้สุนัขตำรวจโจมตีรุนแรงเกินกว่าเหตุ
ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการใช้สุนัขตำรวจมากขึ้น โดยสุนัขตำรวจที่ออกปฏิบัติภารกิจในแนวหน้าจะมีการใส่เสื้อเกราะกันกระสุนด้วย และถ้าสุนัขตำรวจตัวไหนเสียชีวิตขณะทำหน้าที่ ทางกรมตำรวจจะบันทึกชื่อของสุนัขตัวนั้นไว้และจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ
เพื่อไม่ให้ลืมว่าครั้งหนึ่งพวกเขาได้สละชีวิตเพื่อความสงบสุขของพวกเราทุกคน
Search and Rescue Dog หรือสุนัขกู้ภัย
คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เราได้พบกันอีกครั้ง
ในเหตุการณ์ที่เกินคาดคิด ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ อุบัติภัยจากการก่อการร้าย หรือการหายตัวไปในดินแดนรกร้าง นี่คือเวลาแห่งการปฏิบัติการของเหล่า Search and Rescue Dog หรือที่รู้จักกันในชื่อสุนัขกู้ภัย
สุนัขกู้ภัยนั้นเป็นสุนัขที่มีความเชี่ยวชาญในการค้นหามนุษย์ จมูกของพวกเขาถูกฝึกมาให้ไวต่อการดมกลิ่นมนุษย์มาก ทำให้สามารถได้กลิ่นแม้ว่าคนๆ นั้นจะถูกฝังอยู่ใต้ซากตึก ใต้ดินถล่ม หรือแม้กระทั่งใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสุนัขกู้ภัยหนึ่งตัวสามารถทำงานได้เทียบเท่าคน 20-30 คนเลยทีเดียว ในปัจจุบันเหล่าสุนัขกู้ภัยถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามหน้าที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักๆ แล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทดังนี้
1. Tracking : เป็นสุนัขกู้ภัยที่เน้นดมเพื่อตามกลิ่นไปหาเป้าหมาย มักใช้ในกรณีที่มีคนหายตัวไปแล้วมีร่องรอยสุดท้ายเหลือทิ้งไว้ ดังนั้นการปฏิบัติการแบบนี้ต้องแข่งกับเวลา เพราะยิ่งทิ้งนานกลิ่นที่เป็นเบาะแสจะยิ่งจางลง
2. Air Scent : เป็นสุนัขกู้ภัยที่เน้นดมกลิ่นเพื่อค้นหามนุษย์ในบริเวณใกล้เคียง เป็นการดมกลิ่นจากในอากาศเพื่อค้นหาเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้เบาะแสจากจุดสุดท้ายที่เห็น ส่วนใหญ่มักใช้ค้นหานักปีนเขาที่หายตัวไปในป่า หรือคนที่ถูกฝังในหิมะ
3. Cadaver : เป็นสุนัขกู้ภัยที่เน้นดมกลิ่นเพื่อค้นหาศพ หรืออวัยวะมนุษย์ สามารถค้นหาได้แม้กระทั่งเศษฟัน หรือหยดเลือดเพียงหยดเดียว
4. Water : เป็นสุนัขกู้ภัยที่ถูกฝึกมาเพื่อช่วยเหลือและค้นหาคนจมน้ำโดยเฉพาะ สุนัขกู้ภัยประเภทนี้สามารถค้นหาคนได้ทั้งแบบจมอยู่ใต้น้ำทั้งตัวหรือลอยอยู่เหนือน้ำ รวมไปถึงสามารถชี้ตำแหน่งได้อีกด้วย
5. Urban Disaster : เป็นสุนัขกู้ภัยที่เสี่ยงมากที่สุด เพราะเน้นช่วยชีวิตคนที่อยู่ใต้ซากตึก เป็นสุนัขที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูง และสามารถประเมินความเสี่ยงพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยได้
6. Wilderness : สุนัขกู้ภัยที่เน้นค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่รกร้างขนาดใหญ่ เช่น ในป่า หรือทุ่งหญ้าที่ห่างไกล
Avalanche : เป็นสุนัขกู้ภัยที่เน้นช่วยเหลือมนุษย์จากภัยธรรมชาติ มีความชำนาญด้านการค้นหามนุษย์ที่ติดอยู่ในภัยดินถล่มหรือมีอะไรกลบทับ เช่น หิมะ
7. Evidence : เป็นสุนัขกู้ภัยที่ถูกฝึกมาเพื่อหาหลักฐานที่มีกลิ่นมนุษย์ติดอยู่ เช่น เสื้อผ้า เพื่อใช้หาร่องรอยคนที่สูญหายหรือคนร้าย
ด้วยการทำงานที่ต้องใช้ทักษะและความสามารถเฉพาะตัวสูง ทำให้ปัจจุบันการฝึกสุนัขกู้ภัยส่วนใหญ่จะใช้สุนัขแค่ 3 สายพันธุ์ คือ German Shepherd, Doberman และ Blood Hound เท่านั้น โดยการฝึกสุนัขกู้ภัยจะเน้นความแข็งแรงและความว่องไว โดยครูฝึกจะฝึกขว้างบอลแล้วให้สุนัขวิ่งคาบกลับมาในภูมิประเทศต่างๆ เช่น หิมะหนา พื้นทราย หรือภูเขา
สุนัขกู้ภัยแต่ละตัวจะใช้ชีวิตอยู่กับครูฝึกตลอดเวลา โดยใช้เวลาฝึกประมาณ 600 ชม. ก็สามารถเริ่มออกปฏิบัติการได้ สิ่งสำคัญคือผู้บังคับสุนัขที่ออกปฏิบัติการร่วมกันต้องสามารถควบคุมสุนัขได้ตลอดเวลาและทุกสถานการณ์ เพราะทุกรายละเอียดอาจหมายถึงชีวิตได้เมื่ออยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ โดยสุนัขกู้ภัยแต่ละตัวจะอยู่คู่กับผู้บังคับตลอดเวลาแม้แต่ในวันหยุดเพื่อให้พร้อมออกทำงานแม้ในเวลาที่ไม่คาดคิด
และเป็นการยืนยันว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาก็จะไม่มีทางหยุดค้นหา....จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย
โฆษณา